วันศุกร์, 13 กันยายน 2567

เรื่องราวของ… กรมหลวงชุมพร “เสด็จเตี่ย” พระประวัติที่ฝากไว้ให้กับคนรุ่นหลัง

เราจะมาพูดถึงพระประวัติของเจ้านายท่านหนึ่งที่ได้รับการยกย่องตลอดพระชนม์ชีพว่าเป็นบุคคลที่เก่งกาจกล้าหาญพระองค์หนึ่ง  และแม้กระทั่งเมื่อครั้งที่พระองค์สิ้นพระชนม์ท่านนั้นก็ยังได้รับความนับถือยกย่องจนกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควรเคารพบูชาไปแล้วนั่นก็คือ  กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  จะเป็นอย่างไรเราไปเรียนรู้พร้อมๆ กันเลยครับ 

พระประวัติส่วนพระองค์

– ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมพ.ศ 2423

– มีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์

– เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 31 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาโหมด  ธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์วรบุนนาค

พระประวัติการศึกษา

– การศึกษาของท่านนั้นในขั้นแรกส่งเข้าเป็นนักเรียนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ  เมื่อมีพระชันษาได้ 13 ปีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เสด็จไปทรงศึกษาต่อ  ณประเทศอังกฤษ  หรือเป็นราชโอรสรุ่นแรกที่เสด็จไปทรงศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ในทวีปยุโรป  ทรงศึกษาวิชาการทหารเรือที่ประเทศอังกฤษ  ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีกองทัพเรือที่เก่งกาจเกรียงไกรที่สุด  ในสมัยนั้นมีคำกล่าวไว้ว่าครั้งนี้น่าจะสืบเนื่องมาจากการที่ไทยเคยถูกกองทัพเรือฝรั่งเศสทำสงครามในวิกฤตการณ์  รศ 112 พระองค์ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ในการที่จะนำความรู้ด้านการทหารเรือสมัยใหม่มาพัฒนากองทัพเรือของไทยให้เกรียงไกรสามารถต่อสู้ป้องกันตนเองให้พ้นจากภัยคุกคามได้  การเข้าศึกษาวิชาการทหารเรือของเจ้าชายไทยในประเทศอังกฤษต้องเผชิญกับอุปสรรคนานาประการ  นับแต่ข้อกำหนดซึ่งห้ามนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษาในโรงเรียนนายเรือของราชนาวีอังกฤษด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง  แต่ก็ไม่ได้ทำให้พระองค์ทรงย่อท้อ 

– เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้เข้ารับการฝึกเป็นนักเรียนทำการในเรือรบอังกฤษ  เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วพระองค์ก็เสด็จกลับประเทศไทยขณะมีพระชนมายุเพียง 20 พรรษา  ทรงมีทั้งกำลังพระทัย  กำลังพระวรกาย  และประการสำคัญทรงมีความตั้งพระทัยแน่วแน่ในการที่จะพัฒนากองทัพเรือไทยให้สามารถเกรียงไกรเทียบเท่าต่างประเทศได้  เพราะขณะนั้นกิจการทหารเรือไทยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของฝรั่งชาติสิ้นสุดว่าจ้างให้มาเป็นผู้วางรากฐานการทหารเรือสมัยใหม่  แต่ทรงพบว่าฝรั่งผู้ปฏิบัติงานขาดความตั้งใจจริงในการพัฒนากองทัพเรือให้เป็นไปตามพระราชประสงค์กองทัพเรือ  จึงยังไม่ได้รับการวางรากฐานอย่างมั่นคง  หลักสูตรการสอนนักเรียนนายเรือต่ำ  เมื่อเรียนจบหลักสูตรก็ยังไม่สามารถที่จะนำเรือออกสู่ทะเลลึกโดยลำพังตนเองได้  ไม่สามารถใช้อาวุธสมัยใหม่ได้  โดยเฉพาะทหารเรือในขณะนั้นเป็นหน่วยทหารที่มีศักดิ์ศรีต่ำกว่าทหารหน่วยอื่นๆ  จึงมักถูกนำไปใช้งานโยธา

พระประวัติบทบาททางด้านกองทัพเรือ

ที่นี้ต่อมาเมื่อท่านทรงมีโอกาสได้เข้าบริหารงานกองทัพเรือจึงทรงปรับปรุงกองทัพเรือขึ้นใหม่ในทุกๆ ด้าน  ตั้งแต่การวางหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่โดยเพิ่มวิชาที่จำเป็นสำหรับทหารเรือยกระดับทหารเรือให้สูงขึ้น  โดยเน้นหนักด้านวิทยาการสมัยใหม่และการฝึกเพื่อการเป็นนายทหารเรือที่เก่งกาจ

แต่ถึงอย่างไรก็ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรคนะครับ  เพราะอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่ทรงพบก็คือการที่ไม่ค่อยมีผู้นิยมสมัครเข้ามาเป็นทหารเรือพระองค์ก็ทรงแก้ปัญหาด้วยการให้เงินเดือนนักเรียนที่สมัครเข้าเรียนและเพิ่มเงินให้ตามชั้นที่สูงขึ้นทำให้เริ่มมีผู้สมัครเรียนเพิ่มขึ้น  แต่นักเรียนส่วนใหญ่มักเป็นคนยากจนและนักเลงที่หวังเงินเดือน  และเมื่อได้เข้ามาเรียนแล้วซึ่งมีวิธีการผูกใจนักเรียนให้ตั้งใจเรียนและภาคภูมิใจในสถาบันที่เรียน  โดยใช้ความจริงพระทัยและจริงใจในการถ่ายทอดวิชาความรู้ความรู้สึกรักและภาคภูมิใจในกองทัพเรือและที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือพระอุปนิสัยซึ่งมีพระเมตตาต่อผู้คนทั่วไป  โดยไม่เลือกชั้นวรรณะกล่าวกันว่าพระองค์นั้นทรงสามารถถูกใจนักเรียนที่มีนิสัยนักเลงได้ด้วยความเป็นนักเลงที่เหนือกว่า   นั้นก็คือพระองค์นั้นทรงมีศักดิ์และความรู้ที่สูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  และพระองค์ยังมีความเก่งกาจในวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวโดยเฉพาะมวยไทย  พระองค์ทรงมีนักมวยในสังกัดและสอนมวยด้วยนอกจากนั้นพระองค์ก็ยังมีคาถาอาคมกล่าวกันว่าพระองค์นั้นทรงมอบพระองค์ให้เป็นศิษย์หลวงปู่ศุข  วัดมะขามเฒ่า  ที่ผู้คนสมัยนั้นเชื่อและนับถือว่าเป็นพระอาจารย์ด้านเวทมนตร์คาถาที่โด่งดังยิ่งนัก  จนเป็นที่ร่ำลือว่าจงอยู่ยงคงกระพันสามารถหายตัวได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกศิษย์จนรู้สึกว่าพระองค์นั้นเป็นที่พึ่งได้คือพระองค์มีทั้งบารมีและมีความเป็นนักสู้นักเลงที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริงนะครับ 

พระประวัติเกี่ยวกับพระอุปนิสัยและพระจริยวัตรของพระองค์

แล้วก็นิสัยอีกประการหนึ่งของพระองค์ก็คือความไม่ถือตัว  คุณสมบัติส่วนนี้ของพระองค์นั้นแสดงให้ประจักษ์และซาบซึ้งตลอดพระชนม์ชีพนะครับ  อย่างที่มีเรื่องเล่าสืบต่อมาว่าจงรักและเอาใจใส่ลูกศิษย์ลูกหาทุกคน  ดังเช่น  ครั้งหนึ่งมีผู้มาทูลว่าทหารเรือชั้นผู้น้อยคนหนึ่งถูกรุมต่อยตีจากผู้ต่อสู้ที่ตลาดนางเลิ้งเมื่อกรมหลวงชุมพรท่านทราบเรื่อง ก็ทรงเสด็จไปที่สถานที่เกิดเหตุทันทีทรงช่วยทหารเรือผู้นั้นให้รอดจากการถูกคู่อริฟันด้วยการเอาพระองค์เข้ารับบังคมดาบโดยไม่เป็นอันตราย  หรือแม้กระทั่งเสด็จไปสู่ขอผู้หญิงให้ลูกศิษย์ด้วยพระองค์เองในฐานะอาจารย์ไม่ใช่ฐานะเจ้านาย  และโปรดให้ตั้งฌาปนกิจสถานสำหรับทหารเรือเพื่อช่วยในการฌาปนกิจศพทหารเรือทุกระดับทุกชั้นอย่างสมเกียรติ  เป็นต้น

พระประวัติที่ถูกเรียกว่า “เสด็จพ่อ หรือ เสด็จเตี่ย”

ด้วยพระจริยวัตรดังที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้ผู้ใกล้ชิดหรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของพระองค์นั้นเรียกขานพระองค์ว่าเสด็จพ่อหรือเสด็จเตี่ยสิ่งเหล่านี้  ก็ยิ่งทำให้เกิดความสนิทคุ้นเคยรู้สึกว่าทหารเรือนั้นเป็นลูกของพระองค์อย่างเท่าเทียมกันนะครับ 

พระประวัติที่ทรงเรียกพระองค์ว่า “หมอพร”

จนกระทั่งต่อมาในราวพ.ศ 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้กรมหลวงชุมพรออกจากราชการอยู่ชั่วระยะหนึ่ง  จากนั้นพระองค์ก็ได้ทรงสาขาวิชาการแพทย์แผนโบราณจากตำราไทยและศึกษาแพทย์แผนฝรั่งด้วยเขียนตำราสมุดข่อยด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองและทรงรับรักษาโรคให้กับประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดมูลค่า  ทรงคิดแต่เพียงค่าครูเท่านั้นพระองค์ทรงเรียกพระองค์เองว่าหมอพร

พระประวัติการเข้ารับตำแหน่ง “เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ”

ต่อมาในราวปีพ.ศ 2460 ประเทศไทยได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 และกองทัพเรือยังขาดผู้มีความรู้ความสามารถพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระองค์นั้นทรงเสด็จกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งจเรทหารเรือ  และดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ  จนกระทั่งวันที่ 1 เมษายนพ.ศ 2466 พระองค์ก็ทรงได้รับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือต่อ  จากจอมพลเรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  เป็นตำแหน่งทางราชการตำแหน่งสุดท้ายในพระชนม์ชีพของพระองค์ 

พระประวัติปั้นปลายพระชนม์ชีพของพระองค์ 

หลังจากทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือได้ไม่นาน  กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ได้กราบถวายบังคมลาเพื่อเสด็จออกไปรักษาพระองค์เป็นเวลา 1 เดือนเนื่องจากประชวรเรื้อรังด้วยโรคประจำพระองค์มาเป็นเวลานาน  โดยประทับพักรักษาพระองค์อยู่ที่  ตำบลหาดทรายรี  อำเภอเมืองชุมพรจังหวัดชุมพร  ระหว่างนั้นทรงถูกฝนและประชวรด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่พระอาการได้ทรุดลงอย่างรวดเร็ว  จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมพ.ศ 2466 สิริพระชนมายุได้ 47 พรรษา  และกองทัพเรือไทยได้ถือเอาวันที่ 19 พฤษภาคมของทุกปี  ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์เป็นวันอาภากร 

พระประวัติในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

เมื่อกรมหลวงชุมพรสิ้นพระชนม์ความรักอาลัยของผู้ที่รักใคร่เทิดทูนบูชาพระองค์ยังคงตราตรึงอยู่อย่างมิอาจลืมเลือน  ความดีงาม  เก่งฉกาจ  ในทุกๆด้านของพระองค์  ได้รับการบอกเล่าสืบต่อกันมาปากต่อปาก  จนบางครั้งมีการต่อเติมเสริมแต่งให้ส่งเป็นเสมือนผู้วิเศษจนพัฒนาเป็นความเชื่อว่าพระวิญญาณของพระองค์ยังคงอยู่คอยให้ความคุ้มครองเหล่าบรรดาลูกหลานทหารเรือหรือช่วยเหลืออำนวยให้ได้รับความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา  เหมือนเมื่อครั้งที่พระองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่จนถึงกับมีการบนบานขอให้พระองค์ทรงช่วย  ในบางครั้งเมื่อได้รับผลตามความต้องการแล้วก็ยิ่งทวีความเชื่อในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์  สิ่งต่างๆที่เกี่ยวเนื่องในพระองค์ไม่ว่าจะเป็นพระรูปหรือเหรียญ  รวมเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนตั้งไว้บนที่สูงเพื่อเคารพบูชา  โดยเฉพาะเหล่าทหารเรือจนมีคำกล่าวของหม่อมราชวงศ์อภิเดชอาภากรซึ่งเป็นหลานของท่านบอกเอาไว้ในความตอนหนึ่งว่า  คนนับถือกรมหลวงชุมพรเยอะ  แต่คนไม่สนใจท่านในฐานะปุถุชน  คนไม่สนใจว่าท่านเคยทำอะไรมาหรือทรงมีพระปรีชาอย่างไร  คนสนใจท่านแต่ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์

และนี่ก็เป็นพระราชประวัติโดยย่อของพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  ที่ทางเรานำมาเล่าในบทความนี้  ก็หวังว่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้อ่านทุกคนทุกท่าน  หากผิดพลาดประการใดก็ต้องขออภัยด้วย  สำหรับบทความนี้ก็คงต้องขอตัวลาไปก่อนแล้วพบกันใหม่ในโอกาสหน้าสวัสดีครับ