การทำบุญมีอะไรบ้าง แล้วทำบุญอย่างไรให้ได้บุญมาก
สวัสดีครับเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว โดยในเดือนนี้มีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอย่าง “วันมาฆบูชา” ซึ่งปี 2566 นี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ วันมาฆบูชามีเหตุการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้น 4 เหตุการณ์ ที่เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” ดังนี้
1. เป็นวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ ดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์, 2. พระภิกษุ 1,250 รูป มาประชุมกันโดยไม่ได้นัดหมาย, 3. ภิกษุเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6 ทั้งหมด ไม่มีภิกษุผู้เป็นปุถุชนหรือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีแม้แต่รูปเดียวมาประชุมในครั้งนี้, 4. พระภิกษุทั้งหมดเป็นผู้ที่ได้รับการบวชจากพระบรมศาสดาทรงประทานการบวชให้
ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอย่างวันมาฆบูชาที่กำลังมาถึงนี้ แน่นอนว่าประชาชนทุกหมู่เหล่าในฐานะชาวพุทธเตรียมออกไปทำบุญ ไหว้พระขอพร ถวายสังฆทาน ปล่อยนกปล่อยปลาเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตซึ่งก็ถือเป็นธรรมเนียมประเพณีมาช้านาน
แต่ทราบหรือไม่ว่าการทำบุญที่ได้อานิสงส์มากไม่เพียงแต่การตักบาตร ถวายสังฆทาน หรือบริจาคให้ทานเพียงเท่านั้น ยังมีการทำบุญอีกหลายอย่างที่นอกจากทำได้ง่ายแล้วยังได้อานิสงส์มากเรามาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
บุญ หมายถึง อะไร ?
คำว่า “บุญ” มาจากภาษาบาลีว่า “ปุญญะ” แปลว่า การกระทำความดี เครื่องชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ กำจัดสิ่งเศร้าหมองหรือ “กิเลส” ให้ออกจากใจ ลด ละ เลิก ความโลภ ความเห็นแก่ตัว อันเป็นต้นเหตุของความทุกข์
ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาการทำบุญมีด้วยกัน 10 วิธี ดังต่อไปนี้
1. ทาน
การให้ทาน หรือ ทานมัย คือการสละ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของ เงินทอง เพื่อลดความตระหนี่ถี่เหนียว ผลของการให้ทานดังกล่าวทำให้ผู้ให้เกิดความอิ่มเอิบใจ
2. รักษาศีล 5
รักษาศีล หรือ สีลมัย หมายถึง การประพฤติทางกายและวาจาให้เรียบร้อย ไม่เบียดเบียนผู้อื่นทางกายและคำพูด ไม่กินเหล้าเมายา บุญข้อนี้จะทำให้เรากลายเป็นคนเยือกเย็น สุขุมด้วย
3. เจริญภาวนา
เจริญภาวนา หรือ ภาวนามัย เป็นการฝึกใจให้สงบ เห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ยกตัวอย่าง การนั่งสมาธิ วิปัสสนา การสวดมนต์ ผลบุญข้อนี้จะทำให้เกิดปัญญาแก่ผู้ปฏิบัติ
4. การอ่อนน้อมถ่อมตน
การอ่อนน้อมถ่อมตน หรือ อปจายนมัย ถือเป็นบุญอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการละอัตราตัวตนซึ่งถือเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ผลบุญข้อนี้จะทำให้เกิดความเมตตาต่อกัน
5. การช่วยเหลือสังคม
การช่วยเหลือสังคม หรือ ไวยาวัจจมัย ผลบุญในข้อนี้จะช่วยให้เกิดความรักความสามัคคีขึ้น
6. การให้ผู้อื่นมาร่วมทำบุญกับเรา
การให้ผู้อื่นมาร่วมทำบุญกับเรา หรือ ปัตติทานมัย เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้มาร่วมทำบุญ ไม่เหนียวบุญ ผลบุญดังกล่าวจะช่วยให้เราเป็นคนใจกว้าง และปราศจากอคติต่างๆ เพราะพร้อมเปิดใจรับผู้อื่น
7. การอนุโมทนา
การอนุโมทนา หรือ ปัตตานุโมทนามัย คือการยอมรับยินดี รู้สึกชื่นชมในการทำความดีของผู้อื่น ไม่คิดอิจฉา
8. การฟังธรรม
การฟังธรรม หรือ ธรรมสวนมัย มีประโยชน์ทั้งต่อสติปัญญา และการดำเนินชีวิต ไม่จำเป็นต้องไปฟังที่วัดหรือจากพระท่านโดยตรง ผลบุญข้อนี้จะทำให้ผู้ฟังเกิดการรู้แจ้งเห็นจริง
9. การแสดงธรรม
การแสดงธรรม หรือ ธรรมเทศนามัย คือการให้ข้อคิดที่ดีแก่ผู้อื่นด้วยธรรมะ ผลบุญข้อนี้ช่วยให้ผู้รับมีปัญญาเห็นถึงสัจธรรม ส่วนผู้ให้ก็จะได้รับการสรรเสริญ
10. การทำความเห็นให้ถูกต้อง
การทำความเห็นให้ถูกต้อง หรือ ทิฏฐุชุกรรม คือ การไม่ถือทิฐิ เอาตนเองเป็นใหญ่
ทั้ง 10 ข้อข้างต้นจะทำให้ได้ผลบุญมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับอีก 3 ข้อ ดังนี้
1. ผู้รับ จะต้องเป็นผู้มีศีล ไม่จำเป็นต้องเป็นพระหรือนักบวช เป็นบุคคลธรรมดาก็ได้เช่นกัน หากผู้รับมีขาดศีลจะทำให้เราได้บุญน้อย
2. สิ่งของที่ให้ต้องบริสุทธิ์หรือได้มาโดยสุจริต
3. ผู้ให้ ต้องมีจิตอันเป็นกุศล กล่าวคือ ก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ ต้องตั้งใจดี
และทั้งหมดนี้ก็คือการทำบุญด้วยวิธีง่าย ๆ ทำได้ทันที ไม่ต้องลงทุนและเห็นเป็นรูปธรรมที่สุด แถมยังได้อานิสงส์มากอย่างไม่น่าเชื่อ สำหรับวันมาฆบูชาที่จะถึงนี้ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันทำจิตใจให้พ่องใส ประพฤติตนให้อยู่ในศีล 5 ทำตนให้อ่อนน้อมถ่อมตน ให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสัตว์ ร่วมยินดีกับผู้อื่นเมื่อเห็นเขาทำบุญ ง่ายๆ แค่นี้คุณก็จะได้รับผลบุญที่ทำอย่างทันตาเห็นไม่ต้องรอนานถึงชาติหน้า