วันเสาร์, 7 กันยายน 2567

การนำธรรมะสอนใจมาปรับใช้กับชีวิตความรัก

การนำธรรมะสอนใจมาปรับใช้กับชีวิตความรัก

การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเรื่องธรรมะกับความรักไว้ว่า ทุกอย่างนั้นล้วนไม่เที่ยง ยามมีรักสุขจนสุดหัวใจ มิทันใดทุกข์ก็จะต้องผ่านเข้ามาเป็นเรื่องคู่กัน ขึ้นอยู่กับว่าเราเตรียมใจพร้อมรับมือ ตั้งสติ และเข้าใจความเป็นไปในกฏธรรมชาติข้อนี้มากเท่าไหร่ ครั้งเมื่ออกหักเจ็บปวดหัวใจแสนสาหัส ก็มีแต่สติของเราเท่านั้นที่จะช่วยเยียวยา เวลาจะรักษาทุกอย่าง แต่หากเรายังใจไม่แข็งพอก็ถึงคราวที่จะต้องหันหน้าเข้าทางธรรม ใช้ธรรมะเพื่อเป็นข้อคิดเตือนใจให้เราพ้นทุกข์นี้

อาตมาเชื่อว่าหลายคนยังไม่เข้าใจคอนเซปต์ของความรักที่แท้จริง ไม่รู้ว่า รัก และ หลง ต่างกันอย่างไร และเชื่อแน่นอนว่าในช่วงเวลาที่โลกเป็นสีชมพู ถ้ามีใครมาทักว่าเรากำลังเป็นอยู่นั้นคือ หลง คงได้เถียงกันจนลูกกระเดือกโผล่เลยว่า ไม่ช้ายยยย… นี่มันเป็นความรักต่างหากความรักที่หลงทางมันไม่ได้ทำร้ายแค่เพียงตัวเราเอง แต่ยังทำร้ายคนรอบตัวที่รักเราด้วย พ่อแม่ ญาติ พี่น้อง เพื่อนพ้อง ก็ต้องเสียใจไปกับการกระทำแบบโง่เขลา การกระทำที่เราเป็นผู้ทำร้ายจิตใจคนอีกมากมายที่รักเรา อาตมาอยากให้คุณโยมที่เอาชนะความหลงนั้นได้ด้วย สติ ใช้สติพิจารณา และรู้จักตั้งคำถามกับความรักเสียบ้าง รักเพราะอะไรเพื่ออะไร รักได้เท่าไร รักแบบไหน ถึงจะมีความสุข และไม่ทำร้ายกันทั้งสองฝ่ายความตื่นเต้นท้าทายของความรัก มันชวนให้หลงใหล หลงไปไกลจนเราลืมมองว่าเรากำลังเดินไปไหน เดินมาถึงไหนแล้วความรักไม่ใช่เรื่องผิวเผินจนลมพัดก็ปลิวหาย และไม่ใช่เรื่องลึกสุดโต่งจนขุดเท่าไรก็ไม่เจอ แต่เป็นสิ่งที่คุณโยมมองเห็น เรียนรู้ และพิจารณาได้เสมอว่าจะเอาตัวเข้าไปอยู่ตรงจุดไหนของความรักได้อย่างมีสติ”นี่แค่เรียกน้ำย่อย… เอาเป็นว่าใครที่ติดใจรสธรรมสไตล์พระมหาสมปอง ติดตามกันต่อได้ใน ธรรมะเดลิเวอรี่ได้…ต่อมาข้าพเจ้าได้อ่านเจอ บทความน่าสนใจอีกบทความหนึ่งในเรื่องของธรรมะกับความรัก จึงเอามาให้ท่านที่สนใจได้อ่านกัน

ความรัก กับ ความหลง มันต่างกัน?

ความรัก ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ : ความหลง เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ความรัก อดทนต่อกันและกันเสมอ:ความหลง กระทำไปตามอารมณ์

ความรัก ทำสิ่งดีๆ ให้กัน : ความหลง ทำสิ่งดีๆ ให้ตัวเอง

ความรัก ไม่คิดถึงตัวเองฝ่ายเดียว : ความหลง คิดถึงแต่ตัวเอง เรียกร้องแต่สิ่งที่ตัวเองต้องการ

ความรัก ชื่นชมสิ่งดี ไม่ยอมรับสิ่งผิด : ความหลง หาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง แก้ตัว ความรัก ปกป้องกันและกัน:ความหลง ปกป้องตัวเอง ไม่แคร์ว่าใครจะเจ็บ

ความรัก ไว้ใจซึ่งกันและกัน : ความหลง หวาดระแวง จับผิด ขี้สงสัย

ความรัก ให้อภัย : ความหลง แค้นนี้ต้องชำระ

ความรัก ทนต่อทุกอย่าง : ความหลง ถอยหนียามลำบาก

ความรัก ให้โดยไม่มีการเลิกรา : ความหลง หยุดเมื่อไม่ได้รับการปรนเปรอ

ความรัก เป็นอมตะ คงทนถาวร : ความหลง ไม่มั่นคง อยู่ได้ไม่นาน

ความรัก ซื่อสัตย์ต่อกัน :ความหลง หลอกลวง เชื่อถือไม่ได้

ความรัก ไม่ฉุนเฉียวง่าย : ความหลง ด่าว่าให้เจ็บช้ำ

ความรัก ไม่อิจฉา ไม่อวดตัว ไม่หยิ่งผยอง ไม่หยาบคาย : ความหลง ไม่ให้เกียรติ ฉันต้องสำคัญที่สุด เป็นรองไม่ได้

ความรัก มีความหวังอยู่เสมอ : ความหลง คุณพลาดแล้วหมดโอกาสแก้ตัว

ความรัก ช่วยส่งเสริมคนทั้งคู่ให้เจริญก้าวหน้าขึ้น : ความหลง ไม่สนใจอะไร มุ่งแต่จะอยู่ด้วยกัน สุดท้ายก็ลงเอยที่เรื่องเซ็กส์

ความรัก ทำดีต่อกัน รักกันเสมอต้นเสมอปลาย : ความหลง แรกๆ รักจนไม่ลืมหูลืมตา.. ต่อมาอีกไม่นานก็เริ่มหน่าย ตีตัวออกห่างไปหาคนอื่นต่อ…

แล้วตอนนี้ คุณล่ะ กำลังเจอกับ “ความรัก” หรือ “ความหลง”

ท่าน ว. วชิรเมธี ก็มีคำกล่าวในเรื่องของธรรมะกับความรักไว้ว่า

” มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะค้นพบรักแท้ในหัวใจของตัวเองได้เพราะรักแท้หรือกรุณามาจากพุทธภาวะในหัวใจของเราทุกคนฉะนั้นขอแค่เราเป็นคนเท่านั้นแหละ เราก็มีธรรมชาติเดิมแท้เป็นความรักแท้ที่จำพรรษาในใจอยู่แล้ว รอแต่ว่าเมื่อไหร่เราจะค้นพบเท่านั้นเอง เขารอเราอยู่ตลอดเวลา ทุกภพทุกชาติทุกวินาที ”

“พุทธศาสนามองว่าความรักมีสองประเภท ประเภทหนึ่งเป็นความรักที่มีความยึดติดถือมั่น เป็นเจ้าข้าวเจ้าของ เพื่อตอบสนองตัวตน หรือหวังความสุขเพื่อปรนเปรอตัวตน เราเรียกว่า สิเนหะ หรือเสน่หา เป็นความรักที่ภาษาสมัยใหม่เรียกว่ารักแบบมีเงื่อนไข เช่น ต้องถูกใจฉัน ต้องพะเน้าพะนอฉัน ความรักอีกประเภทหนึ่งเป็นความรักที่เป็นความปรารถนาดี ไม่มุ่งหรือคาดหวังให้เขามาปรนเปรอตัวตน เป็นความปรารถนาดีโดยปราศจากความเห็นแก่ตัว อันนี้เรียกว่าเมตตา

มีความแตกต่างระหว่างเมตตากับสิเนหะ พุทธศาสนามองว่าสิเนหะเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ เพราะว่าถ้าคาดหวังให้เป็นไปตามใจตัวแล้ว เมื่อไม่เป็นอย่างที่หวังก็ทุกข์ เกิดความพลัดพรากสูญเสียไปก็ทุกข์ แต่เมตตานั้น เนื่องจากไม่มีความยึดติดถือมั่นเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ดังนั้นเขาจะทำอย่างไรกับเรา เราก็ไม่ทุกข์ เพราะว่ามีแต่ความปรารถนาดีอย่างเดียว ไม่มีเงื่อนไขว่าเขาต้องทำดีกับฉัน เขาต้องเทิดทูนบูชาฉัน หรือว่าเขาต้องเป็นลูกของฉัน เป็นสามีของฉัน เป็นคนรักของฉัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์มีความเมตตาต่อพระเทวทัตเท่ากับพระราหุล เมตตาคือความรักโดยไม่แบ่งแยก คนส่วนใหญ่มองว่าถ้าเป็นลูกฉันก็รัก ถ้าเป็นศัตรูฉันไม่รัก อันนี้เป็นสิเนหะ แต่เมตตาไม่มีเลือก ไม่มีแบ่งแยก เป็นความรักที่ไม่มีประมาณ ไม่มีเงื่อนไข ขณะเดียวกันเมื่อเกิดอะไรขึ้นกับเขา เราก็ไม่ทุกข์เพราะไม่ได้ยึดติดถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา หรือต้องอยู่กับเราชั่วนิจนิรันดร์”

ส่วนพระไพศาล วิสาโล ก็มีคำกล่าวในเรื่องธรรมะกับความรักไว้เช่นกัน

“การที่คนเราจะอยู่ด้วยกันได้นาน จะต้องมีความเหมือน มีความสอดคล้องกัน เช่นสอดคล้องกันในเรื่องของศีล ศีลในที่นี้หมายถึงความประพฤติปฏิบัติ หากว่าเป็นคนที่มีความประพฤติปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน เช่นเป็นคนที่ชอบทำบุญ ไม่ต้องการเบียดเบียน ใฝ่ในธรรมะ อันนี้ก็จะอยู่กันได้นาน พูดง่าย ๆ คือมีการดำเนินชีวิตไปในแนวทางเดียวกัน แต่ถ้าสวนทางกันหรือไม่เหมือนกัน ก็อยู่ด้วยกันได้ยาก เช่น คนหนึ่งอยากรวย แต่อีกคนใฝ่ธรรม คนหนึ่งโลภเพราะคิดว่ามีเงินจึงจะมีความสุข แต่อีกคนเห็นว่าการสละการปล่อยวางมีความสุขกว่า อย่างนี้ก็อยู่กันลำบาก อยู่ด้วยกันไม่ยืด

นอกจากศีลแล้ว ประการต่อมาก็คือ การแบ่งปัน หรือ จาคะ คือต้องมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เหมือนกัน ถ้าหากบางคนตระหนี่ก็จะอยู่กับคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีความเหมือนกันในแง่นี้ด้วย ศรัทธาและปัญญาก็เช่นกัน มีศรัทธาคล้าย ๆ กัน มีปัญญาเสมอกัน ก็อยู่กันได้นาน ธรรมทั้ง ๔ ประการเรียกว่า สมชีวิธรรม คือ ธรรมที่ทำให้คู่สมรสมีชีวิตที่กลมกลืนกัน ครองคู่กันได้นาน เรื่องนี้สำคัญมากคือการมีสาระของชีวิตสอดคล้องไปในทางเดียวกัน แต่ว่าถ้าต่างกันหรือสวนทางกัน จะอยู่ด้วยกันลำบาก สรุปก็คือสิ่งที่จะทำให้อยู่ด้วยกันได้ดีที่สุดคือธรรมะ หากมีธรรมะเหมือนกันก็จะยึดเหนี่ยวประสานน้ำใจให้เป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น”