วันอังคาร, 8 ตุลาคม 2567

การอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ

27 พ.ค. 2024
92

การอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ

เมื่อมนุษย์ละจากอัตภาพของกายเนื้อไปสู่ปรโลก สิ่งที่บุคคลเหล่านั้นต้องการในปรโลกคือ “บุญ”เพราะบุญเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้บุคคลผู้ละโลกไปแล้วได้เสวยสุขอันเป็นทิพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหาก บุคคลนั้นเดินทางออกจากร่างด้วยจิตที่ไม่ผ่องใส ต้องพลัดตกไปในอบายภูมิ หากยังอยู่ในอบายภูมิที่ไม่ลึก เกินไปนัก เช่น เปตโลก หรือยมโลก ก็ยังสามารถรับบุญที่ญาติมิตรอุทิศไปให้ได้ เพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานที่มีอยู่ ถ้าหากกระแสบุญที่อุทิศไปให้มีกำลังมากเพียงพอ ก็อาจนำพาบุคคลนั้นให้พ้นโทษในอบายภูมิได้เช่นกัน ดังนั้น เราจึงควรปรารภเหตุทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ละโลกไปแล้วบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันพระ และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

    เรื่องเล่าจากพระไตรปิฏก : เปรตกลายเป็นเทวดาเพราะได้ส่วนบุญ
(จากพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย / เล่มที่ 39 หน้า 282)
บุญที่เราทำอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ล่วงลับสามารถช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ทรมานให้แก่วิญญาณ หรือกายละเอียดที่อยู่ในอบายภูมิได้ด้วย เช่นเดียวกับเรื่องราวในสมัยพุทธกาล คือ เรื่องเปรตญาติของ พระเจ้าพิมพิสาร

คืนวันหนึ่งขณะที่พระเจ้าพิมพิสารกำลังบรรทม ทรงได้ยินเสียงร้องโหยหวนอันน่าสะพรึงกลัว ครั้นรุ่งเช้าพระองค์จึงรีบไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อทูลถามถึงที่มาของเสียงนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสปลอบมิให้พระเจ้าพิมพิสารหวาดกลัว เพราะเสียงที่ทรงได้ยินนั้นจะไม่เป็นผลร้ายอันใด เนื่องจากเป็นเสียง ของเปรตจำพวก “ปรทัตตูปชีวี” คือ เปรตที่มีผลบุญของญาติเป็นอาหาร มีโอกาสรับรู้บุญที่หมู่ญาติอุทิศได้ เมื่อรับรู้และอนุโมทนาในผลบุญนั้นแล้ว ความอดอยากยากแค้น ก็จะบรรเทาเบาบาง หรือหมดสิ้นไปได้

ปรทัตตูปชีวีเปรตผู้เป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ได้รอคอยผลบุญของพระเจ้าพิมพิสาร ด้วยความอดอยาก หิวกระหายมาเนิ่นนาน ครั้นเมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงถวายพระอารามเวฬุวันพร้อมทั้ง อุทยานแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์ แต่มิได้อุทิศผลบุญนั้นให้แก่หมู่ญาติ เปรตผู้ได้รับความทุกข์ยาก เหล่านั้นจึงมาส่งเสียงร้องคร่ำครวญเพื่อขอส่วนบุญ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบความจริงแล้วจึงได้ ถวายทานแล้วแบ่งบุญให้แก่หมู่เปรตเหล่านั้น

เมื่อสิ้นสุดคำอุทิศส่วนกุศล ฝูงเปรตเหล่านั้นก็หลุดพ้นจากความหิวกระหายและความทุกข์ทรมาน ที่มีมาตลอดกาลนาน กระแสบุญได้บันดาลให้มีสภาพร่างกายที่ผ่องใสเป็นสุข แต่ก็ยังมิได้มีผ้านุ่งผ้าห่ม พระพุทธองค์จึงทรงแนะนำให้พระเจ้าพิมพิสารถวายผ้าสบงจีวรแด่พระภิกษุสงฆ์ แล้วอุทิศผลบุญให้แก่ บรรดาหมู่เปรตทั้งหลายอีกครั้ง เมื่ออุทิศแล้วบุญก็บันดาลให้เปรตเหล่านั้นมีเครื่องนุ่งห่ม พร้อมทั้งที่นอนและที่นั่งอันเป็นทิพย์ อีกทั้งวิมานที่ปรากฏอยู่ในอากาศ ในขณะเดียวกันพวกเขาก็พันจากอัตภาพของเปรตในทันที

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้เห็นอานิสงส์ของการให้ทาน และการอุทิศผลบุญแก่บรรดาหมู่เปรตที่เป็นญาติ ก็เลื่อมใสศรัทธาในการทำทานมากยิ่งขึ้น จึงทรงถวายทานต่ออีก 7 วัน พระบรมศาสดาทรงกล่าวอนุโมทนา คาถาว่า “การทำบุญเพื่ออุทิศผลบุญแก่เปรตนั้น ชื่อว่าเป็นการบูชาญาติอย่างยิ่ง” ดังนั้นเราจึงต้องทำบุญอุทิศหรือ “ส่งบุญ” ให้ผู้ตายอยู่เสมอ ไม่ว่าหมู่ญาติเหล่านั้นจะอยู่ในสุคติหรือทุคติภูมิก็ล้วนแต่จำเป็นต้องใช้บุญทั้งสิ้น เปรียบได้กับมนุษย์ในโลกที่ต้องอาศัยทรัพย์สินเงินทองในการเลี้ยงชีพนั่นเอง

 ประเพณีการทำบุญให้ผู้ตาย ในช่วง 7 วัน 50 วัน และ 100 วัน นับแต่โบราณนานมาจะมีการทำบุญกุศลให้แก่ผู้ตายในช่วง 7 วันนับตั้งแต่วันสิ้นลม เรียกว่า “สัตมวาร” ทำบุญในช่วง 50 วัน เรียกว่า “ปัญญาสมวาร” และทำบุญในช่วง 100 วัน เรียกว่า “สตมวาร”

 ทำไมต้องทำบุญในช่วง 7 วัน 50 วัน และ 100 วัน ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สภาวะจิตก่อนละโลกเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด ซึ่งถือเป็นศึกชิงภพ คือ ถ้าจิตผ่องใส ไม่เศร้าหมอง ย่อมมีสุขคติเป็นที่ไป แต่ถ้าจิตเศร้าหมองไม่ผ่องใส ย่อมมีทุคติเป็นที่ไป กล่าวง่าย ๆ คือ “ใจใสไปสวรรค์ ใจหมองไปอบาย” ส่วนใหญ่ชีวิตหลังความตายของผู้ที่ละโลกไปแล้ว สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มก็คือ

 กลุ่มที่ 1: ใจไม่ใส ไม่หมอง ขณะมีชีวิตอยู่ บุญไม่ทำ กรรม (บาป) ไม่สร้าง กลุ่มนี้จะมีโอกาสอยู่ในโลกมนุษย์ 7 วัน ครบ 7 วัน เจ้าหน้าที่จะมารับตัวไปยมโลก เพื่อรอพิพากษา กายละเอียดกลุ่มนี้ แม้เลย 7 วันไปแล้ว หมู่ญาติยังมีโอกาสทำบุญให้ได้อีก ในช่วง 100 วัน เพราะถึงแม้ กายละเอียดจะไปยมโลกแล้ว แต่ยังเป็นช่วงที่มีโอกาสรับบุญได้ เพราะยังไม่ได้รับคำพิพากษา

       กลุ่มที่ 2: ใจผ่องใส เพราะทำบุญมาตลอด ทำบาปน้อย กลุ่มนี้บุญส่งผลให้ไปบังเกิดในสุคติภพได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 7 วัน และถึงแม้จะไปเกิด ในสุคติภพแล้ว หมู่ญาติก็ยังสามารถอุทิศบุญได้ตลอดเวลา

      กลุ่มที่ 3: ใจหมอง ดำมืด เพราะทำบาปมาตลอด ทำบุญน้อย กลุ่มนี้จะถูกดูดไปเกิดในทุคติภูมิทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 7 วัน โดยมากมักจะถูกดูดไปเกิดที่ อุสสทนรก หรือมหานรก ไม่สามารถรับบุญได้เลย แม้หมู่ญาติจะอุทิศไปให้ภายใน 50 วัน หรือ 100 วันก็ตาม จนกว่าจะย้ายมารับการลงทัณฑ์ลหุโทษที่ยมโลก ซึ่งบุญที่อุทิศเอาไว้จะได้ช่องส่งผลให้พ้นจากทัณฑ์ทรมาน แม้หมู่ญาติจะอุทิศบุญให้แล้วเมื่อหลายล้านปีก่อน แต่บุญนั้นก็ยังรอส่งผลไม่หายไปไหน

ดังนั้น การที่จะต้องทำบุญ 7 วัน 50 วัน 100 วัน จึงมีความสำคัญ เพราะการทำบุญช่วง 7 วันคือ ช่วงที่กายละเอียดหรือวิญญาณยังวนเวียนอยู่ในโลกมนุษย์ สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ไปมหานรก ก็จะมีโอกาส ช่วยกันได้ใน 7 วันนั้น การทำบุญช่วง 50 วันคือช่วงที่รอคอยการพิพากษาจากพญายมราชในยมโลก การทำบุญ ระหว่าง 50 – 100 วันคือช่วงพิพากษาและส่งไปเกิด เช่น ไปเกิดในมหานรก ในยมโลก เป็นมนุษย์ เปรตอสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น ช่วงนี้จะรับบุญได้ หลักการส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นภายใน 7 วัน 50 วัน ต้องทำบุญทุกบุญให้เต็มกำลังแล้วอุทิศไปให้ ซึ่งจะกล่าวอุทิศบุญแด่ผู้ล่วงลับด้วยวาจาก็ได้ จะเป็นภาษาบาลี หรือภาษาใดก็ได้ ตามแต่ผู้ทำบุญจะถนัด ที่สำคัญคือมีจิตมุ่งที่จะอุทิศบุญ

การกรวดน้ำ หรือหยาดน้ำนั้น เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่ง ที่จะน้อมใจของผู้อุทิศให้จรดนิ่งเป็นสมาธิ กับสายน้ำ แต่ถ้าผู้ทำบุญมีใจแน่วแน่อยู่แล้ว จะใช้ที่กรวดน้ำหรือไม่ใช้ ก็สามารถอุทิศบุญได้เหมือนกัน เช่น“ข้าพเจ้าขออุทิศบุญจากการถวายสังฆทานในครั้งนี้ให้กับ นางไปดี มีสุข และหมู่ญาติทั้งหลายผู้ล่วงลับไปแล้ว”

อย่างไรก็ตาม การอุทิศบุญให้ผู้ล่วงลับนั้นมิได้หมายความว่าจะทำให้บุญของผู้อุทิศลดลงหรือ หมดสิ้นไป แต่กลับจะทำให้บุญเพิ่มมากขึ้นอีก เพราะเป็นบุญที่เกิดจากการ “อุทิศบุญ” หรือ “ปัตติทานมัย”เปรียบเหมือนเราจุดประทีปโคมไฟแล้วส่งต่อความ สว่างนี้ไปยังโคมไฟดวงอื่น ๆ นอกจากประทีปของเรา จะไม่ดับลงหรือสูญเสียความสว่างแล้ว ความสว่างไสวกลับมีมากขึ้น

ฉันใดก็ฉันนั้น การอุทิศบุญหรือการแบ่งส่วนบุญส่วนกุศลให้กับผู้ตายจะทำให้บุญในตัวของเรา มีมากขึ้น เพราะการอุทิศบุญให้แก่ผู้ล่วงลับจัดเป็นปัตติทานมัย ซึ่งเป็นหนึ่งในทางมาแห่งบุญ 10 ประการหรือบุญกิริยาวัตถุ 10 นั่นเอง

          อุทิศบุญให้ในวันพระ

วันพระเป็นวันประชุมถือศีลฟังธรรมในพระพุทธศาสนา เดือนหนึ่งจะมี 4 วัน คือ วันขึ้น 8 ค่ำ,ขึ้น 15 ค่ำ, แรม 8 ค่ำ, และแรม 15 ค่ำ ถ้าเป็นเดือนขาดเรียกว่าแรม 14 ค่ำ

วันขึ้น 15 ค่ำ ถือเป็นวันพระใหญ่ ซึ่งเดือนหนึ่ง ๆ จะมีเพียงวันเดียว วันพระใหญ่ ถือเป็นวันสำคัญที่บุตรหลานและญาติมิตร จะต้องทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ละโลกไปแล้ว เพราะวันอื่นสัตว์นรกไม่ว่างเว้นจาก ทัณฑ์ทรมานยังรับบุญไม่ได้ แต่ในวันพระใหญ่นั้นการทัณฑ์ทรมานในยมโลกจะหยุดลงชั่วคราว ทำให้บุญ ที่หมู่ญาติอุทิศส่วนกุศลไปให้ได้ช่องส่งผล บวกกับบุญเก่าที่เคยทำมาจะช่วยส่งให้หลุดพ้นจากขุมนรกในยมโลก ไปสู่สุคติตามกำลังบุญ