วันศุกร์, 13 กันยายน 2567

คนกินเนื้อสัตว์ กับ คนฆ่าสัตว์ มีความบาปเท่ากันไหม?

08 พ.ค. 2024
125

คนกินเนื้อสัตว์ กับ คนฆ่าสัตว์ มีความบาปเท่ากันไหม?

ในพุทธศาสนานั้น บาปและบุญกำหนดด้วย “เจตนา” เป็นสำคัญ และในกรณีนี้.. เจตนากินกับเจตนาฆ่านั้น คนละเจตนากัน คนซื้อไปทำอาหาร (โดยส่วนใหญ่) เขาไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับการฆ่า และการฆ่าหรือปาณาติบาตนั้น ต้องอยู่บนองค์ประกอบ ๕ ประการ คือ ๑. สัตว์นั้นมีชีวิต ๒. รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต ๓. มีจิตคิดจะฆ่า ๔. พยายามที่จะฆ่า ๕. สัตว์ตายเพราะความพยายามนั้น

ทั้ง ๕ องค์ประกอบนี้ สรุปลงมาที่เจตนาเป็นหลัก แปลว่าต้องมีความตั้งใจ เมื่อตั้งใจคิดจะฆ่า แล้วได้ลงมือกระทำ อันนี้แหละคือบาป

ทีนี้มาถึงข้อสงสัยที่ว่า แล้วคนกินเนื้อสัตว์นั้นจะบาปไปด้วยไหม เพราะเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้เขาฆ่า!

ก่อนจะตอบคำถามนี้ ขอยกพุทธดำรัสที่เกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสัตว์ กล่าวคือเนื้อที่ไม่ควรบริโภค มีด้วยเหตุ ๓ ประการคือ ตนได้เห็น ตนได้ยิน และตนรังเกียจ ส่วนเนื้อที่บริโภคได้ ก็ด้วยเหตุ ๓ ประการเช่นกันคือ ตนไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน และไม่รังเกียจ

อธิบายว่า..

  1. ที่ตนได้เห็น คือเห็นสัตว์นั้นมีชีวิตอยู่ ต่อมาสัตว์นั้นก็กลายเป็นอาหารนำมาถวาย (คือรู้อยู่แล้วเพราะเมื่อกี้ยังเห็นตัวเป็น ๆ แล้วมาถูกฆ่าทำเป็นอาหารถวาย)
  2. ที่ตนได้ยินนั้น คือได้ยินชาวบ้านพูดกัน ว่าจะฆ่าสัตว์ตัวนั้น ตัวนี้ เอามาทำเป็นอาหารมาถวาย (คือรู้ล่วงหน้าแล้วว่าเขาจะฆ่ามาให้)
  3. ที่ตนรังเกียจ คือ ความรังเกียจด้วยเหตุ ๒ ประการที่กล่าวมาข้างต้น

จะเห็นว่า พุทธดำรัสนี้ กล่าวถึงการจะบริโภคเนื้อสัตว์ จะต้องไม่มีมูลเหตุมาจากความตั้งใจหรือเจตนาไว้ก่อนเท่านั้น กรณี “สั่ง” ให้เขาฆ่ามาให้กิน อันนี้เข้าข่ายเจตนา เช่น ไปตลาดซื้อปลาที่มันยังเป็น ๆ ชี้ตัวนั้น ตัวนี้ให้แม่ค้าทุบหัว ขอดเกล็ด เป็นต้น

ทีนี้ก็จะมีประเด็นว่า เราไปซื้อเนื้อสัตว์ที่เขาขาย เราก็รู้อยู่ว่าสัตว์มันถูกฆ่ามาเพื่อขาย เราจะบอกไม่รู้ไม่ได้ เพราะเนื้อสัตว์ที่ซื้อ ก่อนหน้านี้มันมีชีวิตอยู่ เขาจะฆ่าสัตว์ทำไม ถ้าไม่มีคนซื้อ เพราะเมื่อเราคือผู้ซื้อ จะไม่ใช่ผู้สั่งฆ่าอย่างนั้นหรือ ถึงแม้จะซื้อตอนมันตายแล้ว ไม่ได้สั่งฆ่าหรือฆ่าเองก็ตาม แต่ก็ย่อมรู้ว่าก่อนเราจะกินมัน มันมีจุดจบชีวิตอย่างไร

คือการไปรู้หรือคิดถึงตรงนั้น (ว่าเขาฆ่าเพื่อขาย) ในส่วนของคนกิน มันยังไปไม่ถึง “เจตนา” ให้สัตว์นั้นตาย ไม่ครบองค์ประกอบที่กล่าวข้างต้น การไปซื้อเนื้อหมูที่ตลาด เรามีส่วนร่วมในการฆ่าหมูตัวนั้นก่อนหรือเปล่า หรือหมูตายก่อนที่เราจะไปซื้อมาทำเป็นอาหาร ความจริงก็คือ เราจะซื้อหรือไม่ซื้อ เนื้อหมูที่แขวนอยู่นั้นก็ตายอยู่แล้ว

ตามหลักกรรม คือต้องถือเอาเจตนาเป็นหลัก คนกินเขาเจตนาจะกิน เขาไม่ได้มีเจตนาฆ่า แต่คนฆ่าเจตนาฆ่า ไม่ใช่เจตนากิน

ส่วนความคิดที่ว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นบาปนั้น ครั้งพุทธกาล พระเทวทัตก็เคยเสนอพระพุทธเจ้าให้ชาวพุทธเลิกกินเนื้อสัตว์มาแล้ว แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า “เนื้อสัตว์ไม่ใช่ของเหม็น อกุศลกรรมต่างหากที่เป็นของเหม็น”

ดังนี้แล้ว ผู้ที่มีความคิดว่า การกินเจ กินมังสวิรัติเป็นบุญ การกินเนื้อสัตว์เป็นบาป ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรแน่…

ความจริงคือ บุญที่จะได้จาการช่วยชีวิตสัตว์นั้น คือมาจากการช่วยไม่ให้สัตว์นั้นตาย เช่น เห็นหมาแมวป่วย ก็ให้ยาหรือพาไปรักษา หรือการไปไถ่ชีวิตวัวควายที่จะถูกส่งเข้าโรงฆ่า หรือไปตลาดซื้อปลาช่อน ปลาดุก (ซึ่งมันต้องถูกฆ่าแน่ ๆ) เอาไปปล่อย ฯลฯ อย่างนี้จึงจะเป็นบุญจากการช่วยชีวิตสัตว์

แต่การที่เราแค่ไม่กินเนื้อหมู เพราะคิดว่าจะได้ช่วยชีวิตหมูไม่ให้ถูกฆ่าได้ อย่างนี้มันไม่ใช่ความจริง เพราะการช่วยชีวิตสัตว์นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เราไม่ได้ลงมือกระทำจริง ๆ แค่คิดไปเองเท่านั้นว่าได้ช่วยชีวิตหมูไม่ให้ถูกฆ่า

คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ เพราะกลัวบาป คิดอย่างนี้ได้ ไม่เป็นไร แต่คนที่กินเจ กินมังสวิรัติ เพราะคิดว่าตนจะได้บุญ อันนี้เป็นความคิดที่ผิดเพี้ยนไปมาก เพราะการกินอาหารที่ทำจากพืชล้วน ๆ เป็นเพียงการเลือกสิ่งที่จะกินเท่านั้น หากการกินเจแล้วจะได้บุญ พวกวัว ควาย แพะ แกะ ซึ่งเป็นสัตว์กินพืชตลอดชีวิต ไม่กินเนื้อสัตว์เลย ก็คงได้บุญมากมายไปด้วยเหมือนกัน และถ้าจะเอาตามฐานความคิดว่า “กินเนื้อสัตว์เป็นบาป” การหยุดกินบางมื้อหรือช่วงเวลาหนึ่งก็จะเป็นแค่เพียงการทำบาปให้น้อยลงเท่านั้น ยังไปไม่ถึงบุญเลย

แต่หากเลือกไม่กินเนื้อสัตว์เพื่อให้สุขภาพดีขึ้น อันนี้เห็นด้วย หรือจะมีความคิดที่ว่ากินเจเพื่อลดการฆ่าสัตว์ อันนี้ก็เป็นเรื่องดี แต่ข้อเท็จจริงคือ ช่วงประเพณีกินเจแต่ละปี เป็นแค่การเลื่อนเวลาตายของพวกสัตว์จำนวนหนึ่งออกไปไม่กี่วันเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ดี พระพุทธเจ้าก็ทรงเสวยเนื้อ พระอรหันต์สาวกทั้งหลายก็ฉันเนื้อ (ตามแต่ที่รับบิณฑบาตมา) หากการฉันเนื้อเป็นบาป พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายก็คงทำบาปกันหมด

สำหรับการบริโภคในชีวิตประจำวัน กรณีที่สัตว์ยังมีชีวิตอยู่ เช่น เราไปทาน live seafood สัตว์นั้นไม่ใช่แค่สด แต่มันยังเป็น ๆ อยู่ การไปสั่งเมนูแล้วเขาก็เอามาฆ่า มาทำให้เรากิน (ถ้าไม่สั่ง เขาก็ไม่ฆ่า! ว่างั้น) อันนี้ถือว่าเรารู้เห็นอยู่ในเหตุการณ์ตลอด อย่างนี้บาปแน่

ส่วนสัตว์ที่ตายอยู่ก่อนแล้ว เราจะซื้อหรือไม่ซื้อ สัตว์ก็ตายไปแล้ว เราไม่ได้ไปมีส่วนร่วมด้วยช่วยกันฆ่ากับเขาแต่อย่างใด และไม่ได้มีเจตนาซื้อเพราะอยากให้เขาไปฆ่า เมื่อไม่มีเจตนา บาปก็เป็นอันตกไป แต่ถ้ากินผักแทนได้ก็จะดีกว่า เพราะเนื้อสัตว์เป็นอาหารของเชื้อมะเร็งและโรคร้ายอื่น ๆ มากมาย