วันอังคาร, 8 ตุลาคม 2567

ทำผิดทั้งที่รู้ กับ ทำผิดเพราะไม่รู้ อย่างไหนบาปกว่ากัน?

ทำผิดทั้งที่รู้ กับ ทำผิดเพราะไม่รู้ อย่างไหนบาปกว่ากัน?

มีกองไฟอยู่กองหนึ่ง แต่ว่ามีเถ้ามีถ่านกลบอยู่
คนหนึ่งรู้ คนหนึ่งไม่รู้ คนที่รู้แล้วเหยียบ
กับคนที่ไม่รู้แล้วเหยียบ คนไหนจะเจ็บกว่ากัน

คนไม่รู้จะเหยียบเต็มที่
แต่คนที่รู้นี้ แม้จำเป็นจะต้องเหยียบ
แต่เขาเหยียบด้วยสติ ก็จะมีสติอยู่บ้าง

กรรมที่เราทำ ก็เช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นกรรมทางกาย ทางวาจา หรือทางใจนี้

ถ้าเรารู้ว่ามันเป็นบาป เป็นอกุศล
มีผลไม่ดีต่อตัวเราเอง
ในภายหลังจากที่เราทำเสร็จไปแล้วนั้น
ถ้าเราไม่รู้นะ ความตั้งใจที่เราจะทำ
ซึ่งกรรมนั้นมันมากกว่ารู้ทั้งรู้
เพราะอาจจะมีสติเข้ามาแทรกเป็นระยะ ได้

ในขณะเดียวกัน ผู้ที่รู้ว่ามันไม่ดีแต่ว่ายังทำอยู่
แต่ความตั้งใจในการทำนั้น จะน้อยกว่า
เผลอๆ ทำเสร็จปุ๊บ จิตมันรังเกียจไปเลย
ประมาณว่า ต่อไปจะไม่ทำเช่นนี้อีกแล้ว
จิตประเภทนั้นอาจจะเกิดขึ้นทันทีเลยก็ได้
เพราะว่าเขาไม่ได้อยากจะทำมากนัก
ทำด้วยความรู้ทั้งรู้นั่นแหละ
รู้ๆ อยู่แต่ทำ แต่ว่ามีสติอยู่เป็นขณะ ๆ

ฉะนั้น โอกาสที่จะทำเต็มที่
เหมือนคนที่ไม่รู้ จึงน้อย กว่า

ดังนั้น คนที่มีความรู้นั้น
จึงเป็นคนที่มีสติได้มากกว่า
มีสมาธิ มีปัญญา
ทรงตัวได้มากกว่าคนที่ไม่มีความรู้

โดยอย่างน้อยเขาจะคิด จะพูด จะทำอะไร
หรือว่าจะแสดงออกทางกาย ทางวาจา ออกไปนั้น

เขาก็จะต้องดูบริบทข้อมูลที่เขารู้มาว่า
มันจะผิดไหม ประมาณนี้

จะผิดไหมนี่ ไม่ทำดีกว่า ไหม ประมาณนี้ เป็นต้น

เพราะมีสติ คอยช่วยเตือนใจได้เยอะกว่าคนที่ไม่รู้

คนที่ไม่รู้นี่จะทำเต็มที่เลย
เพราะว่าไม่มีอะไรคอยเตือน
โดยเฉพาะความรู้ว่ามันไม่ควรอย่างไร
เขาไม่มีสิ่งที่จะเตือนใจเขา

ใน ณ ขณะนั้น
ขณะที่เขากำลังคิด กำลังพูด
กำลังทำสิ่งที่ไม่ดี
มันก็ไม่มี โอกาสทำชั่ว
มันจึงเต็มที่กว่าทำได้เยอะกว่า

ยกตัวอย่างง่ายๆ คือพวกเราชาวโลก
ที่ในทุกวันนี้ บางวัน บางเวลา
ก็ได้รับผลของกรรมดี บางวัน บางเวลา
ก็ได้รับผลของกรรมชั่ว
โดยเฉพาะเวลาที่กำลังได้รับผลของกรรมชั่ว
ซึ่งก็คงไม่มีใครที่อยากจะได้รับแน่นอน

แต่ถ้าเราตั้งคำถามสักหน่อยว่า
เอ้..เราไม่อยากรับ แล้วทำไมมันยังมาให้เรารับ

ก็จะมีคำตอบมาว่าต้องรับเพราะว่า “เป็นของคุณ”

“เป็นของฉันตั้งแต่เมื่อไหร่!!”

สมมติเราถามกลับไปเช่นนี้
ก็จะมีคำตอบกลับมาว่า

“ก็คุณทำไว้จำไม่ได้หรือไง!!”

ทำไว้ยังจำไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าเราไม่ได้ทำนะ
เราจำไม่ได้เอง

ถ้าเรายอมรับตรงจุดนี้ว่า
เราเคยทำ แต่เราจำไม่ได้
แต่มันเป็นความจริง
อย่างนี้

อาตมาเคยยกตัวอย่าง มีคนเขาถามว่า
ท่านเชื่อว่า
นรก สวรรค์ มีจริงไหม อาตมาบอกว่าเชื่อ
ว่ามีจริงเขาถามว่าท่านมีเหตุผลอย่างไร
ก่อนที่จะตอบเขา อาตมาถามเขากลับไปก่อน

“แล้วโยมมีทวดไหม” “มี “
“เกิดทันไหม” “ ไม่ทัน”

พูดมาได้อย่างไรว่ามีทวด

ก็ไม่เคยเห็น ใช่ไหม ก็ต้องพูดว่าไม่มีสิ

เขาก็ตอบว่าทวดก็คือพ่อของปู่ไง
ปู่ก็คือพ่อของพ่อไง โยมก็คือลูกของพ่อ
ถ้าไม่มีพ่อ จะมีโยมได้อย่างไร และถ้าไม่มีมีปู่
จะมีพ่อได้อย่างไร ถ้าไม่มีพ่อของปู่
หรือทวดจะมีปู่ได้อย่างไร

เขามองแบบนี้

ก็มองแบบนั้นแหละ นรก สวรรค์
มันก็รูปแบบเดียวกัน เพียงแต่ว่า

ณ วันนี้เราไม่ใช่คนในนรก
เราไม่ใช่คน หรือเทวดาในสวรรค์
เราเป็นคนในมนุษยโลก เราจึงมองแค่ที่เรารู้
เราเห็นว่ามันน่าจะมีแค่ที่เรารู้ เราเห็น

สิ่งใดที่มันมี แต่เราไม่เห็น มันมีอีกเยอะ

ครั้นเราไม่เห็นในสิ่งที่มี
หรือเราไม่เห็นซึ่งสิ่งที่มีอยู่
เราจะบอกว่าเมื่อไม่เห็น
ก็คงไม่มี ไม่ได้ ใช่ไหม
หรือจะพูดสั้นๆ ว่า ไม่เห็นมีไม่ได้

ไม่มี เพราะไม่เห็น นั้น มันไม่ใช่ทุกอย่างไป

มันมีหลายอย่างเลย ที่มีแต่เราไม่เห็น ใช่ไหม

แต่ถ้าเรามีความรู้ มันก็จะเห็นสิ่งที่มันมีอยู่จริง
ตามลำดับๆ ความรู้ความสามารถทางจิตใจของเรา

ญาณปัญญาของเรา
เราก็จะเห็นไปตามระดับนั้น
ฉะนั้น กรรมนี้ แม้ขณะที่เราทำ
หรือขณะที่เราทำเสร็จทันที
หรือ ภายในภพนี้ ชาตินี้ มันยังจะไม่ส่งผล

เราอย่ามอง หรือ ดูถูกว่าป่านนี้แล้ว
คงไม่ส่งผลกระมัง
กรรมที่เราทำในภพนี้ ชาตินี้
มันยังช้ากว่ากรรมในอดีต
ที่เราทำมาไม่รู้กี่ภพ กี่ชาติ นะ
เพราะเพิ่งทำในภพนี้ จึงเรียกว่าช้า

ดังนั้น จะให้กรรมที่เราเพิ่งทำในภพนี้
ชาตินี้ซึ่งเป็นกรรมที่ทำทีหลัง
เผลอๆ ถ้าเป็นกรรมเบาเพราะเจตนา
ความตั้งใจไม่ได้จริงจังอะไรมากนัก
มันก็ส่งผลทีหลังอดีตกรรม

อดีตกรรม นั้น
โอกาสที่จะเป็นอกุศลกรรมแรงกล้า
เพราะเจตนา ความตั้งใจของเรามันจริงจัง
ชัดเจน เต็มร้อยในอดีต

จากการที่เราไม่มีความรู้ ความเข้าใจ
แล้วเราไปทำอกุศล อย่างเต็มที่มันเยอะกว่า
ดังนั้นโอกาสที่มันจะส่งผล
ก่อนกรรมในปัจจุบันของเรามันก็เยอะกว่า
เป็นเรื่องปกติ พอเข้าใจนะ