วันศุกร์, 13 กันยายน 2567

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน เข้าใจ “ความจริง” เมื่อไหร่ ไม่ทุกข์เมื่อนั้น

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน เข้าใจ “ความจริง” เมื่อไหร่ ไม่ทุกข์เมื่อนั้น

“สัจธรรม”

สัจธรรมนี้เป็นคำสอนที่ปรากฏอยู่ในที่ทั่วๆไป ไม่มีใครบัญญัติแต่งตั้งหรอก แต่ว่ามีผู้คนพบ เช่น ในพระพุทธศาสนานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงค้นพบด้วยพระองค์เอง แล้วทรงเปิดเผย ทำให้ตื้น แจกจ่ายให้แก่คนทั่วไป เราจึงได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรถูกต้องตามความเป็นจริง และได้นำหลักธรรมะเหล่านั้นมาเป็นแนวปฏิบัติ ขูดเกลาจิตใจของเราให้สะอาด สงบ สว่าง

เรื่องของสัจธรรมนี้จึงเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง มีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง ถ้าเราตั้งใจดู ตั้งใจฟัง ตั้งใจคิด เราก็จะได้พบสิ่งนั้นเหมือนกัน เมื่อเราได้พบแล้ว เราก็นำมาเป็นหลักสำหรับพิจารณาแก้ไขปัญหาต่างๆ

ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่นว่า ญาติโยมบางคนมีความประพฤติดีประพฤติชอบ แต่ว่ายังมีความทุกข์ในใจ ทุกข์ด้วยเรื่องอะไร…ด้วยเรื่องของธรรมดา เช่น ทุกข์เพราะพลัดพรากจากของรักของชอบใจ มีลูกตายจากไปก็เสียใจ มีทรัพย์ถูกขโมยไปก็เสียใจ บางครั้งบางคราวตัวเราเองมีความเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บ อันเป็นเรื่องธรรมชาติ มนุษย์เกิดมาแล้วก็ต้องมีเรื่องอย่างนี้ ก็นอนเป็นทุกข์ตรมตรอมใจด้วยประการต่างๆ

มีหลานบางทีก็เป็นทุกข์เพราะหลาน เช่น มีหลานเลี้ยงอยู่ก็สบายใจ พอเขาเอาหลานไปก็เป็นทุกข์กลุ้มอกกลุ้มใจ ต่อไปไม่มีหลานจะเลี้ยงแล้ว

ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ทุกข์เรื่องนี้มันเกิดจากอะไร ก็เพราะไม่เข้าใจในสัจธรรมอันเป็นหลักความจริงของโลก เป็นหลักความจริงของชีวิต เราไม่ได้คิดถึงความจริงทั้งหลายเหล่านั้นให้เข้าใจชัดเจน เลยไปเกิดความยึดถือขึ้น

ความยึดถือนี้เป็นสิ่งที่สร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นในใจของเรา ยึดถือว่าเป็นลูกของฉัน หลานของฉัน เงินของฉัน ทองของฉัน อันนั้นอันนี้เป็นของฉันทั้งนั้น นึกอย่างนี้เขาเรียกว่านึกผิดไปจากความจริง

ความจริงนั้นมันเป็นอย่างไร “ความจริงสิ่งทั้งหลายนี้ไม่ใช่ของใคร”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในธรรมะบทหนึ่งว่า คนเราคิดว่าสิ่งนั้นเป็นของตน สิ่งนี้เป็นของตน เช่น คิดว่าทรัพย์มีอยู่ ของนั้นมีอยู่ การคิดเช่นนี้ไม่ถูกต้อง เพราะว่าตนของตนก็ยังไม่มี แล้วจะเอาสิ่งนั้นมาจากไหน

คำบาลีว่า
”ปุตตา นัตถิ ธะนะนัตถิ อิติ พาโล วิหัญญะติ กุโต ปุตตากุโต ธะนัง”
แปลว่า “คนเขลาคิดว่าบุตรของฉัน ทรัพย์ของฉัน แล้วก็เข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นของตัวตลอดไป
เนื้อแท้ตัวของตัวก็ยังไม่มี แล้วสิ่งนั้นมันจะมีได้อย่างไร”

อันนี้มันลึกซึ้ง ถ้าฟังเผินๆ ก็อาจจะมองไม่เห็น เราต้องคิด เพื่อให้เห็นจริง ว่ามันไม่มีอย่างไร

มันไม่เป็นของเราอย่างไร ต้องหมั่นคิดนึกตรึกตรองในปัญหาเหล่านี้

หลักที่เราจะนำมาคิดก็มีอยู่ ๓ หลัก อันเป็นหลักธรรมดาธรรมชาติที่มีอยู่ตลอดเวลา คือ

๑. ความไม่เที่ยง
๒. ความเป็นทุกข์
๓. ความเป็นอนัตตา
 คือ ที่ไม่ใช่ของตัวที่แท้จริง

ถ้าเราหมั่นเอาความคิดเหล่านี้มาคิดบ่อยๆ ก็จะมองเห็นชัดเจนขึ้น คือ เห็นว่ามันไม่เที่ยงจริง มันมีความทุกข์เพราะเข้าไปยึดถือจริง มันไม่มีตัวตนที่แท้จริง มีแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็ไหลไปชั่วขณะหนึ่งๆ ตามเรื่องตามราวของมันเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรที่เรียกว่า เป็นตัวตนที่แท้จริงถาวร อันควรจะเข้าไปจับไปเกาะว่าเป็นตัวเราเป็นของเราขึ้นมา อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องคิดนึกตรึกตรองบ่อยๆ พิจารณาบ่อยๆ

สมมติว่า เราปลูกกุหลาบไว้กระถางหนึ่ง เราไปใส่ปุ๋ยรดน้ำให้มัน เราก็จะเห็นว่ามีดอกเล็กๆ เป็นดอกตูมออกมานิดเดียว ดอกตูมนั้นค่อยโตขึ้น พอโตขึ้นมาแล้วมันก็แย้มออกมาหน่อยหนึ่ง แล้วต่อมามันก็บานออก เป็นดอกสวย เราก็ชมว่า แหม.. ดอกใหญ่ดี สวยงาม สีก็งาม กลิ่นก็หอม เราก็ชอบใจ เพลิดเพลินอยู่กับดอกกุหลาบนั้น เราไม่ได้คิดว่า ดอกกุหลาบนี้มันจะเป็นอะไรต่อไป

ถ้าดูต่อไปอีกหน่อย บางทีวันเดียวเท่านั้นแหละ ดอกกุหลาบนั้นกลีบนอกชักจะเหี่ยว มันเหี่ยวที่ริมน้อยๆก่อน สีไปก่อน ต่อไปก็เหี่ยวทั้งกลีบ ไม่เท่าใดกลีบนั้นก็ร่วงหล่น ผลที่สุดก็เหลือแต่ก้าน ดอกกุหลาบนั้นหายไปแล้ว และเมื่อหล่นลงไปในกระถางหรือที่ดินแล้ว มันก็จมดินหายไป

ดอกกุหลาบที่เราเข้าไปยึดถือว่าสวยงาม กลิ่นหอมน่ารักนั้น มันหายไปไหน มันก็หายไปตามเรื่องของมัน

เพราะว่ามันเกิดขึ้นจากการปรุงแต่ง คือว่า เครื่องปรุงแต่งหมดมันก็หายไป ไม่มีอะไรที่เป็นตัวจริงของดอกกุหลาบนั้น

ถ้าเราเพ่งมองอย่างนี้ก็จะเกิดปัญญาขึ้นมาได้ว่า อ้อ..ร่างกายเราก็เหมือนกับดอกไม้ เราเกิดมาเป็นเด็กน้อยๆ แล้วค่อยเจริญเติบโตขึ้นโดยลำดับ ผู้หลักผู้ใหญ่ชอบอกชอบใจ พอเห็นหลานยิ้มก็ชอบใจ หลานกินได้ก็ชอบใจ แต่พอหลานป่วยหรือเป็นอะไรไปบ้าง ก็วุ่นกันไปทั้งบ้าน แล้วใจก็ไม่สบาย คุณยายก็เป็นทุกข์ คุณตาก็เป็นทุกข์ แม่ก็เป็นทุกข์ คนใช้ก็พลอยเป็นทุกข์ไปกับเขาด้วย เพราะต้องวิ่งว่อนเที่ยวเรียกหมอมารักษา เรื่องหลานไม่สบายนั้นเป็นทุกข์ขึ้นมาแล้ว มันเป็นอย่างนี้

ความทุกข์อย่างนี้จะเกิดขึ้นแก่ใครเมื่อใดก็ได้ ในเมื่อสิ่งนั้นเปลี่ยนสภาพไป แต่ถ้าเราเข้าใจกฎความจริงว่า อ้อ.. สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนได้ สิ่งทั้งหลายไม่มีความมั่นคงถาวร เราจะไปตู่เอาว่า จงเป็นอย่างนั้นจงเป็นอย่างนี้ มันจะเป็นตามใจเราได้ที่ไหน เพราะสิ่งทั้งหลายไม่อยู่ในอำนาจของใคร มันต้องไปตามเรื่องของมัน มันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างนั้น

ถ้าเรามีธรรมะเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ เราก็พอคิดได้ เช่นว่า หลานป่วยก็คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา เราไม่ต้องเป็นทุกข์เรื่องความป่วย หน้าที่ของเราจะทำอย่างไร เราก็ต้องเอาหลานไปหาหมอโดยเร็ว ไปให้หมอรักษา เวลาอุ้มหลานไปหาหมอ อย่าอุ้มไปด้วยความทุกข์ ถ้าอุ้มไปด้วยความทุกข์ก็เหมือนกับอุ้มกองไฟไป เราก็เป็นทุกข์ไปตลอดทาง หมอตรวจแล้ว เขาก็ให้ยารักษา มันต้องรอเวลา กินยาแล้วรออีกสักวันสองวัน ความไข้มันก็จะค่อยเบาบางไปเอง

อย่าใจร้อน อย่าด่วนจะให้หายเร็วๆ แต่เราต้องรู้ว่ามีเกิด แล้วต้องมีดับ เมื่อเป็นแล้วมันก็หายได้ แต่ว่าสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับเวลา เราต้องนั่งดูด้วยความอดทนด้วยใจเย็น หลานป่วยยายก็ไม่ต้องไปป่วยกับหลาน ลูกป่วยแม่ก็ไม่ต้องไปป่วยกับลูกด้วย

ทีนี้ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมะ ลูกป่วย แม่ป่วย พ่อป่วย ป่วยหมดทุกคน ลูกป่วยทางกาย พ่อแม่ป่วยทางจิตใจ นั่งเป็นทุกข์ กระสับกระส่าย คนใช้ในบ้านก็พลอยรับทุกข์ เพราะว่าแม่บ้านพ่อบ้านดุเอาด้วย นี่มันไปกันใหญ่ ความทุกข์มันเต็มบ้าน เพราะไม่ได้ใช้ธรรมะเป็นหลักพิจารณา

ถ้าได้ใช้ธรรมะเป็นหลักพิจารณาก็สบายใจ ไม่ต้องเป็นทุกข์ในเรื่องนั้นมากเกินไป ถึงบทตัวเราป่วยเองบ้างก็ขอให้มันป่วยแต่กาย อย่าให้ใจป่วยเข้าไปด้วย ร่างกายเจ็บปวด แต่อย่าให้ใจเข้าไปเจ็บปวด เราต้องรู้จักแยกความรู้สึกนั้นออกจากกันได้พอสมควร ก็จะมีความสบายตามควรแก่ฐานะ