วันอาทิตย์, 8 ธันวาคม 2567

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : กฎแห่งการใช้ชีวิตให้สุขสงบสำเร็จ ตามแนว “พระพุทธเจ้า”

สูตรสำเร็จในการใช้ชีวิต ที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้ สรุปออกมาเป็นหลักปฏิบัติง่ายๆ ดังนี้คือ ให้คิดดี พูดดี ทำดี คบคนดี และไปสู่สถานที่ดี

นั่นหมายถึง อย่าไปบ่นเพ้อ ตัดพ้อ นินทาว่าร้าย ติเตียนใคร อะไรที่เราไม่ชอบ ไม่ต้องการ ก็อย่าคิดถึง พูดถึง หรือเข้าไปคบหาสุงสิง เหมือนที่โค้ชทางด้านจิตวิทยาพัฒนาชีวิตท่านหนึ่งกล่าวไว้

“แทนที่เราจะไปบ่นว่าสิ่งนั้นไม่ถูกใจเรา สิ่งนี้ไม่ถูกใจเรา ลองเปลี่ยนมาพูดให้ชัดเลยว่า อะไรที่เรารู้สึกถูกใจ และอะไรที่เราต้องการให้มันเกิดขึ้น และเอาพลังใจของเราจดจ่อเข้าไปที่สิ่งนั้น ต้นไม้ต้นไหนที่เรารดน้ำ ต้นไม้ต้นนั้นจะเติบโต เราทุ่มเทพลังใจของเราไปโฟกัสอยู่กับสิ่งใด สิ่งนั้นก็จะได้พลังงานจากเราเพิ่มมากขึ้น”

ฉะนั้น ให้คิดเป็นสูตรสำเร็จง่ายๆ ดังนี้คือ อะไรที่มันไม่ดี จัดเป็น “อบายมุข” ก็อย่าเข้าใกล้ อย่าไปทุ่มเทให้ความสนใจ

“อบาย” แปลว่า ความเสื่อม ความพินาศ “มุข” คือ ปากทาง หรือช่องทาง ฉะนั้น “อบายมุข” จึงแปลรวมกันว่า “ทางที่นำไปสู่ความเสื่อม ความพินาศ” ปากทางนั้นเปิดรอเราอยู่ตลอดเวลา มันอยู่ที่ว่าเราจะเข้าไปหรือไม่

ขออย่าไปยุ่งกับเรื่องราวที่ไม่ดีเหล่านี้ ชีวิตก็จะดีและเป็นคนที่มีอนาคต ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ พูดง่ายๆว่า ตัดส่วนเกินที่ไม่ดีทิ้งไป

เหมือนที่เคยมีคนถาม “ไมเคิล แองเจโล” ศิลปินนักแกะสลักหินอ่อนชาวอิตาลี ชื่อก้องโลกว่า “ทำไมแกะสลักรูปเดวิดได้สวยงามสมจริงปานนั้น?”

เขาตอบว่า “ขณะที่หินก้อนใหญ่ถูกส่งมาถึง ผมมองเห็นรูปของเดวิดอยู่ในหินก้อนนั้นแล้ว สิ่งที่ผมต้องทำต่อไปจากนั้นก็คือ สกัดเอาส่วนที่ไม่ใช่เดวิดทิ้งไป!”

เราทุกคนล้วนกำลังมุ่งมั่นแกะสลักรูปชีวิตตัวเอง ฉะนั้น ต้องทำเหมือนแองเจโลแกะสลักรูปเดวิด คือสกัดเอาส่วนที่เป็นลบออกไปจากชีวิต โดยเอ่ยคำว่า “ไม่”

คำว่า “ไม่” ในที่นี้หากพูดถึงคนพาลก็คือไม่คบ หรือหากเป็นสถานที่ไม่ดี เป็นที่อโคจรก็คือไม่ไป เป็นต้น ในทางกลับกัน อะไรที่ชอบ ปรารถนา และเห็นว่าดีเหมาะควรกับเรา ก็จงยกย่อง ชื่นชม สรรเสริญ พูดถึงสิ่งนั้น คิดถึงสิ่งนั้น ทำอยู่กับสิ่งนั้น หรือคบหาสมาคมอยู่กับบุคคลนั้น

เหมือนการเลือกคัดผลไม้ที่กองรวมกันในเข่ง เราคัดเอาแต่ลูกดีไว้ ส่วนลูกเน่าเสีย กินไม่ได้ ไม่เอา ต้องคัดทิ้ง เพื่อให้ชีวิตเราดำเนินอยู่บนสูตรสำเร็จ ที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้ในจักกสูตร ว่า

“ทรัพย์สินสมบัติ ยศ ชื่อเสียง และความสุข
ย่อมหลั่งไหลมาสู่นรชน ผู้อยู่ในถิ่นที่ดี
ผูกไมตรีกับอริยชน สมบรูณ์ด้วยการตั้งตนไว้ชอบ
ได้ทำความดีไว้แล้วในกาลก่อน”

นอกจากนี้ในมงคล 38 ประการ การไม่คบคนพาล คบแต่บัณฑิต จัดเป็นมงคลในข้อแรกๆ ส่วนการอยู่อาศัยในสถานที่ดี หรือไปสู่สภาพแวดล้อมที่ดี ก็จัดเป็นมงคลอีกข้อหนึ่งเช่นกัน และเพื่อความกระจ่างในเรื่องสถานที่ คำอธิบายมีไว้แล้วในนิทานเรื่องต่อไปนี้

วันหนึ่งเณรน้อยมาหาพระอาจารย์ แล้วถามว่า “พระอาจารย์ คุณค่าในตัวของผมคืออะไร?”

พระอาจารย์บอก “เจ้าจงไปที่สวนหลังวัด เก็บหินก้อนใหญ่มา 1 ก้อน เอาไปวางขายที่ตลาด ถ้ามีคนถามราคา เจ้าห้ามตอบ แค่ชู 2 นิ้ว ถ้าเขาต่อรองก็อย่าขาย เอากลับมา แล้วอาจารย์จะบอกว่า คุณค่าในตัวของเจ้าคืออะไร”

วันรุ่งขึ้น เณรน้อยอุ้มหินไปวางขายที่ตลาด คนจ่ายตลาดเดินผ่านไปมา ต่างแปลกใจ แต่แล้วก็มีแม่บ้านเดินเข้ามาถาม

“ก้อนหินขายเท่าไหร่” เณรน้อยชู 2 นิ้ว

“2 เหรียญ” แม่บ้านเอ่ยถาม แต่เณรน้อยสั่นหัว

“งั้น 20 ก็ได้ จะเอาไปทับผักกาดดอง”

เณรน้อยคิดในใจ “โอ้โฮ หินไร้ค่านี้ขายได้ตั้ง 20 เหรียญ บนเขาวัดข้ามีตั้งเยอะแยะ” เณรน้อยไม่ขายตามที่พระอาจารย์บอก แล้วอุ้มหินกลับไปหาพระอาจารย์ที่วัด

“อาจารย์ๆ วันนี้มีแม่บ้านมาให้ราคา 20 เหรียญจะซื้อหินของข้า แล้วอาจารย์บอกได้หรือยังว่า คุณค่าในตัวของข้าคืออะไร?”

อาจารย์บอก “ไม่ต้องรีบ พรุ่งนี้เอาไปวางไว้ในพิพิธภัณฑ์ ถ้ามีคนถามราคา ไม่ต้องตอบ แค่ชู 2 นิ้ว ถ้าเขาต่อรอง อย่าขาย เอากลับมา แล้วมาคุยกันใหม่”

วันต่อมาในพิพิธภัณฑ์ ก็มีคนมุงล้อมดูแล้วคุยกันเองว่า “หินธรรมดาก้อนหนึ่ง มีค่าอะไรมาอยู่ในพิพิธภัณฑ์” อีกคนบอก “มาวางไว้ในพิพิธภัณฑ์ได้ อั๊วะว่ามันก็ต้องมีคุณค่านั่นแหละ แต่ตอนนี้เราอาจจะยังไม่รู้” แล้วก็มีคนเอ่ยถามว่า

“เณรน้อย หินก้อนนี้ขายเท่าไหร่?” เณรน้อยชู 2 นิ้ว

“200 เหรียญ” เณรน้อยสั่นหัว

“งั้นก็ 2,000 แล้วกันขาดตัว อั๊วะกำลังหาหินไปแกะสลักพระพุทธรูป”

เณรน้อยตกใจแต่ก็ไม่ขายตามที่อาจารย์บอก อุ้มหินวิ่งแจ้นไปหาพระอาจารย์ด้วยความดีใจ

“อาจารย์ๆ โห…! วันนี้มีคนให้ราคา 2,000 เหรียญ จะซื้อหินของข้า วันนี้อาจารย์ต้องบอกข้าแล้วล่ะ ว่าคุณค่าในตัวของข้าคืออะไร?”

พระอาจารย์หัวเราะชอบใจแล้วบอก “พรุ่งนี้เอาไปที่ร้านขายวัตถุโบราณ ทำเหมือนเดิม แล้วเอากลับมา ครั้งนี้อาจารย์จะเฉลยคำตอบแน่นอน”

วันต่อมา เณรน้อยเอาหินไปตั้งที่ร้านขายวัตถุโบราณ สักพักก็มีคนมามุงดู เสียงชายคนหนึ่งพูดว่า “นี่มันหินอะไรวะ มาจากถิ่นไหน ของราชวงศ์ใด ใช้ทำอะไรเนี่ยะ…?”

สุดท้ายก็มีคนมาถามราคา “เณรน้อย หินก้อนนี้ขายเท่าไหร่?”

เณรน้อยชู 2 นิ้ว “20,000 เหรียญ”

เณรน้อยตกใจอ้าปากค้าง อุทานเสียงหลง “หา!”

อีตาคนนั้นนึกว่าตัวเองให้ราคาต่ำไป ทำให้เณรอารมณ์เสีย จึงรีบแก้ไขทันทีว่า “ไม่ๆ ข้าพูดผิด ข้าจะให้เจ้า 200,000”

เณรน้อยได้ยินดังนั้น จึงอุ้มหินวิ่งกลับไปหาพระอาจารย์ทันที “อาจารย์ๆ วันนี้เรารวยแล้ว มีโยมจะให้ราคาตั้งสองแสน เพื่อซื้อหินก้อนนี้ แล้วตอนเนี้ยะ อาจารย์จะบอกได้หรือยัง ว่าคุณค่าในตัวของข้าคืออะไร?”

อาจารย์ลูบหัวเณรน้อย พูดด้วยน้ำเสียงเอ็นดูว่า “เจ้าหนูน้อย คุณค่าในตัวเจ้าก็เหมือนหินก้อนนี้ ถ้าวางตัวเองอยู่ในตลาดสด เจ้าก็มีค่า 20 เหรียญ ถ้าเอาไปวางในพิพิธภัณฑ์ เจ้าก็มีค่า 2,000 ถ้าไปอยู่ในร้านขายวัตถุโบราณ เจ้าก็มีค่า 2 แสน จำไว้นะเจ้าหนูน้อย คนเราเมื่อเวทีชีวิตต่างกัน ตำแหน่งการวางตัวต่างกัน คุณค่าของคนก็เปลี่ยนไป”

เหตุนี้เองพระพุทธองค์จึงทรงแนะนำให้เรานำพาตนเองไปสู่สถานที่ดี เพราะนี่เป็น “กฎ” หรือสัจธรรมที่ใช้ได้ผลกับทุกชีวิต

หนังสืออมตะขายดีระดับเบสเซลเลอร์ “10 คัมภีร์นักขายผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก” โดย อ๊อกแมน ดิโน่ ถอดความภาษาไทยโดย บัณฑิต อึ้งรังษี และทีมงาน ระบุว่า “ทฤษฎี หรือประสบการณ์ ก็ไม่ต่างจากแฟชั่น คือหลักการที่ใช้ได้ผลในวันนี้ อาจใช้ไม่ได้ผล และไม่เข้าท่าในวันพรุ่งนี้ มีเพียงสัจธรรม(ความจริง) หรือกฎแห่งความสำเร็จเท่านั้นที่เป็นอมตะ ปรับใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย โดยที่กฎส่วนใหญ่ไม่ได้เน้นไปที่ “ความสำเร็จ” แต่สอนเน้นมาที่การหลีกเลี่ยงความล้มเหลว มากกว่าการตักตวงความสำเร็จ เพราะความสำเร็จก็เป็นเพียง “สภาพจิต” อย่างหนึ่ง เท่านั้น แม้ในหมู่นักปราชญ์นับพันคน ยังไม่มีสองคนไหนที่ให้นิยามความสำเร็จเหมือนกัน แต่ความล้มเหลวมีความหมายแค่อย่างเดียว คือการไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะเป็นอะไร”

สูตรสำเร็จแห่งการใช้ชีวิตนี้ก็เช่นเดียวกัน ขอย้ำอีกครั้งว่า

“อะไรที่ไม่ดี ก็อย่าไปคิด อย่าพูด อย่าทำ อย่าไปคบหาสุงสิง จงคิด พูด ทำ แต่สิ่งที่ดี ที่เราต้องการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น”

นี่แหละคือกฎแห่งการใช้ชีวิตให้สุขสงบสำเร็จ ตามแบบฉบับที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำไว้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 187 กรกฎาคม 2559 โดย ทาสโพธิญาณ)