วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

บุญคืออะไร? ทำแบบไหนจึงจะได้บุญแรง

03 พ.ค. 2024
78

บุญคืออะไร? ทำแบบไหนจึงจะได้บุญแรง

เชื่อว่าชาวพุทธแทบทุกคน คงพอเข้าใจกันอยู่แล้วว่า การทำบุญคืออะไร และคงมีภาพในใจ เช่น ตักบาตร ถวายภัตตาหารให้พระ ปล่อยปลา ให้อาหารปลา ทำบุญบริจาค บริจาคพวงหรีด และอีกมากมาย ผุดขึ้นมา ทั้งนี้ ในบรรดาการทำบุญทั้งหลายที่ว่ามา การทำบุญแบบไหนที่ได้อานิสงส์แรง?

หากจะตอบคำถามนี้ให้ได้ดี เรากลับมาที่จุดเริ่มต้นหรือความหมายของการทำบุญกันก่อนดีกว่า

การทำบุญคืออะไร
การทำบุญ หมายถึง การประกอบให้ความดีเกิดขึ้น ซึ่งมาจากคำว่า “บุญ” (บาลี: ปุญฺญ) หรือ บุณย์ (สันสกฤต: ปุณฺย) ที่หมายถึง ความดี ตรงกันข้ามกับคำว่า บาป (บาลี: อปุญฺญ)

ในพระไตรปิฎกได้ระบุวิธีการทำบุญ ไว้ 3 ประการด้วยกัน ได้แก่

ทานมัย หรือ การให้ทาน
หมายถึง การสละ การมอบ การบริจาคสิ่งต่าง ๆ ให้กับผู้อื่นหรือแก่สัตว์อื่น ไม่ว่าจะเป็นทำบุญเลี้ยงพระ การตักบาตร ถวายสังฆทาน การบริจาคเงิน/สินทรัพย์ การทำโรงทาน การบริจาคอาหาร เป็นต้น

สีลมัย หรือ การถือศีล
หมายถึง การประพฤติปฏิบัตตนให้อยู่ในศีล ไม่ว่าจะเป็นศีล 5 ศีล 8 หรือการถือศีลของพระสงฆ์ 227 ข้อ

ภาวนามัย หรือ การเจริญภาวนา
หมายถึง การฝึกอบรมและขัดเกลาจิตใจของตัวเองให้ใสสะอาดยิ่งขึ้น อาจทำได้ผ่านการสวดมนต์ การเจริญสมาธิ การเจริญวิปัสนาหรือการมองโลกตามความเป็นจริง

การทำบุญทั้งสามข้อข้างต้นถือเป็นเสาหลักของการทำบุญในพุทธศาสนา เรียงจากการทำบุญที่ทำได้ง่ายไปยาก โดยเป้าหมายของการทำบุญนั้น คือ การขัดเกลาจิตใจให้สะอาดเพื่อให้ได้ “ปัญญา” ที่จะใช้หลุดพ้นจากทุกข์หรือเข้าถึงนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชาวพุทธนั้นเอง

ว่าด้วย “บุญกิริยาวัตถุ 10” การทำบุญ มีอะไรบ้าง ?

นอกจากการทำบุญ “ทาน ศีล สมาธิ” แล้ว ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาสังคีติสูตร ยังได้ขยายความเกี่ยวกับวิธีทำบุญเพิ่มเติม เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ 10” มีดังนี้

การให้ทาน (ทาน)
หมายถึง การเผื่อแผ่แบ่งปันสินทรัพย์ ข้าวของเครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใดให้กับผู้อื่น เช่น การตักบาตร การถวายสังฑทาน การให้ทานกับผู้อื่น การเลี้ยงอาหารผู้อื่น การบริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้อื่น

การรักษาศีล (สีล)
หมายถึง การประพฤติตนให้อยู่ในศีลหรือข้อบัญญัติทางศาสนาที่กำหนดให้เราสำรวมกายและวาจา ไม่ให้ไปเบียดเบียนผู้อื่นหรือสิ่งมีชีวิตอื่น

การภาวนา (ภาวนา)
หมายถึง การมุ่งฝึกฝนจิตใจให้เกิดปัญญา สามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น การนั่งสมาธิ การวิปัสนา การมองและพิจารณาโลกตามความเป็นจริง การสวดมนต์ ฯลฯ เพื่อน้อมนำจิตใจของเราไปสู่สิ่งที่มงคล

การอ่อนน้อมถ่อมตน (อปจายนะ)
ไม่ว่าจะเป็นการอ่อนน้อมต่อผู้อาวุโส การอ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม รวมไปถึงการให้เกียรติให้ความเคารพต่อผู้อื่น ก็ถือเป็นการทำบุญอีกอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน เพราะการอ่อนน้อมถ่อมตนคือการขัดฝึกประพฤติตนและการขัดเกลาจิตใจเช่นกัน

การขวนขวายช่วยทำในกิจที่ชอบ (เวยยาวัจจะ)
หมายถึง กระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือผู้อื่นหรือสังคม เช่น ช่วยถือของ ช่วยเพื่อนทำงาน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ช่วยสอดส่องดูแลบ้านของเพื่อนบ้านเมื่อเขาไม่อยู่ ช่วยทำงานต่าง ๆ ในงานเลี้ยงพระ ฯลฯ บุญข้อนี้คล้ายกับการทำทานมัย ช่วยให้เกิดความรักความเมตตาและความสามัคคีขึ้นได้

การให้ผู้อื่นมาร่วมทำบุญกับเรา (ปัตติทาน)
หมายถึง การชวนหรือเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้มาร่วมทำบุญกับกิจกรรมที่เราทำอยู่ เช่น ชวนให้มาร่วมทำบุญเลี้ยงเพลพระ เปิดโอกาสให้คนร่วมบุญกฐิน/ทอดผ้าป่า ฯลฯ รวมไปถึงการบอกบุญให้ผู้อื่นได้ร่วมยินดีหรือร่วมอนุโมทนาด้วย

การอนุโมทนาส่วนบุญ​ (ปัตตานุโมทนา)
หมายถึง การร่วมยินดีในการทำความดีหรือบุญที่ผู้อื่นได้ทำไป รู้สึกชื่นชมยินดีตาม ไม่คิดอิจฉาในความดีของผู้อื่น ก็ช่วยให้อิ่มใจอิ่มบุญไปด้วย

การฟังธรรม (ธัมมัสสวนะ)
เป็นวิธีการทำบุญเพื่อเพิ่มพูนความรู้และปัญญาเพื่อที่จะพ้นทุกข์ ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องไปวัดเพื่อฟังพระเทศน์เท่านั้น การฟังธรรมยังสามารถทำได้ที่บ้าน ผ่านการฟังธรรมเทศนาบนอินเทอร์เน็ต เทปเสียง การอ่านหนังสือธรรมะ รวมไปถึงการเสวนาธรรมากับผู้อื่น

การแสดงธรรม (ธัมมเทศนา)
หมายถึง การให้ข้อคิด หลักธรรม ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นการพูดถึงเพียงหลักธรรมตามพระไตรปิฎกเท่านั้น อาจเป็นการแบ่งปันวิธีคิดวิธีจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเพื่อช่วยให้ผู้ฟังได้สติปัญญาในการก้าวผ่านความทุกข์

การทำความเห็นให้ถูกต้อง (ทิฏฐุชุกัม)
หรือการไม่ถือทิฐิ ไม่เอาความเห็นของตนเป็นใหญ่ ยอบรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น รับฟังและมองสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ไม่เจือปนไปด้วยอคติหรือความลำเอียงทั้งจากความชอบหรือเกียจ

จากวิธีการทำบุญทั้งหมด 10 ข้อ จะเห็นได้ว่า เราไม่จำเป็นต้องใช้สินทรัพย์ในการทำบุญเลยก็ได้ การทำบุญสามารถทำได้ง่าย ไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย ยกตัวอย่างเช่น การอ่อนน้อมถ่อมตนและการทำความเห็นให้ถูกต้อง ที่สามารถทำได้ในทันที โดยไม่ต้องใช้เงินหรือเวลา แม้เป็นคนยาก ก็สามารถทำบุญได้เช่นกัน