วันศุกร์, 13 กันยายน 2567

ประวัติหลวงปู่พิมพ์มาลัย วัดหุบมะกล่ำ พระเกจิอาจารย์เจ้าตำหรับวิชาเข็มทองคะนองฤทธิ์อันลือลั่น

ประวัติหลวงปู่พิมพ์มาลัย วัดหุบมะกล่ำ พระเกจิอาจารย์เจ้าตำหรับวิชาเข็มทองคะนองฤทธิ์อันลือลั่น

ปฐมบท อานุภาพแห่งเข็มทองคนองฤทธิ์

สิ่งที่จะนำเสนอต่อท่านผู้อ่านต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวของไสยเวท ที่เป็นภูมิปัญญาสยามที่อาจหาญกล่าวได้เต็มอย่างปากว่า เป็นของจริง และพิสูจน์ที่ไหน เมื่อใหร่ก็ได้ ไม่ใช่ลมปากที่พ่นออกไป และหาสาระพิสูจน์ไม่ได้ จนลูกหลานชาวสยามบางหมู่ที่หลงไหลภูมิปัญญา ขยะของชาติตะวันตกที่ไม่ใช่เครือญาติ ของพวกเขากล่าวหยามหยันสิ่งที่พวกเขาไม่เคยสัมผัส หรือจะคิดจะเข้ามาพิสูจน์จน เป็นการปรามาท บรรพชนเทือกเถาเหล่ากอของเขาเอง วิชาไสยเวทที่กล่าวถึงนั้น คือวิชาเข็มทองคนองฤทธิ์ ภูมิปัญญาตันตระแห่งสยามในอดีต ที่ผ่านพ้นกาลเวลามาพิสูจน์สัจจะแห่งศาสตร์ในปัจจุบัน

วิชาเข็มทองที่กล่าวถึงอย่าเพิ่งคิดว่า เป็นการฝังเข็มเพื่อรักษาโรคอย่างชาวจีนโพ้นทะเล เขาทำกัน แต่เป็นวิชาไสยศาสตร์สาขาหนึ่ง ที่มีอานุภาพอเนกประการ ซึ่งก่อนจะสาธยาย ถึงรายละเอียดจะขอนำท่านผู้อ่านไปรู้จัก ประวัติพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่ง แม้ว่าท่านจะ ละสังขารแล้วแต่เรื่องราวของท่าน เป็นตำนานสะท้านวงการไสยเวท สยามมาจนถึงปัจจุบัน พระเถระผู้ทรงอิทธิจิตรูปนั้นมีนามว่า หลวงปู่พิมพ์มาลัย แห่งวัดหุบมะกล่ำ ปรามาจารย์ วิชาเข็มทองคนองฤทธิ์ แห่งสยามยุค รัตนโกสินทร์

วัดหุบมะกล่ำตั้งอยู่บ้านหนองรี ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ถ้าเราเดินทางจากกรุงเทพฯไปทางถนนเพชรเกษมก็อยู่ราวประมาณ 70 กว่ากิโลเมตร วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่จะมีมาแต่ครั้งสมัยอยุธยาหรือไม่นั้นยังไม่พบหลักฐาน บรรดาโบราณวัตถุที่ พบก็บอกหลักฐานเพียงว่าสมัยรัตนโกสินทร์แต่วัดนี้นับว่าน่าจะก่อตั้งมานานกว่า เพราะพบตำราสรรพวิชาสาขาต่างๆมากมาย ทั้งที่เป็นภาษาขอมและมอญก็มีให้เห็นและที่มีอายุนานนับร้อยปีก็หลายเล่ม

หลวงปู่พิมพ์ (มาลัย) พื้นเพท่านเป็นคนหนองรีโดยกำเนิด โยมบิดาชื่อว่า พา โยมมารดาชื่อ อ่วม เป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี ท่านเกิดในสกุล มาลัย ประมาณ พ.ศ.2441 ที่บ้านหนองรีนี่เอง ท่านเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 5 คน ชีวิตในวัยเยาว์ท่านดำเนินอย่างเรียบง่ายเหมือนชาวชนบททั่วๆ เมื่ออายุครบเกณฑ์ท่านได้เข้าเป็นทหารรับใช้ชาติในหน่วยเสนารักษ์ในจังหวัดราชบุรีและอยู่ต่อเรื่อยมาจนประมาณ ๖ ปี ก็เกิดเบื่อหน่ายในฆารวาสวิสัย ชะรอยจะเป็นบารมีที่ท่านสร้างสมมาในอดีตจึงมีวาสนากับผ้ากาสาวพัสตร์นิยมในเพศบรรพชิตจึงลาออกจากทหาร มาอุปสมบทที่วัดโตนดหลวง จังหวัดเพชรบุรี โดยมี พระอาจารย์แช่ม วัดบางนา เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปูทองศุข อินทโชโต วัดโตนดหลวง(พระเถระรูปนี้ท่านเป็นผู้ทรงวิทยาคมที่ยิ่งยงมากท่านหนึ่ง) เป็นพระกรรมวาจา เมื่ออุปสมบทแล้ว พระอุปัชฌาย์ให้ฉายาว่า มาลโย เมื่อท่านหลวงปู่พิมพ์ซึ่งขณะนั้นเป็นภิกษุใหม่ก็ได้ร่ำเรียนพระวินัย และปริยัติตามแนวทางแห่ง พระพุทธศาสนาอย่างคร่ำเคร่ง แล้วท่านยังได้รับความเมตตาถ่ายทอด วิชาไสยเวทย์จากหลวงปู่ทองศุข วัดโตนดหลวง

ซึ่งถือว่าเป็นพระคณาจารย์ ที่มีชื่อเสียงและบารมีมากรูปหนึ่ง ในสยามขณะนั้น ถึงขนาดมีการร่ำลือว่าผู้ที่มีบุญบารมีสูงยิ่งของประเทศในขณะนั้น ยังมาฝากตัวเป็นศิษย์ จนเป็นตำนานเล่าขานกันมาถึงปัจจุบัน อาจเป็นเหตุที่หลวงปู่พิมพ์ ท่านมีศักดิ์เป็นหลานสนิทของหลวงปู่ทองศุข วัดโตนดหลวง โดยที่โยมมารดา ของท่านเป็นพี่สาวหลวงปู่ทองศุข จึงทำให้ท่านได้รับความเมตตามากเป็นพิเศษ ท่านหลวงปู่พิมพ์ แม้จะมีศักดิ์เป็นหลานหลวงปู่ทองศุขทท่านก็ไม่ถือดี กลับตั้งมั่นมุ่งมานะฝึกฝนเล่าเรียนสรรพวิชาที่หลวงปู่ทองศุข วัดโตนดหลวง เมตตาสั่งสอนให้โดยไม่ปิดบังอำพราง ด้วยความวิริยะ และบุญบารมี ที่ท่านหลวงปูพิมพ์ สั่งสมมาในอดีต ไม่นานท่านก็สำเร็จวิชาต่างๆทำได้เข้มขลังจนเป็นที่ไว้วางใจของหลวงปู่ทองศุข วัดโตนดหลวง ขนาดให้หลวงปู่พิมพ์(ซึ่งยังเพิ่งบวชได้ไม่นาน) เป็นอาจารย์สักยันต์ครูหลวงปู่ทองศุข(ตอนท่านก็ยังมีชิวิตอยู่) จนรวบรวมปัจจัยก่อสร้างกุฏิวัดโตนดหลวง ได้ถึงสองหลัง(พ.ศ.2481) นับว่าท่านหลวงปู่พิมพ์เป็นผู้หนึ่ง ที่สำเร็จวิทยาคมในตำหรับ หลวงปู่ทองศุข

โดยหลวงปู่ทองศุขเอง เป็นผู้ให้ความไว้วางใจ หลังจากที่ท่านได้สำเร็จวิทยาคุณในสายหลวงปู่ทองศุข วัดโตนดหลวงแล้ว ท่านยังเป็นผู้ใฝ่การศึกษาก็ขวนขวายหา พระอาจารย์องค์อื่นๆเพื่อร่ำเรียนวิทยาคมต่อไป ในสมัยนั้นมีพระเถระรูปหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรีที่ยิ่งยง ด้วยวิทยาคมที่แปลกประหลาด หาวิทยาคมสายใดจะเทียบเคียงได้ยาก ด้วยวิทยาคุณ ที่ประสิทธิให้ศิษย์ มีความพิศดาร และเป็นลักษณะเฉพาะและเป็นวิชาสูงสุดทางไสยเวทสยาม แขนงหนึ่ง

หลังจากสำเร็จ วิชาเข็มทอง ท่านหลวงปู่พิมพ์ได้ธุดงค์ เพื่อฝึกฝนจิตให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ในดินแดนกระเหรี่ยงถึง 17 ปี จนพูดภาษากระเหรี่ยงได้ เรียกว่านานพอสมควรทีเดียว ในระหว่างการเดินธุดงค์ ก็คงเหมือนพระรุกขมูลท่านอื่นๆ มีเรื่องพิสดารเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งท่านก็มิได้โอ้อวดเพียงเล่าให้หมู่ศิษย์ที่ใกล้ชิดฟัง เพื่อประดับสติปัญญาเท่านั้น คราวหนึ่งท่านธุดงค์ไปบ้านทัพใต้ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้รับอาราธนาจากชาวบ้านท่านได้สร้างวัดขึ้น

ในเวลาไม่นานโดยการสนับสนุนของโยม ฉลอง วุฒิวัฒน์ และนายจุรินทร์ ล่ำซำ คหบดีผู้ใจบุญชาวพระนคร และให้ชื่อวัดนั้นว่า วัดมาลัยทับใต้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงหลวงปู่พิมพ์จนเท่าทุกวันนี้ ท่านหลวงปู่พิมพ์ธุดงค์เรื่อยมาจนราวพ.ศ.2502 โยมมารดาท่านป่วย ท่านจึงขึ้นจากวัดมาลัย เพื่อดูแลโยมมารดาท่านที่บ้านหนองรี ในช่วงนั้นพอดีวัดหุบมะกล่ำ กำลังทรุดโทรมอย่างหนัก ไม่ว่าโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ เสนาสนะและถาวรวัตถุอื่นๆ เกือบจะหาชิ้นดีแทบไม่ได้ มีหลวงตาแก่ๆชื่อหลวงตาปิ้น ปัญญาพโล(โยมตาพระอาจารย์ป้อมวัดหนองม่วง อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านหุบมะกล่ำ)องค์เดียวเท่านั้น ยิ่งทำอะไรไม่ได้มากคงปล่อยตามยถากรรม