หลวงพ่อเจริญ วัดโนนสว่าง หรือหลายท่านรู้จักกันในนาม พระครูพิพัฒน์วิทยาคม (หลวงพ่อเจริญ ฐานยุตโต) คือ หนึ่งในคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการพระสงฆ์ว่าท่านเป็นผู้หนึ่งในผู้มีความรู้ด้านตําราวิทยาคมโบราณ
หลวงพ่อเจริญ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระครูสัญญาบัตรในชื่อ “พระครูพิพัฒน์วิทยาคม” เนื่องด้วยเป็นผู้ศึกษาด้านพุทธาคมจนแตกฉาน อีกทั้งยังทำประโยชน์ในการสงเคราะห์พุทธศาสนิกชน ปลุกเสกวัตถุมงคล และเป็นเจ้าพิธีสําคัญๆ ในพิธีทางอีสานโบราณ พิธีในพิธีพุทธาภิเษก เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ศิษยานุศิษย์ด้วย โดยมีประวัติความเป็นมาของท่าน ดังนี้
หลวงพ่อเจริญ ฐานยุตโต (หลวงพ่อเจริญ วัดโนนสว่าง) ชื่อเดิม คือ เจริญ สารักษ์ เกิดวันที่ 7 เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2504 บ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ตัวท่านถือเป็นลูกหลานของพระชื่อดังอย่าง ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ แห่งวัดบรมนิวาส และหลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม วัดสิริสาลวัน
ในวัยเด็ก ท่านบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบุญญานุสรณ์ จังหวัดอุดรธานี และมีความสามารถในการอ่านเขียนคัมภีร์ใบลาน และจารอักษรธรรมอีสานได้ และยังสามารถอ่านเขียนอักษรธรรมล้านนา และอักษรไทยน้อยได้เช่นกัน แม้จะใช้เวลาในการศึกษาเพียงไม่นาน
มากไปกว่านั้น หลวงพ่อเจริญ ยังศึกษาวิชาพุทธาคม และเป็นหนึ่งในผู้รอบรู้เรื่องพระคัมภีร์ ทั้งพระสูตร อักขระปลุกเสกต่างๆ ตํารายา และตําราดวงชะตา เป็นต้น
ในเวลาต่อมา หลวงพ่อเจริญ ได้เพื่อเพิ่มพูนวิชาลงตะกรุดโทนและวิชารักษาคนที่ถูกมนตร์ทําร้าย ด้วยการถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์สมพงษ์ อีกทั้งยังเรียนวิชาลงนะหน้าทอง ลงตะกรุดหกกษัตริย์ และตะกรุดกบตายคารู กับหลวงปู่โถน พระครูสถิตธรรมรัตน์ วัดโสกแจ อีกด้วย
เมื่ออายุครบ 20 ปีได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และยังไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ท่านได้เรียนวิชาเมตตาหลวง ตําราเลขยันต์ คาถาลงตะกรุดโทน และการบริกรรมธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ นะ มะ พะ ทะ ซึ่งใช้เวลาในการศึกษาอยู่หลายปี
ต่อมา หลวงพ่อเจริญ ได้มีโอกาสมางานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม วัดสิริสาลวัน ชาวบ้านจึงร่วมกันอาราธนาหลวงพ่อเจริญให้จําพรรษาที่วัดวัดศรีสว่าง จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัด และเปลี่ยนชื่อจากวัดศรีสว่าง เป็น วัดโนนสว่าง
นับว่าหลวงพ่อเจริญ วัดโนนสว่าง หรือ พระครูพิพัฒน์วิทยาคม เป็นอีกหนึ่งพระอาจารย์ชื่อดัง ที่พุทธศาสนิกชนมีความเลื่อมใสศรัทธา และเชื่อมั่นในพุทธาคมในการปลุกเสกวัตถุมงคล รวมไปถึงการประกอบพิธีสําคัญ โดยเฉพาะพิธีทางอีสานโบราณ ที่อยู่ใกล้ชิดกับวัฒนธรรมพื้นบ้านของคนไทยมาช้านาน