วันเสาร์, 7 กันยายน 2567

อัตชีวประวัติ พล.ต.ต. ขุนพันธรักษ์ราชเดช

 

ประวัติขุนพันธ์ราชเดช

ท่าน “ขุนพันธรักษ์ราชเดช”

สำหรับประวัติของ พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธร เขต 8 เป็นนายตำรวจชาวเมืองนครศรีธรรมราช ได้สร้างเกียรติประวัติในตำแหน่งหน้าที่ จนเป็นที่รู้จักและยอมรับกันทั่วไปในภาคใต้ และในจังหวัดอื่นๆ ที่ไปดำรงตำแหน่งอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝีมือในการปราบปรามโจรผู้ร้าย นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้สนใจวิชาการทั่วไป โดยสนใจทางด้านประวัติศาสตร์คติชนวิทยาและไสยศาสตร์เป็นพิเศษ มีข้อเขียนปรากฏอยู่ในหนังสือ และวารสารต่างๆ หลายเรื่อง จนถึงปัจจุบันคนทั่วไปนิยมเรียกท่านสั้นๆ ว่า ” ท่านขุน ” 

… พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช มีชื่อเดิมว่า บุตร พันธรักษ์ เกิดเมื่อวัดที่ 18 กุมภาพันธ์ 2446 ที่บ้านอ้ายเขียว หมู่ที่ 5 ตำบลดอนตะโก อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายอ้วน นางทองจันทร์ พันธรักษ์ เริ่มเรียนหนังสือครั้งแรกกับบิดา ตั้งแต่ ก ข ก กา ไปจนจบ พออ่านสมุดข่อยได้บ้างจึงได้เข้าเรียนที่วัดอ้ายเขียวกับอาจารย์ปานซึ่งเป็นสมภาร และอาจารย์นามสมภารรูปต่อมา และที่วัดอ้ายเขียวนี้เองท่านได้เรียนกับครูฆราวาสคนหนึ่งด้วย ชื่อนายหีด เป็นชาวอำเภอสวี จังหวัดชุมพร ซึ่งอาจารย์ปานได้พามาอยู่ที่วัดนี้ เป็นผู้ที่มีความรู้ ใครๆ เรียกกันว่าหลวงหีด นายหีดได้สอนหนังสือไทยแบบใหม่ให้ คือ ใช้แบบเรียนเร็ว เล่ม 1-2-3 จนท่านขุนมี

ความรู้ในวิชาเลขและหนังสืออยู่ในเกณฑ์ดี …

หลังจากนั้นท่านจึงเข้าสู่การศึกษาระบบโรงเรียน โดยเริ่มเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดสวนป่าน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เนื่องจากท่านมีความรู้ในวิชาเลขและหนังสืออยู่แล้วก่อนที่จะเข้าโรงเรียน ดังนั้นเมื่อเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่ 1 ได้ 1 วัน ทางโรงเรียนก็เลื่อนชั้นให้เรียนในชั้นประถมปีที่ 2 และวันรุ่งขึ้นก็เลื่อนชั้นให้เรียนชั้นประถมปีที่ 3 เป็นอันว่าท่านเข้าโรงเรียนได้เพียง 3 วัน ได้เลื่อนชั้นถึง 3 ครั้ง …

เมื่อครั้งเรียนชั้นประถมปีที่ 3 โรงเรียนบ้านสวนป่าน มีพระภิกษุอินทร์ รัตนวิจิตร เป็นผู้สอน เรียนอยู่ประมาณ 2 เดือน โรงเรียนนั้นก็ถูกยุบ ท่านจึงเข้าเรียนในชั้นเดิม ที่โรงเรียนวัดพระนคร ตำบลพระเสื้อเมือง ( ปัจจุบันคือตำบลในเมือง ) อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช มีครูเพิ่ม ณ นคร เป็นครูประจำชั้น เรียนจบชั้นประถมปีที่ 3 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียน ในปี พ.ศ.2456 ได้เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดท่าโพธิ์ (โรงเรียนเบจมราชูทิศในปัจจุบัน ) …

พอเรียนชั้นมัธยมปีที่ 2 ได้ไม่กี่เดือนก็ต้องออกจากโรงเรียนเพราะป่วยเป็นโรคคุดทะราด ต้องพักรักษาตัวปีกว่า เมื่อหายจึงคิดจะกลับมาศึกษาต่อที่โรงเรียนเดิมแต่ปรากฏว่าเพื่อนๆ ที่เคยเรียนด้วยกันเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 2 และปีที่ 3 แล้ว จึงเปลี่ยนใจเดินทางเข้าไปศึกษาที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2459 โดยไปอยู่กับพระปลัดพลับ บุณยเกียรติ ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้า ที่วัดส้มเกลี้ยง (วัดราชผาติการาม) ได้เรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 …

ขณะเรียนที่โรงเรียนนี้ได้เรียนวิชามวย ยูโด และยิมนาสติกจากครูหลายคน เช่น ครูย้อย ครูศิริ ครูนก ครูมณี จนมีความชำนาญพอสมควร ท่านสอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ 8 ในปี พ.ศ.2467 ต่อมาในปี 2468 จึงได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจห้วยจระเข้ จังหวัดนครปฐม ขณะที่เรียนได้เป็นครูมวยไทยด้วย เรียนอยู่ 5 ปี สำเร็จหลักสูตรในปี พ.ศ.2472 …

หลังจากจบการศึกษาแล้ว ทางราชการได้แต่งตั้งให้ไปรับราชการในตำแหน่งนักเรียนทำการนายร้อย ที่กองบังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช ประจำจังหวัดสงขลา ในปี พ.ศ.2473 เป็นนักเรียนทำการอยู่ 6 เดือน ได้เลื่อนยศเป็นว่าที่ร้อยตรี ต่อมาในปี พ.ศ.2474 ได้ย้ายมาเป็นผู้บังคับหมวดที่กองเมืองจังหวัดพัทลุง …

ที่พัทลุงนี่เองท่านได้สร้างเกียรติประวัติในตำแหน่งหน้าที่ จนเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงราชการและคนทั่วไป โดยการปราบปรามผู้ร้ายสำคัญของจังหวัดพัทลุง คือ เสือสัง หรือเสือพุ่ม ซึ่งเป็นเสือร้ายที่แหกคุกมาจากเมืองตรัง ขุนพันธรักษ์ราชเดช เล่าว่า เสือสังนี้มีร่างกายใหญ่โต ดุร้าย และมีอิทธิพลมาก มาอยู่ในความปกครองของกำนันตำบลป่าพยอม อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง …

นอกจากนั้นแล้วยังมีคนใหญ่คนโตหลายคนให้ความอุ้มชูเสือสัง จึงทำให้เป็นการยากที่จะปราบได้ แต่ท่านก็สามารถปรามเสือสังได้ในปีแรกที่ย้ายมารับราชการ โดยท่านไปปราบร่วมกับ พลตำรวจเผือก ด้วงชู มี นายขี้ครั่ง เหรียญขำ เป็นคนนำทาง การปราบปรามเสือสังครั้งนี้ทำให้ชื่อเสียงของท่านโด่งดังมาก ตอนนั้นจเรพระยาศรีสุรเสนา ไปตรวจราชการตำรวจที่พัทลุงพอดี ผู้ปราบเสือสังจึงได้รับความดีความชอบ คือ ว่าที่ร้อยตำรวจตรีบุตร พันธรักษ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นร้อยตำรวจตรี พลตำรวจเผือก ชูด้วง เป็นสิบตรี และนายขี้ครั่ง ได้รับรางวัล 400 บาท …

หลังจากนั้นมาอีก 1 ปี ท่านก็ได้ปราบผู้ร้ายสำคัญอื่นๆ 16 คน เช่น เสือเมือง เสือทอง เสือย้อย เป็นต้น ด้วยความดีความชอบ จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช” และในปี พ.ศ.2478 ได้รับเลื่อนยศเป็นนายร้อยตำรวจโท และในปีนี้ได้อุปสมบทที่วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีท่านเจ้าคุณรัตนธัชมุนี (แบน) เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชอยู่ได้ 1 พรรษา จึงลาสิกขา …

ขุนพันธ์

ในปี พ.ศ.2479 ท่านได้ย้ายไปเป็นหัวหน้ากองตรวจ ประจำกองบังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช ประจำจังหวัดสงขลา ได้ปราบโจรผู้ร้ายหลายคน การปราบโจรครั้งสำคัญและทำให้ท่านมีชื่อเสียงมากคือ การปราบผู้ร้ายทางการเมืองที่นราธิวาส ในปี พ.ศ.2481 หัวหน้าโจรชื่อ “อะแวสะดอ ตาเละ” นัยว่าเป็นผู้ที่อยู่ยงคงกระพัน เที่ยวปล้นฆ่าเฉพาะคนไทยพุทธเท่านั้น ในที่สุดก็ถูกขุนพันธ์ฯ จับได้ ท่านจึงได้รับฉายาจากชาวไทยมุสลิมว่า “รายอกะจิ” หรือแปลว่า “อัศวินพริกขี้หนู” และได้เลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจเอกในปีนั้นเอง …พ.ศ.2482 ขุนพันธ์ฯ ได้ย้ายมาเป็นผู้บังคับกองเมืองพัทลุง ปี พ.ศ.2485 ย้ายเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ปราบปรามโจรหลายราย รายสำคัญ คือ เสือสาย และเสือเอิบ หลังจากนั้นขุนพันธ์ฯ ได้ย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดในภาคอื่น คือ ในปี พ.ศ.2486 ได้ย้ายไปเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรที่จังหวัดพิจิตร ได้ปฏิบัติหน้าที่มีความดีความชอบเรื่อยมา และได้ปราบปรามโจรผู้ร้ายมากมาย ที่สำคัญคือการปราบ เสือโน้ม หรืออาจารย์โน้ม จึงได้รับพระราชทานยศเป็นพันตำรวจตรี …

พ.ศ.2489 ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ได้ปะทะและปราบปรามเสือร้ายหลายคน เช่น เสือฝ้าย เสือย่อง เสือผ่อน เสือครึ้ม เสือปลั่ง เสือใบ เสืออ้วน เสือดำ เสือไหว เสือมเหศวร เป็นต้น กรมตำรวจได้พิจารณาเห็นว่า ผู้ร้ายในเขตจังหวัดชัยนาทและสุพรรณบุรี ชุกชุมมากขึ้นทุกวันยากแก่การปราบปรามให้สิ้นซาก จึงได้ตั้งกองปราบพิเศษขึ้น โดยคัดเลือกเอาเฉพาะนายตำรวจที่มีฝีมือในการปราบปรามรวมได้ 1 กองพัน แต่งตั้งให้ พ.ต.ต.สวัสดิ์ กันเขตต์ เป็นผู้อำนวยการกองปราบ และ พ.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นรองผู้อำนวยการ กองปราบพิเศษได้ประชุมนายตำรวจที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2489 เพื่อวางแผนกำจัดเสือฝ้าย แต่แผนล้มเหลว ผู้ร้ายรู้ตัวเสียก่อน ขุนพันธ์ฯ ได้รับคำสั่งด่วนให้สกัดโจรผู้ร้ายที่จะแตกเข้ามาจังหวัดชัยนาท …

ครั้งนั้นขุนพันธ์ฯ ใช้ดาบเป็นอาวุธคู่มือแทนที่จะใช้ปืนยาว ดาบนั้นถุงผ้าแดงสวมทั้งฝักและด้าม คนทั้งหลายจึงขนานนามท่านว่า “ขุนพันธ์ดาบแดง” ฝีมือขุนพันธ์ฯ เป็นที่ครั่นคร้ามของพวกมิจฉาชีพทั่วไป แม้แต่เสือฝ้ายเองก็เคยติดสินบนท่านถึง 2,000 บาท เพื่อไม่ให้ปราบปราม แต่ขุนพันธ์ฯ ไม่สนใจ คงปฏิบัติหน้าที่อย่างดีจนปราบปรามได้สำเร็จ ท่านอยู่ชัยนาท 3 ปี ปราบปรามเสือร้ายต่างๆ สงบลง แล้วได้ย้ายมาเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรที่อยุธยา อยู่ได้ประมาณ 4 เดือนเศษก็เกิดโจรผู้ร้ายชุกชมที่กำแพงเพชร ขณะนั้นเป็นระยะเปลี่ยนอธิบดีกรมตำรวจ และขุนพันธ์ฯ ก็ถูกใส่ร้ายจากเพื่อนร่วมอาชีพว่าเป็นโจรผู้ร้าย …

พล.ร.ต.หลวงสังวรยุทธกิจ อธิบดีกรมตำรวจยังเชื่อมั่นว่าขุนพันธ์ฯ เป็นคนดี จึงโทรเลขให้ไปพบด่วน และแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ.2490 ขุนพันธ์ฯ ได้ปรับปรุงการตำรวจภูธรของเมืองนี้ให้มีสมรรถภาพขึ้น และได้ปราบปรามโจรผู้ร้ายต่างๆ ที่สำคัญคือ เสือไกร กับ เสือวัน แห่งอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ทำให้ฝีมือการปราบปรามของขุนพันธ์ฯยิ่งลือกระฉ่อนไปไกล …

ต่อมาในปี พ.ศ.2491 ทางจังหวัดพัทลุงมีโจรผู้ร้ายกำเริบชุกชุมขึ้นอีก ราษฎรชาวพัทลุงนึกถึงขุนพันธ์ฯ นายตำรวจมือปราบ เพราะเคยประจักษ์ฝีมือมาแล้ว จึงเข้าชื่อกันทำหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีกรมตำรวจ ผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอตัวขุนพันธ์ฯ กลับพัทลุงเพื่อช่วยปราบปรามโจรผู้ร้าย กรมตำรวจอนุมัติตามคำร้องขอ ขุนพันธ์ฯ จึงได้ย้ายมาเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุงอีกวาระหนึ่ง ได้ปราบปรามเสือร้ายที่สำคัญๆสิ้นชื่อไปหลายคน ผู้ร้ายบางรายก็หนีออกนอกเขตพัทลุงไปอยู่เสียที่อื่นนอกจากงานด้านปราบปรามซึ่งเป็นงานที่ท่านถนัดและสร้าง ชื่อเสียงให้ท่านเป็นพิเศษแล้ว ท่านยังได้พัฒนาเมืองพัทลุงให้เป็นเมืองท่องเที่ยว โดยปรับปรุงชายทะเลตำบลลำปำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และให้มีตำรวจคอยตรวจตรารักษาความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารรถไฟที่เข้าออกเมืองพัทลุง ทำให้เมืองพัทลุงในสมัยที่ท่านเป็นผู้กำกับการตำรวจ มีความสงบสุขน่าอยู่ขึ้นมาก ตำรวจที่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้เลิกไปเมื่อกรมตำรวจจัดตั้งกองตำรวจรถไฟขึ้น …

ด้วยความดีความชอบในหน้าที่ราชการ ท่านจึงได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพันตำรวจโทในปี พ.ศ.2493 ท่านอยู่พัทลุงได้ 2 ปีเศษ จนถึง พ.ศ.2494 จึงได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 จังหวัดนครศรีธรรมราช จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2503 จึงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 และได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพลตำรวจตรี จนกระทั่งเกษียณอายุในปี พ.ศ.2507ตลอดชีวิตรับราชการ พล.ต.ต.ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช ได้สร้างเกียรติประวัติในตำแหน่ง หน้าที่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกียรติประวัติในการปราบปรามโจรผู้ร้ายคนสำคัญๆ ของจังหวัดต่างๆ ที่ท่านไปประจำอยู่ จนเป็นที่เลื่องลือของคนทั่วไปและเป็นคนที่ครั่นคร้ามของโจรก๊กต่างๆนับได้ว่าเป็นนายตำรวจมือปราบคนสำคัญคนหนึ่งของเมืองไทย และด้วยฝีมือในการปราบปรามนี้เองทำให้ท่านได้รับการเลื่อนยศและตำแหน่งสูงขึ้นเป็นลำดับมา แม้เกษียณแล้วท่านก็ยังสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติบ้านเมืองเสมอมา เช่น ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในสมัยเลือกตั้งปี พ.ศ.2516 เป็นต้น …

นอกจากเกียรติคุณทั้งในและนอกตำแหน่งหน้าที่ราชการดังกล่าวมาแล้ว ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช ยังมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่สำคัญซึ่งควรกล่าวถึงคือ เป็นนักวิชาการที่สำคัญคนหนึ่ง ท่านเป็นทั้งนักอ่านและนักเขียน ได้เขียนเรื่องราวต่างๆ ลงพิมพ์ในหนังสือและวารสารต่างๆ หลายเรื่อง ขุนพันธ์ฯ เป็นคนหนึ่งที่มีความสนใจในเรื่องไสยศาสตร์อยู่มาก เรื่องที่เขียนส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ …

นอกจากนั้นก็มีเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทั้งประวัติบุคคลและสถานที่ ตำนานท้องถิ่น มวย และเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเอง ข้อเขียนต่างๆของท่าน เช่น ความเชื่อทางไสยศาสตร์ในภาคใต้ สองเกลอ ช้างเผือกงาดำ หัวล้านนอกครู ศิษย์เจ้าคุณ มวยไทย เชื่อเครื่อง กรุงชิง เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่องกรุงชิงนั้น ท่านเล่าว่าเป็นเรื่องที่ท่านเขียนทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันตามพระบรมราชโองการ และต่อมามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีได้ขออนุญาตนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ใน “รูสมิแล” วารสารของมหาวิทยาลัยปีที่ 6 ฉบับที่ 3 เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม พ.ศ.2526 งานเขียนของท่านส่วนมากจะลงพิมพ์ใน สารนครศรีธรรมราช หนังสืองานเดือนสิบวิชชา (วารสารทางวิชาการของวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช) รูสมิแล (วารสารทางวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) และหนังสือที่ระลึกในโอกาสต่างๆ ของโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ …

ในด้านชีวิตครอบครัว ขุนพันธ์รักษ์ราชเดชมีภรรยาคนแรกชื่อเฉลา ตอนนั้นท่านมีอายุได้ประมาณ 30 ปี ขณะที่รับราชการอยู่ที่จังหวัดพัทลุง มีบุตรด้วยกัน 8 คน ต่อมาภรรยาเสียชีวิต ท่านจึงได้ภรรยาใหม่ชื่อสมสมัย มีบุตรด้วยกัน 4 คน …

ตลอดระยะเวลาที่รับราชการที่ผ่านมา ขุนพันธรักษ์ราชเดช ผู้หาญกล้าเสียสละเพื่อประชาชน โดยยึดมั่นปณิธานไว้ ” เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ กรุณาปรานีต่อประชาชน อดทนต่อความเจ็บปวด ไม่หวั่นไหวต่อความลำบาก ไม่มักมากในลาภผล บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ” …

คุณลุงขุนพันธ์
… ข้อมูลด้านอื่นๆ …

สายวิชา : เชี่ยวชาญเพลงมวยเสียมก๊ก (มวยไทย) เพลงดาบสายทักษิณ กระบี่กระบอง และวิชาการต่อสู้อีกหลายแขนง เป็นศิษย์ฆราวาสแห่งสำนักเขาอ้ออันเกรียงไกร สืบทอดยอดวิชาหลายแขนง อาทิ ยอดวิชาคงกระพัน นะจังงัง มหาอุด ผิวกายคงทนต่อศาสตราวุธ นอกจากนี้ยังเชี่ยวชาญในวิชาแพทย์แผนโบราณ ว่านและสมุนไพรต่าง ๆ อาวุธคู่กาย : เดิมมีปืนเมาเซอร์ ต่อมาได้ฝึกวิชาคงกระพัน ชาตรีจนแตกฉาน จึงไม่จำเป็นต้องพกปืนอีก แต่อาศัยเพียงสนับมือและเพลงมวย ในการปราบปรามเหล่าโจรร้าย เสือร้ายก๊กต่าง ๆ ภายหลังได้รับมอบศาสตราวุธชนิดหนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นดาบที่ตกทอดมาจาก พระยาพิชัยดาบหัก ฝักดาบมีถุงผ้าสีแดงห่อหุ้ม ตัวดาบมีความคมกล้ายิ่งนัก ในระยะหลังการออกปราบปรามโจรร้าย ท่านขุนพันธ์จึงอาศัยเพียงดาบเล่มนั้น กับสนับมือออกปราบปราม เหล่ามิจฉาชีพตลอดมา จนได้ฉายา ” ขุนพันธ์ดาบแดง ” เป็นที่ครั่นคร้ามของพวกมิจฉาชีพทั่วไป แม้แต่เสือฝ้ายเองก็เคยติดสินบนท่านถึง 2000บาทเพื่อไม่ให้ปราบปราม …ผลงาน : กำหราบชุมโจรมานับไม่ถ้วน อาทิ เสือฝ้าย เสือดำ เสือมเหศวร (ที่ชาวเสียมก๊กเอามาทำเป็นหนังฟ้าทะลายโจร แต่ตัวจริงถูกปราบโดยท่านผู้นี้) โดยเฉพาะโจรแถบทางใต้ล้วนร้ายกาจทั้งสิ้น ดังนั้นขุนพันธ์จึงต้องใช้กลยุทธ์ข่มนาม อาทิ การตัดหัวเสียบไว้หน้าโรงพัก เอาหัวโจรร้ายมาทำที่เขี่ยบุหรี่ เช่น หัวเสือสายแห่งสุราษฎร์ธานี ตลอดชีวิตรับราชการ พล.ต.ต.ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช ได้สร้างเกียรติประวัติในตำแหน่งหน้าที่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกียรติประวัติในการปราบปรามโจรผู้ร้ายคนสำคัญๆ ของแคว้นต่างๆ ที่ท่านไปประจำอยู่ จนเป็นที่เลื่องลือของคนทั่วไป เป็นที่ครั่นคร้ามของโจรก๊กต่างๆ เป็นที่รักใคร่ของชาวประชาราษฎรทั้งปวง นับได้ว่าท่านเป็นนายตำรวจมือปราบคนสำคัญคนหนึ่งของเสียมก๊ก และด้วยฝีมือในการปราบปรามนี้เองทำให้ท่านได้รับการเลื่อนยศและตำแหน่งสูงขึ้นเป็นลำดับมา แม้เกษียณแล้วท่านก็ยังสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติบ้านเมืองเสมอมา …การต่อสู้ครั้งสำคัญ : ดวลกับจอมโจรอะแวสะดอ เจ้าพ่อเขาบูโดแห่งแคว้นนราธิวาส อาแวสะดอเป็นจอมโจรที่ปล้นฆ่าเฉพาะคนไทยพุทธ ทางราชการพยายามปราบหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเรียกตัวท่านขุนพันธ์มา จอมโจรผู้นี้มีวิชาคงกระพันเป็นเยี่ยม ท่านขุนพันธ์ยืนยันว่า อะแวสะดอถูกยิงหมดลูกโม่ จนร่างล้มฟุบลง แต่กลับลุกขึ้นมาได้ และบ้วนกระสุนทิ้งออกมาจากปาก ท่านขุนพันธุ์เห็นดังนั้นจึงล้วงสนับออกมาสวมที่มือ แล้วเข้าต่อสู้ประชิดตัว อาศัยความชำนาญในวิชาป้องกันตัว จึงสามารถจับตัวจอมโจรอาแวสะดอได้ …