วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

จอมขมังเวทย์แห่งเมืองสุพรรณ อ.คม ไตรเวทย์

ในปัจจุบันมีฆารวาสที่ถูกยกให้เป็น “จอมขมังเวท” หลายท่าน และท่านหนึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังโดยเฉพาะชาวจีน คือ “อ.คม ไตรเวทย์” ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดบางกุ้งใต้ ต.บางกุ้ง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี โดยท่านได้ศึกษาเวทมนตร์คาถาต่างๆ ควบคู่ไปกับการเข้าฌานฝึกพลังจิต กระทั่งมีวิทยาอาคมแก่กล้า ปลุกเสกวัตถุมงคลเข้มขลังของจริง จนกลายเป็นที่ยอมรับนับถือของบรรดาลูกศิษย์ไทยและต่างประเทศ ถึงกับถูกยกให้เป็น “ฆราวาสผู้เรืองวิทยาอาคมแห่งเมืองสุพรรณบุรี”

ก่อนบวชเรียน อายุประมาณ ๑๕-๑๗ ปี อาจารย์คม ก็เริ่มฝึกฝนการแกะสลักไม้กับลุงที่เป็นญาติห่างๆ คือ คุณลุงเลื่อน เพ็งสมญา แห่งบ้านวังอ้อ ทุ่งโพธิทะเล จ.กำแพงเพชร นับเป็นครูบาอาจารย์ท่านแรกของอาจารย์คม และเมื่อฝึกหัดการแกะสลักจนชำนิชำนาญดีแล้ว จึงได้ออกรับงานเอง และยึดอาชีพแกะสลักไม้เลี้ยงชีพมาช่วงระยะหนึ่ง ขณะที่ทำงานอยู่แต่ละที่ก็มีโอกาสได้พบท่านผู้รู้และครูบาอาจารย์ต่างๆ

ด้วยความสนใจในวิชาไสยศาสตร์ อาจารย์คมได้ศึกษากับพระสงฆ์และฆราวาสอีกหลายท่าน จึงถือโอกาสขอเล่าเรียนศึกษาสรรพวิชาและความรู้แขนงต่างๆ ดังนี้ พ.ศ.๒๕๓๓ มีโอกาสได้ศึกษาคาถาและวิชาบางบทอันสืบสานกันมาแต่บรรพบุรุษ และคาถาของหลวงพ่อตาล แห่งวัดดอนมะเกลือ ซึ่งขึ้นชื่อลือชามากเรื่องคงกระพันและสามารถเสกน้ำธรรมดาให้กลายเป็นสุราได้

พ.ศ.๒๕๒๙ อายุได้ ๑๕ ปี จึงตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดอัมพวนาราม (วัดบางกุ้ง) ขณะจำพรรษาอยู่ ณ วุดทุ่งแพม มีโอกาสได้เล่าเรียนอักขระพื้นเมืองล้านนา (ตั๋วธรรม) เพิ่มเติม และยังได้เรียนวิชาธนู ธนูไฟ คาถาปัดพิษงู จากพ่อน้อย และเกร็ดวิชาต่างๆ จากอาจารย์หนานผาบ จากนั้นพ่อหนานผาบพาไปพบท่านอาจารย์อมร ศรีมาโนช คนไทยเชื้อสายพม่า ศึกษาไสยศาสตร์ของพม่า ท่านจะเขียนอักขระเลขยันต์เป็นภาษาพม่า และสวดมนต์เป็นภาษาพม่าทั้งหมด มีความชำนิชำนาญถึงขั้นที่เรียกว่า เก่งในเรื่องการทำยันต์เทียนศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับโชคลาภ และวิชาเม็ดยาประกาศิต พร้อมทั้งตะกรุดมหาเศรษฐี ซึ่งเป็นวิชาสายพม่าล้วนๆ

จากนั้นได้ศึกษากับอาจารย์แก้ว ผู้เก่งกาจนักหนาในเรื่องการขับไล่ภูตผีปีศาจ อาจารย์อมร ศรีมาโนช ให้เริ่มเรียนวิชายันต์เทียนก่อน คือ การเขียนอักขระบนกระดาษสาตามสูตรเป็นภาษาพม่า

หลวงพ่อพุฒ วัดกลางบางพระ จ.นครปฐม หลวงพ่อพุฒได้กรุณาถ่ายทอดสรรพวิชาหลายแขนง โดยเฉพาะการสร้างและเสกวัตถุมงคลเครื่องรางต่างๆ เช่น การสร้างและปลุกเสกราหูอมจันทร์อันแกะจากกะลาตาเดียว กะลาสามตา กะลามหาอุด วัวธนูโทน เบี้ยแก้ ตะกรุดโทน พญาต่อมหาลาภ สีผึ้งมหานิยม พญาช้างนาฬาคิริง ซึ่งทำจากหนังช้าง วิชาสมุนไพร และเกร็ดความรู้อีกมากมายหลายแขนง

ประมาณ พ.ศ.๒๕๓๐ ในช่วงกลางๆ ปี มีโอกาสพบกับผู้มีวิชาอีกท่านหนึ่ง เป็นฆราวาสชื่อ ท่านอาจารย์ฉุย วงศ์สุวัณ ท่านอาจารย์ฉุยมีความเก่งในด้านมหาอุด มหาอำนาจ คงกระพัน และวิชาสาปแช่งทำลายล้างศัตรู พ.ศ.๒๕๓๒ ได้มีโอกาสพบอาจารย์ท่านหนึ่ง ชื่อ อาจารย์เข็น เป็นชาวลาวโซ่ง อยู่บ้านดอนโก ต.วังน้ำเย็น อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

นอกจากนี้ยังได้เรียนวิชากับพระครูพิศิฐสมณการ หรือ หลวงพ่อพล ปุญญกาโม เจ้าอาวาสวัดนิเวศน์ธรรมาราม (วัดวังยายหุ่น) ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี รวมทั้งยังได้เรียนวิชากับพระครูชัยวงศ์วุฒิคุณ (หลวงพ่อวงศ์) แห่งวัดประชาวงศาราม ต.กรูด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี

“ผมไม่ใช่เป็นผู้วิเศษ เป็นเพียงสะพานและสื่อญาณให้ครูบาอาจารย์ที่จะรับความศักดิ์สิทธิ์จากครูบาอาจารย์ให้ประดิษฐานในสิ่งหนึ่งสิ่งใดในพิธีกรรมที่กระทำเท่านั้น ความศักดิ์สิทธิ์ของวัตถุมงคลนั้นเกิดจากบารมีของครูบาอาจารย์ บวกกับเวทมนต์คาถา และบารมีที่เราปฏิบัติโดยการอธิษฐานบุญเข้าไปในวัตถุมงคล” อ.คมกล่าว

สำหรับเงินที่ได้จากการใช้บูชาวัตถุมงคลนั้น อ.คม บอกว่า จะแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ ๑.ใช้เป็นทุนในการสร้าง เพราะไม่มีใครสร้างให้ ยิ่งสร้างสวยยิ่งมีต้นทุนสูง ๒.ใช้เลี้ยงปากท้องและครอบครัว และ ๓.บำรุงพระพุทธศาสนา และสร้างสาธารณกุศล แม้จะไม่ใช่พระภิกษุสงฆ์ก็จะยึดหลักที่ว่า “โลกอย่าให้ซ้ำ ธรรมอย่าให้มัวหมอง”

อย่างไรก็ตามแม้ว่าในวันไหว้ครูจะมีคนมาร่วมงานจำนวนมาก รวมทั้งมีผู้เดินทางมาสักยันต์จำนวนมาก แต่ อ.คม จะไม่เรียกบุคคลเหล่านี้ว่าลูกศิษย์เลย โดยจะเรียกว่า “ผู้ที่เคารพนับถือซึ่งกันและกัน” ส่วนลูกศิษย์จริงๆ นั้น มีไม่กี่คน ผู้ที่เป็นลูกศิษย์นั้นหมายถึง “ผู้ที่เคารพนับถือ มาคอยรับใช้ มาเรียนรู้วิชา และครอบครูปริสิทธิ์ประสาทวิชาให้”

อุปเท่ห์คนเล่นของ

อ.คม บอกว่า ก่อนหน้านี้ทุกๆ วันจะถือศีล ๕ เมื่อถึงวันพระจะถือศีล ๘ รวมทั้งสมาธิเจริญภาวนามาตลอด แต่ปัจจุบันไม่ถือทั้งศีล ๕ และศีล ๘ เพราะได้หันมายึดแนวทางปฏิบัติเพียง ๓ ข้อ คือ “ละเว้นความชั่ว พยายามทำแต่ความดีให้ถึงพร้อม และทำจิตใจให้ผ่องใส”

สำนักสักยันต์อาจารย์คม ก็มีข้อปฏิบัติยึดตามข้อห้ามของผู้สักยันต์สมัยโบราณ จุดประสงค์เพื่อให้เกิดความขลังในลายสักยันต์นั้นๆ และประกอบกรรมดีอยู่ในศีลธรรมที่ดีงาม โดยข้อห้ามหลักที่สำนักสักยันต์อาจารย์คมยึดจากข้อห้ามที่มีมาตั้งแต่โบราณ ให้ลูกศิษย์ที่รับการสักยันต์ทุกคนยึดถือหรือปฏิบัติกันคือ

ข้อแรก ห้ามด่าว่าพ่อแม่ ครูอาจารย์ เพราะพ่อแม่ ครูอาจารย์ถือเป็นสิ่งที่สูงสุดที่ควรยกไว้เหนือหัว

ข้อสอง คือห้ามกินฟักแฟงน้ำเต้า มะเฟือง เพราะเหตุผลที่ว่าของเหล่านี้จะล้างคุณสมบัติของว่านที่ผสมในหมึกที่ทำการสักยันต์หรือน้ำมันที่ใช้สักยันต์

ข้อสาม คือห้ามรับประทานสัตว์เลื้อยคลานทุกชนิด

ข้อสี่ ห้ามผิดลูกผิดเมียใคร จุดประสงค์คือไม่ให้ผิดศีลและไม่ให้ลูกศิษย์ที่เข้ามาฝากตัวสักยันต์ที่สำนักสักยันต์อาจารย์คม ไปทำในสิ่งไม่ดีไม่งาม หรือให้อยู่ในครรลองคลองธรรมนั้นเอง

ข้อห้า ห้ามเสพหรือยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย

ข้อห้ามหรือข้อปฏิบัตินั้น อาจารย์คมจะพร่ำสอนและเตือนลูกศิษย์อยู่เสมอ ให้เป็นคนดีคิดดีทำดีอยู่เสมอแล้วลายยันต์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นจะคุ้มครอง ถ้าสักยันต์ไปแล้วไม่ปฏิบัติไม่ทำความดี ต่อให้สักยันต์ดียังไงก็ช่วยไม่ได้ ถ้าหมั่นปฏิบัติทำความดี หมั่นสวดมนต์ รับรองเลยว่าลายสักยันต์ อ.คม จะส่งผลให้เห็นอย่างที่คุณคาดไม่ถึงอย่างแน่นอน