วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

ทำบุญ หรือ ทำบาป ศึกษานิดนึง ระวังตกนรกไม่รู้ตัว

26 เม.ย. 2023
56

 

 

หลายคนเชื่อว่า การทำบุญให้ได้บุญมากนั้น ต้องทำอย่างจริงจัง เช่น ไปตักบาตรที่วัดใหญ่ ไหว้หลวงพ่อชื่อดัง บริจาคเงินจำนวนมาก ถวายสังฆทานอย่างยิ่งใหญ่ หรือต้องบวชเณร หรือบวชชีพราหมณ์ เท่านั้น จริงๆ แล้วเรื่องเหล่านี้ แม้แต่เด็กอนุบาลก็ทราบดีค่ะ ว่าเป็นความเชื่อที่ผิด

การทำบุญให้ได้บุญนั้น สามารถทำได้หลายวิธี ไม่จำเป็นต้องเข้าวัดอย่างเดียว แค่คิดดี-ทำดีอยู่เสมอ รักษาศีลให้ได้อย่างน้อย 5 ข้อในทุกวัน หรือแค่กินมังสวิรัติเป็นครั้งคราว ก็ถือว่าเป็นการทำบุญแล้วค่ะ

ในทางพระพุทธศาสนา “บุญ” นั้นไม่สามารถล้าง “บาป” ได้ นั้นจึงหมายความว่าเมื่อได้ทำบาปแล้ว บาปนั้นจะติดตัวเราไป และไม่สามารถจืดจางได้ด้วยการทำบุญชดเชย ความคิดที่ว่า “ไม่เป็นไร เดี๋ยวไว้ไปทำบุญเอา” นั่นจึงเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง การทำบาปนั้น ก็เปรียบได้เหมือนการกระทำทั่วไป เมื่อทำไปแล้ว จะไม่สามารถย้อนเวลากลับมาแก้ไขได้ ดังนั้นทุกการกระทำในชีวิต ควรจะได้รับการไตร่ตรองก่อนเสมอ รวมไปถึงการทำบุญด้วย วันนี้เราได้รวบรวมการทำบุญแบบผิดวิธีมาฝาก เพื่อให้เพื่อนๆ ได้มั่นใจว่า วันมาฆบูชาปีนี้ เราจะได้ทำบุญกันอย่างถูกต้อง ไม่เดือนร้อนฝ่ายใด แถมยังได้บุญแบบเต็มๆ อีกด้วย

ทำบุญแบบผิดวิธี

“การทำความดี” คือการกระทำที่ก่อให้เกิดความพอใจ และผลประโยชน์สุขต่อตัวเองและผู้อื่น เป็นการกระทำที่ต้องไม่เบียดเบียนผู้ใด และที่สำคัญต้องไม่ก่อให้เกิดโทษ

ในปัจจุบันมีความเข้าใจผิดๆ ว่า การทำความดี เพียงแค่เจตนาดีก็พอแล้ว ผลลัพธ์ไม่สำคัญ แต่ในความเป็นจริง การทำความดี ต้องคำนึงถึงสถานที่ บุคคล และเวลาด้วย เพราะการทำความดีไม่ถูกที่ ไม่ตรงกับบุคคล หรือผิดเวลานั้น จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี ตามที่ทางพระพุทธศาสนากล่าวว่า “เป็นทางวิบัติเสื่อมเสีย ทำให้ไม่เจริญทั้งแก่ตนเองและบุคคลอื่น”

ถ้าเพื่อนๆ กลัวว่า จะเผลอทำบุญแบบผิดๆ อย่าเพิ่งกลัวไปนะคะ วันนี้เรามีวิธีการทำบุญที่ไม่ถูกต้อง แต่กลับได้รับความนิยมอย่างมาก มาฝากเพื่อนๆ กัน มาดูกันเลยค่ะ

ปล่อยชีวิตสัตว์

  • ปล่อยนก และปล่อยปลา 

“ปล่อยนก ปล่อยปลา” เป็นสำนวนไทยที่สื่อความหมายได้ว่า การปล่อยให้มีอิสระ ให้หลุดพ้นจากเรื่องค้างคาใจ สังคมพุทธศาสนาจึงได้นำสำนวนนี้ มาใช้เป็นอีกหนึ่งในวิธีการทำบุญ เพื่อให้สัตว์ที่โดนกังขัง และใช้ชีวิตผิดจากธรรมชาติได้หลุดพ้น และได้เป็นอิสระ

แม้ว่าความตั้งใจในการปล่อยนก ปล่อยปลาจะบริสุทธิ์ หวังให้ชีวิตอิสระแก่สัตว์เหล่านี้ แต่หารู้ไม่ว่าผลลัพธ์จากการทำบุญนี้ กลับเป็นปัญหามากกว่าเป็นการ ให้

เพราะก่อนที่คุณจะได้ปล่อยพวกเขา สัตว์เหล่านั้นถูกจับมาให้คุณปล่อยนับครั้งไม่ถ้วน ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมาน พลัดพรากจากครอบครัว หรือถึงขั้นถึงแก่ความตาย

ประเภทของสัตว์ที่นิยมปล่อยเป็นอันดับหนึ่งนั่นคือ ปลาไหล แต่หารู้ไหมว่าปลาไหลนั้น ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในน้ำลึก เพราะโดยธรรมชาติของปลาไหลต้องอยู่ในน้ำตื้น แฉะ และมีโคลนให้มุดนั่นเอง

  • ปล่อยเต่า

ก่อนอื่นต้องทราบก่อนนะคะ ว่าไม่ใช่เต่าทุกประเภทจะว่ายน้ำได้ เช่น

เต่าบก จะมีกระดองที่หนักมาก ที่สำคัญมันว่ายน้ำไม่เป็น ดังนั้น เมื่อถูกปล่อยลงน้ำ จะมีโอกาสสูงที่จะจมน้ำตาย

เต่าน้ำจืด จะมีกระดองที่แบน และน้ำหนักที่เบากว่าเต่าบก เต่าน้ำจืดสามารถว่ายน้ำได้ แต่มันต้องการพื้นดินสำหรับพักหายใจ

เต่าทะเล คล้ายกับเต่าน้ำจืด มันมีกระดองที่แบน และน้ำหนักที่เบา และนอกจากนี้เท้าทั้ง 4 ยังมีลักษณะเป็นครีบเพื่อช่วยในการว่ายน้ำอีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากเต่าทะเลใช้ชีวิตอยู่ในน้ำเป็นปกติ

ดังนั้น ก่อนทำการปล่อยเต่า ควรศึกษาในแน่ใจก่อนว่า เต่าในมือเพื่อนๆ นั้น สามารถว่ายน้ำได้หรือไม่ เพื่อเป็นการปกป้องทั้งชีวิตของเต่าเอง และเจตนาที่บริสุทธิ์ของเพื่อนๆ เองด้วยค่ะ

การถวายสังฆทาน

ทางสังคมพระพุทธศาสนา มีความเชื่อกันว่า การถวายสังฆทาน เป็นการทำบุญที่ได้ อานิสงส์อย่างมาก เนื่องจากการถวายสังฆทานเป็นการถวายของที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ อาหารแห้ง ให้แก่พระสงฆ์โดยไม่ระบุว่าต้องการถวายให้รูปใด ดังที่พระพุทธเจ้าได้เคยตรัสเอาไว้ว่า “การถวายสังฆทานแก่คณะพระสงฆ์ มีอานิสงส์มากกว่าการถวายทานเฉพาะเจาะจงแก่พระพุทธเจ้า” นั่นเอง

การถวายสังฆทานเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด และหากมีกำลังมาก ควรถวายให้ครบปัจจัยทั้ง 4 ก็คือ อาหารคาว ของหวาน เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค น้ำดื่ม และที่อยู่อาศัย

อย่างไรก็ตาม มีบ่อยครั้งที่ญาติโยมได้ซื้อชุดสังฆทานจากร้านค้าราคาถูก จึงขายบรรจุภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยของไม่มีประโยชน์ และไม่มีคุณภาพ เช่น ของหมดอายุ เป็นต้น ซึ่งสุดท้ายแล้วของเหล่านั้นจะกลายเป็นขยะ ถูกทิ้งไว้ในวัดเสียมากกว่า ดังนั้นการทำสังฆทานในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างบาปมากกว่าการทำบุญ

นอกจากนี้ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระภิกษุจากวัดสร้อยทอง ได้กล่าวถึงผลกระทบจากกรณีการถวายสังฆทานที่เต็มไปด้วยของไม่มีคุณภาพ ว่า “เคยมีกรณีพระหลวงตาฉันน้ำในสังฆทานแล้วมรณภาพ ก็เป็นการทำผิดที่ไม่ดี เป็นการทำผิดที่ไม่ได้ตั้งใจ”

ใส่บาตรด้วยเงิน

“การใส่บาตรด้วยเงินนั้นได้ บุญ หรือ บาป กันแน่ ?” นี่ก็เป็นคำถามที่ถูกถกเถียงกันมานาน เนื่องจากการตักบาตรทำบุญ เป็นวิธีที่ง่าย และสามารถทำได้ทุกวัน ญาติโยมทั้งหลายจึงมักเลือกที่จะสั่งสมบุญบารมีโดยวิธีนี้

แต่เนื่องจาก การทำบุญในรูปแบบของการใส่บาตรทำได้ทุกวัน หลายคนจึงเลือกใส่บาตรด้วยเงิน แทนข้าวสารอาหารแห้ง โดยให้เหตุผลว่า (1) การที่ใส่บาตรด้วยเงิน มีประโยชน์กว่าการใส่ด้วยอาหาร เพราะสามารถนำเงินไปซื้อของใช้จำเป็นอื่นๆ ได้ (2) สะดวกกว่าการไปซื้ออาหาร ทำให้สามารถทำบุญได้ทุกวัน

แต่ความจริงแล้ว การใส่บาตรด้วยเงินสดเป็นการทำบุญที่ผิด เพราะเงินไม่ใช่หนึ่งใน “จตุปัจจัย” หรือปัจจัยทั้ง 4 ของภิกษุ (เครื่องนุ่งห่ม, อาหาร, ที่นอนที่นั่ง, ยารักษาโรค) ดังนั้นการนำเงินไปใส่บาตรตรงๆ นั้นจึงเป็นการกระทำที่ส่งเสริมการละเมิดวินัยสงฆ์ และเป็นแรงจูงใจให้พระอาบัติ

การบริจาคเงินให้คนขอทาน

หลายคนเชื่อว่า การให้เงินแก่คนขอทานตามท้องถนน เป็นการให้ทานที่ทำง่าย และเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้รับโดยตรง ซึ่งนั่นก็เป็นความคิดที่ถูกต้องค่ะ เว้นแต่ว่าขอทานสมัยนี้ มีส่วนน้อยที่ที่เลือกอาชีพนี้เพราะความลำบากจริงๆ บางคนถูกครอบครัวบังคับ บางคนถูกกลุ่มค้ามนุษย์พามา และเคสที่ร้ายแรงที่สุด คือการโดนตัดแขน ตัดขา เพื่อเพิ่มความน่าสงสารจากคนที่เดินผ่านไปมานั่นเอง

ดังนั้น การที่เราให้ทานกับคนขอทานที่ตกเป็นเหยื่อจากเคสเหล่านี้ จึงถือว่าเป็นการสนับสนุนมากกว่าเป็นการให้ทาน แน่นอนว่าเราแยกไม่ออกหรอกค่ะ ว่าคนไหนลำบากจริง หรือคนไหนทำตัวลำบากกันแน่ ดังนั้น จึงเกิดคำถามตามมาว่า การให้ทานแก่คนขอทาน เป็นการทำบุญ หรือเป็นการส่งเสริมกลุ่มมิจฉาชีพกันแน่

คิดง่ายๆ นะคะ ถ้าเราได้ทำทานไปแล้ว แต่ดันเกิดความไม่สบายใจขึ้นมา มีความกังวลว่าเรากำลังให้เงินแก่กลุ่มมิจฉาชีพโดยตรงหรือเปล่า การให้ทานในครั้งนี้ จะไม่ถือว่าเป็นการทำบุญ หรือการทำบุญแต่ไม่ได้บุญนั่นเองค่ะ

สรุปท้ายบทความ

ทุกวันนี้ การเป็นคนดีอยู่ยาก สังคมบังคับให้เราใช้ทางลัด เพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จ ชื่อเสียง เพื่อนฝูง และเงินทอง เพราะการมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เรามีความสุข

แต่สังคมจะอยู่ไม่ได้เลย หากปราศจากคนดี ทุกคนจะแก่งแย่งชิงดี ไม่มีความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทำให้สังคมเกิดความวิปริต ดังนั้นทุกคนควรหมั่นทำความดีสม่ำเสมอ แต่อย่างที่เราได้บอกกันไปว่าการทำความดี ต้องมั่นใจด้วยว่าไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อฝ่ายใดทั้งสิ้น