ประวัติและปฏิปทา พระพรหมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ)
วัดชลประทานรังสฤษฎ์ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
๏ อัตโนประวัติ
ปัญ จะธาตุใช่ยิ่ง ยืนยง
ญา ณะธรรมคุณ อยู่คง จิตด้วย
นัน อเนกแผ่ไพ-ศาลนา
ทะ เลทั่วผืนฟ้า จดสิ้น ดินแดน
“พระพรหมมังคลาจารย์” หรือที่ชาวพุทธรู้จักกันดีทั่วไปในนามของ “หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ” มีนามเดิมว่า ปั่น เสน่ห์เจริญ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๕๔ ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุน (ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖) ณ ต.คูหาสวรรค์ อ.เมือง จ.พัทลุง มีชื่อเล่นว่า ขาว แต่โยมมารดาเรียกว่า หมา โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายวัน และนางคล้าย เสน่ห์เจริญ (จุลบุษรา) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๕ คน ท่านเป็นบุตคนที่ ๔ กล่าวคือ มีพี่สาว ๒ คนชื่อ ขำ อนุวงศ์ และดำ บุญวิสูตร (เสียชีวิตทั้งคู่) พี่ชาย ๑ คนชื่อ พ่วง (เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก) และน้องสาว ๑ คนชื่อ หนูกลิ่น กฤตรัชตนันท์ (ยังมีชีวิตอยู่) ครอบครัวมีอาชีพทำนาทำไร่ เลี้ยงวัวควาย ฐานะพอกินพอใช้ไม่ถึงกับร่ำรวย
วัยเด็ก พ.ศ.๒๔๖๒ เข้าศึกษาชั้น ป.๑ เมื่ออายุย่างเข้า ๘ ขวบ ที่โรงเรียนประจำอำเภอเมือง จ.พัทลุง โรงเรียนนี้มีครูใหญ่ชื่อเลี่ยง เวชรังษี และมีครูดำ ม่องกี้, ครูเปลื้อง กาญจโนภาส, ครูฉัตร โสภณ เป็นครูสอน เรียนจบชั้น ป.๓ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดในการศึกษาสมัยนั้นแล้วย้ายไปศึกษาต่อชั้นมัธยมที่ โรงเรียนประจำจังหวัดพัทลุง ซึ่งนักเรียนเป็นชายล้วน (สมัยนั้นไม่นิยมให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ) เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๓ หลังโรงเรียนเปิดภาคเรียน ตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤษภาคม มีครูโชติ เหมรักษ์ ต่อมาเป็นขุนวิจารณ์จรรยา เป็นครูใหญ่
เนื่องจากโรงเรียนอยู่ไกลบ้าน จึงอาศัยวัดยางซึ่งอยู่ใกล้โรงเรียนเป็นที่พักจนจบ ม.๓ ขณะเรียน ม.๔ ต่อได้ครึ่งปี บิดาป่วยจึงต้องลาออกมาช่วยเหลือครอบครัว
พ.ศ.๒๔๗๐ ขณะอายุ ๑๖ ปี ได้ติดตาม “หลวงลุง” พระอาจารย์พุ่ม ธมฺมทินฺโน วัดคูหาสวรรค์ ต.คูหาสวรรค์ อ.เมือง จ.พัทลุง ไปยังรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย แล้วต่อมากลับมาทำงานเหมืองแร่และสวนยาง ที่ จ.ภูเก็ต ได้ค่าจ้างวันละ ๙๐ สตางค์
๏ การศึกษาหาหลักธรรม
พ.ศ.๒๔๗๒ อายุ ๑๘ ปี ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดอุปนันทาราม ต.เขานิเวศน์ อ.เมือง จ.ระนอง เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๒ โดยมีพระรนังควินัยมุนีวงศ์ ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูพิพัฒน์สมาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์
ต่อมา ท่านได้เป็นครูใหญ่ในโรงเรียนประชาบาล เงินเดือนๆ ละ ๒๕ บาท และเรียนนักธรรมไปพร้อมกันโดยสอบนักธรรมตรีได้ที่ ๑ ทั้งมณฑลภูเก็ต จนพระยาอมรศักดิ์ประสิทธิ์ (ทนง บุนนาค) เจ้าเมืองภูเก็ตขณะนั้น ถวายรางวัลผ้าไตร ๑ ไตร นาฬิกา ๑ เรือน หัวข้อกระทู้ธรรมในการสอบครั้งนั้นคือ “น สิยา โลกวฑฺฒโน – ไม่พึงเป็นคนรกโลก”
พ.ศ.๒๔๗๔ อายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดนางลาด ต.เขาเจียก อ.เมือง จ.พัทลุง เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๔ โดยมีพระครูจรูญกรณีย์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาพลัด วัดคูหาสวรรค์ จ.พัทลุง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูเคว็จ วัดคูหาสวรรค์ จ.พัทลุง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ปทุมุตฺตโร” แปลว่า “ดอกบัวประเสริฐ หรือผู้ประเสริฐดุจดอกบัว”
พ.ศ.๒๔๗๕ เทศน์ครั้งแรกที่วัดปากนคร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ในวันพระวันหนึ่ง บังเอิญเจ้าอาวาสไม่อยู่ ชาวบ้านมาทำบุญและอยากฟังเทศน์ตามปกติ จึงนิมนต์พระปั่นขึ้นธรรมาสน์ เพราะเห็นว่ามีความรู้ขั้นนักธรรมเอก แล้วท่านก็สร้างความอัศจรรย์แก่ชาวบ้านบนศาลาวัด เมื่อแสดงธรรมเทศนาได้อย่างคล่องแคล่ว โดยไม่อาศัยหนังสือใบลานเลยแม้แต่น้อย นับเป็นการเริ่มต้นชีวิตพระนักเทศน์ขึ้นครั้งแรก ณ วัดแห่งนี้
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ “พระโลกนาถ” พระภิกษุชาวอิตาเลียนผู้โด่งดัง มีแนวคิดจะเดินธุดงค์จากเมืองไทยผ่านพม่า อินเดีย และประเทศต่างๆ แถบยุโรปจนถึงประเทศอิตาลีบ้านเกิด เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา ประกาศชักชวนพระสงฆ์สามเณรไทยเข้าร่วมเดินธุดงค์ พระปั่นมีความสนใจจึงชักชวนพระสงฆ์สามเณรอีก ๘ รูป (พระบุญชวน เขมาภิรัต ร่วมเดินธุดงค์ไปด้วย สามเณรมีรูปเดียวคือ สามเณรกรุณา กุศลาสัย) จากจังหวัดนครศรีธรรมราชและพัทลุงไปสมทบ ท่านพุทธทาสก็ถูกพระโลกนาถชักชวนด้วย แต่ท่านปฏิเสธ มาบอกความในใจภายหลังว่า “ไม่เลื่อมใส เพราะพระฝรั่งรูปนี้ตั้งชื่อเหมือนพระพุทธเจ้า (นามโลกนาถ เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า)” เรียกคณะธรรมทูตชุดนี้ว่า “พระภิกษุใจสิงห์”
ในบรรดาคณะธรรมทูต “พระภิกษุใจสิงห์” มีพระบุญชวน เขมาภิรัต หรือท่าน บ.ช.เขมาภิรัต เพียงรูปเดียวเท่านั้นที่สามารถสื่อสารกับ “พระโลกนาถ” ได้ เพราะท่านสามารถพูดเขียนภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสได้ ซึ่งพระปั่น ปทุมุตฺตโร (ปัญญานันทะ) ได้เอ่ยถามวันหนึ่งว่า ไปเรียนภาษาเหล่านี้มาจากไหน ท่านตอบสั้นๆ ว่า “เรียนเอง”
ขณะคณะสงฆ์ ๙ รูป เดินไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟนครศรีธรรมราช มีญาติโยมติดตามไปส่งมากมายนับพันคน และที่นี่ก็ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ฮือฮาอีกหน้าหนึ่ง เมื่อพระปั่นแสดงปาฐกถาธรรมด้วยการยืนเทศน์บนม้านั่ง หน้าไมโครโฟน หลังสถานีรถไฟ กลายเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่ยืนเทศน์ของวงการสงฆ์เมืองไทย ซึ่งต่อมาเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างจากวงการสงฆ์ว่า ไม่เหมาะสม ไม่สำรวม บ้างก็ว่าไม่ได้เทศน์ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะไม่ได้อ่านจากใบลาน แต่เรื่องนี้ก็ได้รับการยอมรับในเวลาต่อๆ มา
แต่การเดินทางจาริกแสวงบุญครั้งนี้ก็ไม่ราบรื่นอย่างที่คิดไว้ เมื่อเดินทางถึงประเทศพม่าแล้ว สุดท้ายพระปั่นจึงตัดสินใจเดินทางกลับเมืองไทย (คงมีแต่สามเณรกรุณา กุศลาสัย ติดสอยห้อยตามพระโลกนารถไปผจญภัยในภารตประเทศ) โดยท่านล่องใต้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอุทัย อ.เมือง จ.สงขลา และสร้างตำนานการบรรยายธรรมนอกใบลาน ทันยุคสมัย จนเกิดการบอกเล่ากันปากต่อปาก ทำให้มีกิจนิมนต์ไปบรรยายธรรมอยู่มิได้ว่างเว้น
พ.ศ.๒๔๘๔-๒๔๘๖ ศึกษาภาษาบาลี ณ วัดสามพระยา แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ จนสอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค แล้วเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ ๒) จึงไม่ได้เรียนต่อ แล้วหันมาสนใจเทศน์สอนธรรมแก่ประชาชนในเวลาต่อมา
ประกาศธรรมแก่ชาวบ้านที่เชียงใหม่
ในปี พ.ศ. 2492 หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ได้รับอาราธนานิมนต์ให้ไปจำพรรษาที่วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่ และได้เริ่มแสดงธรรมในทุกวันอาทิตย์และวันพระที่พุทธนิคม จ.เชียงใหม่ พร้อมกันนี้หลวงพ่อได้เขียนบทความต่างๆ ลงในหนังสือพิมพ์และเขียนหนังสือธรรมะขึ้นจำนวนหลายเล่ม นอกจากนี้ หลวงพ่อได้เดินทางไปประกาศธรรมแก่ชาวบ้าน ชาวเขาโดยใช้รถติดเครื่องขยายเสียง จนชื่อเสียงของหลวงพ่อดังกระฉ่อนไปทั่ว จ.เชียงใหม่ ในนาม “ภิกขุปัญญานันทะ”
ในยุคนี้เองที่หลวงพ่อได้ก่อตั้งมูลนิธิ “เมตตาศึกษา” ที่วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ และบำเพ็ญศีล กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอีกมากมาย
วัดชลประทานรังสฤษฎ์
ในปี พ.ศ. 2502 ม.ล.ชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทาน ในสมัยนั้น ระหว่างที่ไปเยือนเชียงใหม่มีความประทับใจ ในลีลาการสอนธรรมะแนวใหม่ของหลวงพ่อ จึงเกิดความศรัทธาปสาทะในหลวงพ่อ และในขณะนั้นกรมชลประทานได้สร้างวัดใหม่ขึ้น ชื่อ “วัดชลประทานรังสฤษฎ์” ที่ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จึงได้อาราธนาหลวงพ่อไปเป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ พ.ศ. 2503 จนถึงปัจจุบัน
พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) ได้ดำเนินการเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยวิธีที่ท่านได้เริ่มปฏิวัติรูปแบบการเทศนาแบบดั้งเดิมที่นั่งเทศนาบนธรรมาสน์ถือใบลาน มาเป็นการยืนพูดปาฐกถาธรรมแบบพูดปากเปล่าต่อสาธารณชน พร้อมทั้งยกตัวอย่างเหตุผลร่วมสมัย ทันต่อเหตุการณ์ เป็นการดึงดูดประชาชนให้หันเข้าหาธรรมะได้เป็นเป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงแรกๆ ได้รับการต่อต้านอยู่บ้าง แต่ต่อมาภายหลังการปาฐกถาธรรมแบบนี้กลับเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปจนถึงบัดนี้ เมื่อพุทธศาสนิกชนทราบข่าวว่า หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุจะไปปาฐกถาธรรมที่ใดก็จะติดตามไปฟังกันเป็นจำนวนมาก จนในที่สุดหลวงพ่อได้รับอาราธนาให้เป็นองค์แสดงปาฐกถาธรรมในสถานที่ต่างๆ และเทศนาออกอากาศทั้งทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ หลวงพ่อยังได้รับอาราธนาไปแสดงธรรมในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น และยังได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมและกล่าวคำปราศรัยในการประชุมองค์กรศาสนาของโลกเป็นประจำอีกด้วย
โดยที่หลวงพ่อท่านเป็นพระมหาเถระผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทย ได้สร้างงานไว้มากมายทั้งด้านศาสนาสังคมสงเคราะห์ตลอดจนงานด้านวิชาการ ดังนั้นหลวงพ่อจึงได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ได้รับรางวัลเกียรติคุณมากมาย และเป็นประธานในการดำเนินกิจกรรมทั้งที่เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและสังคม เช่น สนับสนุนโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดน เป็นประธานจัดหาทุนสร้างตึกโรงพยาบาล กรมชลประทาน 80 ปี (ปัญญานันทะ) และเป็นประธานในการดำเนินการจัดหาทุนสร้างวัดปัญญานันทาราม ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ แม้ว่าคำสอนของหลวงพ่อจะเป็นคำสอนที่ฟังง่ายต่อการเข้าใจ แต่ลึกซึ้งด้วยหลักธรรมและอุดมการณ์อันหนักแน่นในพระรัตนตรัย หลวงพ่อปัญญานันทภิภขุ เป็นหนึ่งในบรรดาภิกษุผู้มีชื่อเสียง และเปี่ยมด้วยคุณธรรมเมตตาธรรม ผู้นำคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งเหมาะสมสำหรับชนทุกชั้นที่จะเข้าถึง หลวงพ่อเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่กล้าในการปฏิรูปพิธีกรรมทางศาสนา ของชาวไทยที่ประกอบพิธีกรรมหรูหรา ฟุ่มเฟือย โดยเปลี่ยนเป็นประหยัด มีประโยชน์และเรียบง่าย ดังนั้น หลวงพ่อจึงได้รับการขนานนามว่า “ผู้ปฏิรูปพิธีกรรมของชาวพุทธไทย” ในปัจจุบัน
ผลงานและเกียรติคุณ
งานด้านการปกครอง
พ.ศ. 2503 เป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์
พ.ศ. 2506 ได้รับพระบัญชา แต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 9
เป็นรองเจ้าคณะภาค 18
พ.ศ. 2515 เป็นเจ้าอาวาสวัดพุทธธรรม ชิคาโก สหรัฐอเมริกา
งานด้านการศึกษา
พ.ศ. 2503 เป็นเจ้าสำนักศาสนาศึกษา แผนกธรรมและบาลีวัดชลประทานรังสฤษฏ์
พ.ศ. 2512 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพุทธศาสนาวัดอาทิตย์ ระดับอนุบาล ประถม มัธยมศึกษา
พ.ศ. 2524 เป็นผู้อำนวยการจัดการการอบรมพระธรรมทายาทของวัดชลประทานรังสฤษฏ์
เป็นผู้อำนวยการจัดการอบรมพระนวกะที่บวชในวัดชลประทานรังสฤษฏ์
งานด้านการเผยแผ่
พ.ศ.2492-2502 เป็นองค์แสดงปาฐกถาธรรมประจำวันพระและวันอาทิตย์ ณ พุทธนิคม สวนพุทธธรรม วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่
พ.ศ.2500 เป็นประธานมูลนิธิ “ชาวพุทธมูลนิธิ” จังหวัดเชียงใหม่
เป็นประธานก่อตั้งพุทธนิคม จ.เชียงใหม่
พ.ศ.2503 เป็นองค์แสดงธรรมทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์
เป็นผู้ริเริ่มการทำบุญ ฟังธรรมในวันอาทิตย์ ณ วัดชลประทานรังสฤษฏ์
เป็นผู้ก่อตั้งทุนพิมพ์หนังสือเพื่อเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชน พ.ศ. 2520
เป็นผู้อบรมผู้ช่วยผู้พิพากษา
พ.ศ.2525 รับเป็นองค์แสดงธรรมแก่วุฒิสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
พ.ศ.2534 เป็นผู้ริเริ่ม ค่ายคุณธรรมแก่เยาวชน เรียกว่า “ค่ายพุทธบุตร” ในโรงเรียนต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ฯลฯ
พ.ศ.2536 จำพรรษา ณ วัดพุทธธรรม ชิคาโก สหรัฐอเมริกา
การปฏิบัติศาสนากิจในต่างประเทศ
พ.ศ. 2497 เดินทางเผยแผ่ธรรมรอบโลก
ช่วยเหลือกิจการพุทธศาสนา เผยแผ่ธรรมะในต่างประเทศ คือ ประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เยอรมัน
เป็นเจ้าอาวาสววัดพุทธธรรม วัดไทยในชิกาโก สหรัฐอเมริกา
งานด้านสาธารณูปการ
พ.ศ. 2516 เป็นประธานในการก่อสร้างกุฏิสี่เหลี่ยม เพื่อเป็นที่อยู่แก่พระภิกษุผู้บวชใหม่
พ.ศ. 2518 เป็นประธานในการก่อสร้างโรงเรียนพุทธธรรม
เป็นประธานในการก่อสร้างโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
พ.ศ. 2537 เป็นประธานก่อสร้างกุฏิสองหลังเป็นกุฏิทรงไทยประยุกต์
งานด้านสาธารณประโยชน์
พ.ศ. 2533 เป็นประธานหาทุนสร้าง “ตึก 80 ปี ปัญญานันทะ” ให้โรงพยาบาลชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
สร้างศูนย์ฝึกและปฏิบัติงาน มูลนิธิแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ที่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา
พ.ศ. 2534 บริจาคเงินสร้างอุโบสถวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) จ.เชียงใหม่
พ.ศ. 2537 บริจาคเงินสร้างโรงอาหารแก่โรงเรียนประภัสสรรังสิต อ.เมือง จ.พัทลุง
บริจาคเงินซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลวชิระ จ.ภูเก็ต
รับมอบที่ดินและเป็นประธานหาทุนสร้างและอุปถัมภ์ วัดปัญญานันทาราม จ.ปทุมธานี
บริจาคเงินเป็นทุนอาหารกลางวันเด็กนักเรียนในโรงเรียนท้องถิ่นที่ขาดแคลนต่างๆ หลายจังหวัด
ได้แสดงธรรมเพื่อหาเงินสบทบทุนในจัดสร้างอาคารเรียน 100ปี โรงเรียนพัทลุง จังหวัดพัทลุง
แสดงธรรมเพื่อหาเงินสมบทในจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลพัทลุง จังหวัดพัทลุง
เป็นประธานหาทุนปรับปรุงและยกฐานะโรงพยาบาลชลประทานเป็นศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ-ชลประทาน
งานพิเศษ
พ.ศ. 2503 เป็นองค์แสดงธรรมถวายสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน
พ.ศ. 2518 เป็นองค์แสดงธรรมถวายสมเด็จพรเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ณ ศาลาการเปรียญ วัดชลประทานรังสฤษฏ์
เป็นองค์แสดงธรรมถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และ พระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องในพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รามาธิบดีอันมีศักดิ์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
เป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทแก่ช่าวต่างประเทศ ที่อุปสมบทในประเทศไทย เช่น ชาวอเมริกัน อังกฤษ ออสเตรเลีย เยอรมัน ญี่ปุ่น และศรีลังกา เป็นต้น
พ.ศ. 2529 ได้รับนิมนต์เข้าร่วมประชุมพุทธศาสนิกสัมพันธ์อาเชี่ยนเพื่อสันติภาพ ครั้งที่ 7 ที่ประเทศประชาธิปไตยประชาชนลาว (12th Asain Buddist Conference for Peace)
พ.ศ. 2536 ได้รับนิมนต์ไปร่วมประชุมและบรรยาย ในการประชุมสภาศาสนาโลก 1993 ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา (The 1993 Parliament of the world’s Religion)
งานด้านวิทยานิพนธ์
ได้เขียนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาไว้มากมาย เช่น
ทางสายกลาง
คำถามคำตอบพุทธศาสนา
คำสอนในพุทธศาสนา
หน้าที่ของคนฉบับสมบูรณ์
รักลูกให้ถูกทาง
ทางดับทุกข์
อยู่กันด้วยความรัก
อุดมการณ์ของท่านปัญญา
ปัญญาสาส์น
ชีวิตและผลงาน
มรณานุสติ
ทางธรรมสมบูรณ์แบบ
72 ปี ปัญญานันทะ
กรรมสนองกรรม เป็นต้น
เกียรติคุณที่ได้รับ
พ.ศ. 2520 ได้รับรางวัล “สังข์เงิน” จากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ในฐานะพระภิกษุผู้เผยแผ่ธรรมะและศีลธรรมยอดเยี่ยมของประเทศไทย
พ.ศ. 2521 ได้รับรางวัล “นักพูดดีเด่น” ประเภทเผยแผ่ธรรม จากสมาคมฝึกพูดแห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2525 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระศาสนา เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จากกรมการศาสนา โดยได้รับรางวัลและประกาศเกียรติคุณ 2 รางวัล คือ ประเภท ก.บุคคล และประเภท ข.สื่อสารมวลชน (รายการส่งเสริมธรรมะทางสถานีวิทยุโทรทัศน์)
พ.ศ. 2524 ได้รับปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาครุศาสตร์ จาก มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2531 ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง
พ.ศ. 2534 ได้รับปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรจน์
พ.ศ. 2536 ได้รับปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2536 ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ปรัชญาและศาสนา) จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
พ.ศ. 2537 ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. 2548 ได้รับการยกย่องเป็นศิษย์เก่าดีเด่น เนื่องในโอกาสงานครบรอบ 100 ปี โรงเรียนพัทลุง จากโรงเรียนพัทลุง
พ.ศ. 2550 ได้รับยกย่องเชิดชู ในฐานะ “ผู้สูงอายุแห่งชาติ” ประจำปี 2550 ผู้มีผลงานดีเด่นคนแรก (รูปแรก) ของประเทศ
สมณศักดิ์ที่ได้รับ
วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ “พระปัญญานันทมุนี”
วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นราช ที่ “พระราชนันทมุนี”
วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ “พระเทพวิสุทธิเมธี”
วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ “พระธรรมโกศาจารย์ สุนทรญาณดิลก สาธกธรรมภาณ วิสาลธรรมวิภูษิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”
วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏหรือรองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ “พระพรหมมังคลาจารย์ ไพศาลธรรมโกศล วิมลศีลาจารวินิฐ พิพิธธรรมนิเทศ พิเศษวรกิจจานุกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”
มรณภาพ
พระพรหมังคลาจารย์ถึงแก่มรณภาพเมื่อเวลา 9.09 น. ในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยเหตุติดเชื้อในกระแสโลหิต สิริรวมอายุได้ 96 ปี 5 เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานโกศแปดเหลี่ยมและรับศพไว้ในพระราชานุเคราะห์