ประวัติ หลวง ปู่ ทิม

หลวงปู่ทิม คือ พระนักพัฒนา ผลงานที่ทำเพื่อสังคมเป็นที่ประจักษ์ชัดเจน ทำให้ในปี พ.ศ. 2478  ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน ปีพ.ศ. 2479 เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร และปีพ.ศ. 2507 ได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูภาวนาภิรัติ ซึ่งกว่าจะประสบความสำเร็จเช่นนี้ ท่านมีประวัติความเป็นมา ดังต่อไปนี้

หลวงปู่ทิม หรือพระครูภาวนาภิรัติ ชื่อเดิม คือ ทิม งามศรี เกิดวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2422 ที่อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ท่านเป็นบุตรของนายแจ้และนางอินทร์ และเป็นหลานของหลวงปู่สังข์ ผู้เป็นปรมาจารย์ชื่อดังในเรื่องวิชาอาคม

เมื่อท่านมีอายุเจริญได้ 17 ปี บิดาได้ส่งตัวไปเป็นศิษย์ท่านพ่อสิงห์ และได้เล่าเรียนหนังสือจนอ่านออกเขียนได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปบิดาได้ขอให้ลาสิกขาออกมาช่วยทำงาน ด้วยความกตัญญูรู้คุณบิดามารดาของหลวงปู่ทิม ท่านจึงได้ให้กลับมาอยู่ที่บ้านเช่นเดิม

เมื่อกลับมาใช้ชีวิตตามแบบฆราวาส ท่านมีหน้าที่หาอาหารเลี้ยงครอบครัว โดยต้องออกไปล่าสัตว์เพื่อนำไปขาย และหาเงินมาเลี้ยงจุนเจือครอบครัว แต่เมื่ออายุได้ 19 ปี ท่านถูกคัดเลือกให้เป็นทหาร และต้องเข้าประจำการที่กรุงเทพฯ ทำให้เป็นช่วงเวลาที่ต้องจากบ้านอีกครั้ง และยาวนานถึง 4 ปี

หลังจากปลดประจำการในปี พ.ศ. 2449 ท่านตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านอีกครั้ง และบิดาก็ได้จัดพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุให้ เมื่อบวชเป็นพระภิกษุได้มาอาศัยอยู่ที่วัดกับพระอาจารย์สิงห์ และใช้เวลาส่วนใหญ่กับการศึกษาตำราของหลวงปู่สังข์ ซึ่งทิ้งตำราด้านวิชาอาคมไว้ที่วัดละหารไร่หลังจากมรณภาพไปแล้ว ทำให้หลวงปู่ทิมเป็นอีกหนึ่งพระเกจิที่มีความสามารถในด้านวิชาอาคมที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงปู่สังข์โดยตรง

หลวงปู่ทิม มีความสนใจในทางปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง ท่านพยายามฝึกฝนตนเองด้วยการออกธุดงค์ตามป่าเขาลำเนาไพรเพียงลำพัง ท่านออกธุดงค์เดินทางไปหลายจังหวัด ซึ่งกินเวลานานถึง 3 ปี และเมื่อท่านพิจารณาแล้วว่าสมควรแก้เวลา ท่านก็เดินทางกลับมาที่จังหวัดชลบุรี และได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดนามะตูม

หลวงปู่ทิม ไม่เคยหยุดเรียนรู้ ท่านร่ำเรียนวิชากับเกจิอาจารย์หลายท่าน ศึกษาตำรา และวิปัสสนากรรมฐาน จนเมื่อได้มาอยู่ที่วัดละหารไร่ ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าอาวาสวัด ท่านก็ได้บูรณะซ่อมแซม สร้างพระอุโบสถ บริหารจัดการ และพัฒนาวัดอย่างต่อเนื่อง จนทำให้พุทธศาสนิกชนเลื่อมใส ศรัทธา และมีหลายคนที่ตั้งใจบวชเพื่อตามปรนนิบัติท่าน

นอกจากนี้ หลวงพ่อทิม ยังพัฒนาการศึกษา สร้างโรงเรียน สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในชุมชน เช่น สะพานข้ามคลอง หรือศาลาการเปรียญ

นับว่าหลวงปู่ทิม เป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญผู้เป็นตนแบบแห่งความเพียรและการทำเพื่อส่วนรวม ซึ่งทำให้ผู้คนทั่วทั้งประเทศยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติดีสืบไป