วันอังคาร, 23 เมษายน 2567

พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข)

พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข)
พ.ศ. ๒๓๙๐ – พ.ศ. ๒๔๖๖
วัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท
——————–

นามเดิม : ศุข นามสกุล : เกษเวช (ต่อมาลูกหลานได้ใช้ เกษเวชสุริยา ก็มี) เกิดเมื่อ : วันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๙๐ ที่บ้านมะขามเฒ่า ( เรียกกันในสมัยนั้น ปัจจุบันเรียก บ้านปากคลอง ) ตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท โยมบิดา : ชื่อ นายน่วม โยมมารดา : ชื่อ นางทองดี ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลมะขามเฒ่า

มีบุตรและธิดา ด้วยกัน ๙ คน
๑. หลวงปู่ศุข ๒. นางอ่ำ ๓. นายรุ่ง ๔. นางไข่ ๕. นายสิน ๖ .นายมี ๗. นางขำ ๘. นายพลอย ๙ .หลวงพ่อปลื้ม

ปัจจุบัน ยังมีลูกหลานของท่าน อยู่ที่บ้านใต้วัดมะขามเฒ่าอีกหลายคน หรือแม้แต่ร้านค้าขายภายในบริเวณวัดเองก็ยังมี หลวงปู่นั้น ท่านมีลุงคนหนึ่งชื่อ แฟง ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบางเขน จังหวัดพระนคร ( ในสมัยนั้น ) มีอาชีพ ทำสวน ไม่มีบุตรหรือธิดา จึงได้มาขอหลานจากโยมบิดามารดาหลวงปู่ศุขไปเลี้ยง โยมท่านก็อนุญาตให้เลือกเอา ลุงแฟงก็เลือกเอาคนโต หรือ เรียกว่าคนหัวปี คือ หลวงปูศุข เข้าใจว่าขณะนั้นอายุประมาณ ๑๐ ขวบ เมื่อหลวงปู่ศุขไปอยู่กับลุงแฟง เจริญเติบโตที่ตำบลบางเขน

เมื่อหลวงปู่ฯ อยู่ในวัยฉกรรจ์ ท่านได้เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ทำมาหากินค้าขายเล็กๆ น้อยๆ โดยยึดลำคลองบางเขน ซึ่งมีปากคลองเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนใต้จังหวัดนนทบุรีลงมา ปัจจุบันอยู่ข้างทางเข้าวัดทางหลวง เป็นที่ทำมาหากิน คลองบางเขนนี้ทอดขึ้นไปเชื่อมกับคลองรังสิต เมื่อก่อนนี้เป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญและกว้างขวางเป็นอย่างมาก เมื่อการคมนาคมทางบกเจริญขึ้น การสัญจรทางน้ำก็หมดความสำคัญลง ปัจจุบันคงจะตื้นเขินไปแล้วก็ได้ เพราะขาดการทะนุบำรุงเท่าที่ควร หลวงปู่ฯ ท่านทำมาหากินอยู่ในคลองบางเขนอยู่ระยะหนึ่ง จนอายุได้ ๑๘ ปี ได้ภรรยาชื่อ นางสมบูรณ์ และเกิดบุตรชายคนหนึ่งชื่อ สอน เกศเวชสุริยา

หลวงปู่ฯ ท่านครองเพศฆราวาสอยู่ไม่นาน พออายุท่านครบ ๒๒ ปี ท่านได้ลาไปอุปสมบท ณ วัดโพธิ์บางเขนหรือปัจจุบันชื่อว่า วัดโพธิ์ทองล่าง ซึ่งอยู่ปากคลองบางเขนตอนล่าง ส่วนวัดโพธิ์ทองบน อยู่ตอนเหนือของปากคลองบางเขน ตอนบนบริเวณจังหวัดปทุมธานี

อุปสมบท
การอุปสมบทของหลวงปู่ศุขนั้น ท่านได้อุปสมบทเมื่ออายุได้ ๒๒ ปี ที่วัดโพธิ์บางเขน ( ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโพธิ์ทองล่าง ) โดยมี พระครูเชย จนฺทสิริ วัดโพธิ์บางเขน เป็น พระอุปัชฌาย์ พระถายมเป็นพระคู่สวด การอุปสมบทนี้มีลุงแฟงเป็นผู้อุปการะทั้งสิ้น ส่วนโยมบิดามารดาไม่ได้มาร่วมพิธีด้วย เพราะการเดินทางสมัยนั้นลำบากมาก จากชัยนาทถึงกรุงเทพฯ ก็กินเวลาอย่างน้อย ๒ ถึง ๓ วัน จึงจะถึง

พระอุปัชฌาย์ของท่านชื่อ หลวงพ่อเชย จันทสิริ อดีตท่านเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทองล่าง ซึ่งเป็นพระสงฆ์ฝ่ายรามัญที่ถือเคร่งในวัตรปฏิบัติและพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลวงพ่อเชย ท่านยังเป็นอาจารย์ทางฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีความรู้และความชำนาญรู้แจ้งแทงตลอด อีกทั้งทางด้านวิทยาคมก็แก่กล้าเป็นยิ่งนัก หลวงปู่ฯ ท่านได้รับถ่ายทอดวิชาความรู้ จากอุปัชฌาย์ของท่าน มาพร้อมกับอาจารย์เปิง วัดชินวนาราม และหลวงปู่เฒ่า วัดหงษ์ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นศิษย์ในสายหลวงพ่อเชย วัดโพธิ์ทองล่างเหมือนกัน

เมื่อได้อุปสมบทแล้วอยู่กับพระอุปัชฌาย์ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยพอสมควรแล้ว ท่านก็ได้ออกเดินธุดงค์หาที่สงบฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐาน และวิชาอาคมต่าง ๆ จากสำนักที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ในสมัยนั้น จนชำนาญดีแล้ว จึงกราบลาอาจารย์กลับบ้านเกิดของท่าน โดยมาพักอยู่ที่วัดร้างแห่งหนึ่งข้างหมู่บ้านของท่าน ชื่อวัดอู่ทอง ปัจจุบันนี้เรียกว่า วัดปากคลอง ชาวบ้านแถวนั้น มีความศรัทธาเลื่อมใส จึงนิมนต์ให้ท่านจำพรรษาอยู่ที่นั้น เพื่อที่ว่าจะได้สร้างวัดขึ้นมาใหม่ ดังนั้นท่านจึงได้อยู่ ณ ที่นั้นมาจนท่านมรณภาพ ในระหว่างที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้น ได้เริ่มพัฒนาในท้องถิ่นให้เจริญรุ่งเรือง ด้วยจากวัดร้าง ที่ไม่มีอะไรเลย จนถึง พุทธาวาส ธรรมาวาส และสังฆาวาส เป็นวัดที่สมบูรณ์แบบจนถึงทุกวันนี้ ยังมีพระอุโบสถและมณฑป ปรากฏให้เห็นอยู่ ส่วนการอบรมสั่งสอนนั้นท่านได้แนะแนวการประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ให้เห็นคุณและโทษ ของผลการปฏิบัติตนในทางที่ดี หรือไม่ดีอย่างไร จนประชาชนแถวนั้นมีความประพฤติดีมีศีลธรรมเป็นส่วนมาก

หลวงปู่ฯ ท่านเพลินอยู่ในธรรมเสียหลายปี จนกระทั่งมารดาท่านที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ได้ชราภาพลงตามอายุขัย และความเจ็บไข้มาเยือนอยู่บ่อยครั้ง ด้วยความเป็นห่วงเป็นใยในบิดามารดาของท่าน จึงได้เดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาเดิม และได้อยู่จำพรรษาปีแรกๆ ที่วัดอู่ทองปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่โบราณที่อยู่ลึกเข้าไปในคลองมะขามเฒ่า หรือบริเวณต้นแม่น้ำท่าจีนในปัจจุบัน แต่ทว่าสภาพของวัดอู่ทองขณะนั้น ได้เกิดการชำรุดทรุดโทรมลงตามสภาพ เกินกว่าที่จะบูรณปฏิสังขรณ์ให้กลับคืนมาสู่สภาพที่ดีได้ต่อไป ท่านจึงได้ขยับขยายออกมา ที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และได้สร้างกุฏิขึ้นครั้งแรกหนึ่งหลัง พอเป็นที่อยู่อาศัยไปพลางก่อน

สืบต่อมามารดาของหลวงปู่ๆ ได้ถึงแก่กรรมและได้จัดการฌาปนกิจศพ และในงานนี้เอง หลวงปู่ฯ ท่านได้สร้างวัตถุมงคลในรูปพระพิมพ์สี่เหลี่ยม ซุ้มรัศมีออกแจกเป็นของที่ระลึกเป็นครั้งแรก เมื่อผู้ที่ได้รับแจกพระเครื่องจากท่านไป ได้ปรากฏอภินิหารทางอยู่ยงคงกระพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกันเขี้ยวงา คือสุนัขกันไม่เข้า ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่บังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะบ้านนอก อย่างในชนบทสมัยก่อนนั้น ไม่ค่อยจะมีรั้วรอบขอบชิดเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็ได้อาศัยสุนัขที่เลี้ยงไว้เป็นยามเฝ้าบ้าน ฉะนั้นการที่จะแวะเวียนไปบ้านหนึ่งบ้านใดนั้น จะต้องระวังเรื่องสุนัขลอบกัดให้ดี มิฉะนั้นท่านจะถูกสุนัขกัดเอาง่ายๆ พระของหลวงปู่ฯ จึงมีชื่อเรื่องสุนัขกันไม่เข้า เป็นปฐมเหตุก่อน จึงบังเกิดความนิยมไปขอท่านมาแขวนคอบุตรหลานเพื่อกันเขี้ยวงาและภยันตรายต่างๆ สมัยก่อนพระวัดปากคลอง เนื้อตะกั่ว จะมีแขวนอยู่ในคอเด็กในท้องถิ่นเกือบจะทุกคน แล้วถ้าจะไปขอพรหลวงปู่ศุข ท่านมักจะถามว่า “เอ็งมีลูกกี่คน?” ท่านจะให้ครบทุกคน

กิตติศัพท์ในความขลัง ประสิทธิในพระพิมพ์สี่เหลี่ยมของท่าน จึงค่อยๆ เผยแพร่จากปากหนึ่งไปสู่อีกปากหนึ่ง ในเวลาไม่ช้าไม่นาน คุณวิเศษของท่านจึงค่อยๆ โด่งดังขจรขจายไปทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นเส้นทางคมนาคมสายหลัก การขนส่งสินค้า ตลอดจาการทำมาค้าขาย จะขึ้นล่องจะต้องอาศัยสายน้ำเจ้าพระยาเพียงแห่งเดี่ยวเท่านั้น เพราะในสมัยนั้น ถนนหนทางทางบกยังทุรกันดาร พอตกเพลาพลบค่ำพ่อค้าแม่ขายเรือเล็กเรือใหญ่ จะมาอาศัยนอนค้างแรมที่แพหน้าวัดของท่าน เพื่ออาศัยบารมีของท่าน ช่วยป้องกันขโมยขโจรที่จะมาประทุษร้าย ต่อเลือดเนื้อชีวิตและทรัพย์สิน ถ้าจะเปรียบไปแล้วหน้าวัดของท่าน จึงเป็นเสมือนหนึ่งเป็นชุมทางที่สำคัญ นี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ช่วยเสริมส่งให้เกียรติคุณของท่านแผ่ขยายไปทั่วทุกภาคของประเทศ ชื่อเสียงของท่านจึงเป็นที่รู้จักกันดี “หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า”

เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ฝากตัวเป็นศิษย์
อนึ่ง มีผู้กล่าวว่าท่านมีวิชาอาคมเวทย์มนต์เก่งมาก สามารถเสกใบไม้ให้เป็นตัวต่อ ตัวแตน เสกหัวปลีให้เป็นกระต่าย เสกก้านกล้วยให้เป็นงูได้ และเรื่องอภินิหารของขลัง คงกระพันชาตรี มีอีกมากมาย อาจจะเป็นด้วย บุญกุศลของหลวงปู่ศุข กับ เสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดาแห่งราชนาวี ซึ่งเป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ นับลำดับราชสกุลวงศ์ เป็นพระองค์ที่ ๒๘ และเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ได้สร้างสมกันมาแต่ชาติปางก่อน ดลบันดาลให้เสด็จในกรมฯ ซึ่งทรงศรัทธาเลื่อมใส ในทางมหาพุทธาคมอยู่แล้ว ได้เสด็จประพาสไปในภาคเหนือ จึงเป็นเหตุให้หลวงปู่ศุข และพระองค์ท่านได้พบกัน และเป็นที่ต้องอัธยาศัยซึ่งกันและกัน จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ – อาจารย์ เพื่อจักได้ศึกษาทางมหาพุทธาคม และปรากฏว่า พระองค์เป็นศิษย์ที่มีความรู้ความสามารถ ได้ศึกษาแตกฉาน จนกระทั่งหลวงพ่อเองก็หมดความรู้ จึงได้ให้เสด็จในกรมฯ ไปศึกษาเคล็ดวิชากับหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จังหวัดพิจิตรต่อ ดังเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วนั้น และได้วาดภาพพุทธประวัติด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ที่อุโบสถด้านในหน้าอุโบสถ ซึ่งปรากฏจนทุกวันนี้ หลวงปู่ศุข ท่านมีเมตตามาก จึงมีศิษย์เป็นอันมากที่มาเรียนวิชาเหล่านี้ ท่านได้รับสมณศักดิ์ เป็นพระครูวิมลคุณากร และเป็นเจ้าคณะแขวง ( ปัจจุบันเรียกว่าเจ้าคณะอำเภอ ) เป็นองค์แรกของอำเภอวัดสิงห์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อใด

เมื่อหลวงปู่ศุข ท่านมีลูกศิษย์อย่างเสด็จในกรมฯ จึงเป็นกำลังสำคัญให้ท่าน สามารถที่สร้างวัดปากคลองมะขามเฒ่าให้เสร็จสมบูรณ์ ถาวรวัตถุทางพุทธศาสนา ที่คงเหลือเป็นประจักษ์พยานในปัจจุบันนี้ก็คือ ภาพเขียนฝีมือเสด็จในกรมฯ บนฝาผนังพระอุโบสถ วัดปากคลองมะขามเฒ่า ที่ยังรักษาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นภาพเขียนฝีมือเสด็จในกรมฯ บนฝาผนังพระอุโบสถ วัดปากคลองมะขามเฒ่า ที่ยังรักษาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นภาพเขียนสีน้ำ ที่ทางกรมศิลป์ยกย่องว่าเสด็จในกรมฯ ทรงฝีมือในการเขียนภาพเป็นอย่างมาก และทรงสอดแทรกอารมณ์ขัน ในภาพพระพุทธเจ้าชนะมาร ในกระแสน้ำที่พระแม่ธรณีบีบมวยผม ทำให้เกิดอุทกธาราหลากไหล พัดพาเอาทัพพระยามารไปนั้น พระองค์ท่านเขียนเป็นภาพลิงใส่นาฬิกา และหนีบขวดวิสกี้กำลังเดินตุปัดตุเป๋ไปเลย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฤาษีปัญจวัคคี เมื่อเห็นเจ้าชายสิทธัตถะเลิกทรมานกาย หันมากินอาหาร ก็นึกว่าพระองค์คงจะถ้อถอยละความเพียรแล้ว จึงพากันผละหนีพระองค์ไปนั้น เสด็จในกรมฯ ท่านเขียนใบหน้าของฤาษีปัญจวัคคี โดยสอดอารมณ์ที่ยิ้มเยาะเย้ยหยัน อย่างไม่อะไรไยดีต่อพระองค์ เน้นความรู้สึกได้เด่นชัดมาก

ฝีมือของเสด็จในกรมฯ อีกชิ้นหนึ่งก็คือภาพเขียนสีน้ำมัน เป็นรูปหลวงปู่ศุขยืนเต็มตัวและถือไม้เท้า ภาพนี้เขียนขึ้นในขณะที่หลวงปู่มีอายุมากแล้ว จึงต้องเดินสามขา ศิลปวัตถุในพุทธศาสนา ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า นอกจากพระอุโบสถแล้วยังมีมณฑปจตุรมุข ประดิษฐ์บานรอยพระพุทธบาท ประตูทั้ง ๔ บานนั้นแกะด้วยไม้สัก แกะลวดลายลึกถึงสามชั้น เคยมีคนสมคบกัน เอาบานประตูมณฑปจตุรมุขออกขาย เอาลงมากรุงเทพฯ เตรียมใส่เรือกระแชงในคลองมหานาค เพื่อออกต่างประเทศ ด้วยดวงวิญญาณในหลวงปู่ศุข ท่านผูกพันอยู่กับศาสนาวัตถุที่ท่านสร้างเอาไว้ ในบวรพุทธศาสนา ท่านจึงเข้าประทับทรงจากหิ้งบูชา จังหวัดนครสวรรค์ รับเอาท่านแม่ทัพที่นครสวรรค์ (ขออภัยผู้เขียนจำชื่อท่านไม่ได้) และมารับเอาท่านนายอำเภอ ประจำจังหวัดชัยนาทในขณะนั้น คือ คุณสุธี โอบอ้อม แล้วนั่งรถเข้ากรุงเทพฯ ร่างทรงหลวงปู่ฯ ได้พาคณะลดเลี้ยวเข้าครอกเข้าซอย จนมาถึงเรือกระแชงที่บรรทุกบานประตูมณฑป เตรียมขนออกนอกได้อย่างทันท่วงที ยึดเอาบานประตูทั้ง ๔ บาน คืนกลับไป ขณะนั้นยังคงเก็บรักษาไว้ที่วัดป่าพานิชวนาราม อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท และยังไม่ได้ส่งคืนวัดปากคลองมะขามเฒ่า เพราะเหตุอะไรนั้น ชาวจังหวัดชัยนาทเขาทราบกันดี

ปัจจุบันชาวจังหวัดชัยนาทผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ได้ร่วมกันสร้างรูปหุ่นขี้ผึ้งไว้ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า เพื่อจะได้ทำการสักการบูชาโดยทั่วกัน กรมทหารเรือเห็นความสำคัญ จึงได้ทำการบูรณะซ่อมแซมมณฑป เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ ทำให้ประชาชนทั้งใกล้และไกลต่างจังหวัด หลั่งไหลมาสักการะบูชาทุก ๆ วันมิได้ขาด วัดปากคลองมะขามเฒ่า จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยนาทต่อไป

เรื่องทรงเจ้าเข้าผีนี้ จะไม่เชื่อก็ไม่ได้ แต่ที่ทรงจริงๆ นั้นมันมีน้อย อย่างในกรณีดวงวิญญาณหลวงปู่ศุขประทับทรง แล้วซอกแซกลงมาจากนครสวรรค์ถึงกรุงเทพฯ เกือบ ๓๐๐ กม. แล้วยังพาคณะเข้าครอกตรอกซอย จนถึงเรือกระแชงที่จอดลอยลำอยู่ในคลองมหานาคนั้น มันเป็นการเดินทางที่สลับวับซ้อนและวกวนน่าดู แต่ร่างทรงก็พาคณะไปจนพบ และยึดบานประตูกลับคืนมาได้นั้น มันเป็นเหตุการณ์อันมหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง และบานประตูมณฑปทั้ง ๔ บานดังกล่าวแล้วนั้น ทั้งเสด็จในกรมฯ และหลวงปู่ศุขได้ช่วยกันสร้างเป็นชิ้นสุดท้าย ระบุปี พ.ศ. ๒๔๖๕ อยู่ที่ซุ้มหน้ามณฑปอีกด้วย

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ นอกจากจะถูกอัธยาศัยกันเป็นยิ่งนัก จักเดินทางไปมาหาสู่กันเสมอแล้ว ถ้าเสด็จในกรมฯ ติดราชการงานเมือง หลวงปู่ก็จะลงมาหา โดยเสด็จในกรมฯ ได้สร้างกุฏิอาจารย์ไว้กลางสระ ที่วังนางเลิ้ง ซึ่งเต็มไปด้วยดอกบัววิคตอเรีย มีใบกลมใหญ่ขนาดถาด และรู้สึกว่ากลางใบจะมีหนามคมด้วย อันนี้ได้รับคำบอกเล่าจากลุงผล ท่าแร่ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ติดสอยห้อยตามหลวงปู่ฯ มาแต่เล็ก ท่านเป็นชาวอุตรดิตถ์ หรือพิษณุโลกจำได้ไม่ถนัดนัก หลวงปู่ศุขท่านขอพ่อแม่มาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เมื่อสิ้นบุญหลวงปู่ฯ ท่านก็เลยลงหลักปักฐาน ได้ภริยาอยู่ที่ตำบลท่าแร่ อำเภอวัดสิงห์ ชัยนาท เลยเรียกกันติดปากว่า ลุงผล ท่าแร่

แต่อย่างไรก็ตาม ภายในกำหนด ๑ ปี หลวงปู่ศุขท่านจะต้องลงมากรุงเทพฯ ๑ ครั้งเป็นอย่างน้อย เพราะเสด็จในกรมท่านจะกระทำพิธีไหว้ครูราวๆ เดือนเมษายน งานจะจัดเป็น ๓ วัน วันแรกไหว้ครูกระบี่กระบอง วันที่สองไหว้ครูหมอยาแผนโบราณ และวันที่สามจะไหว้ครูทางวิทยายุทธ์พุทธาคมและไสยศาสตร์ จัดเป็นงานใหญ่มีมหรสพสมโภชทุกคืน กับมีการแจกพระเครื่องรางของขลังจากหลวงปู่ศุขอีกด้วย แต่ในระยะหลังๆ หลวงปู่ศุขท่านมีอายุมากแล้ว สุขภาพไม่ค่อยจะสมบูรณ์เท่าใดนัก ท่านจึงไม่ค่อยจะได้ลงมา

จากการที่ผู้เขียนได้เคยศึกษาตำราอักขระ เลขยันต์จากอาจารย์ท่านมหาโพธิ์ วัดคลองมอญ อำเภอวัดสิงห์ ชัยนาท ผู้สืบสายมาจากท่านใบฎีกายัง วัดหนองน้อย อำเภอวัดสิงห์ ชัยนาท ซึ่งเป็นฐานาในหลวงปู่ศุข และเป็นลูกศิษย์เอกของหลวงปู่ศุขรูปหนึ่ง ตำราอักขระเลขยันต์ซึ่งคุณหมอสำนวน ปาลวัฒน์วิไชย แห่งโรงพยาบาลประจำจังหวัดชัยนาท ซึ่งท่านได้ใช้เวลาค้นคว้าและรวบรวมพระเครื่องในหลวงปู่ศุข ตลอดจนประวัติ และเรื่องราวของท่านตลอดมาเป็นเวลาหลายสิบปี ได้นำออกมาตีพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือรวมเล่มขนาดหนานั้น ได้ตีพิมพ์ตำราอักขระ เลขยันต์ของหลวงปู่ศุข ที่สอนให้กับลูกศิษย์ของท่านลงไปด้วย และบางตอนบางหน้า ยังเป็นลายมือของหลวงปู่อีกด้วย นับว่าเป็นการเปิดหูเปิดตาสำหรับผู้ที่สนใจจริงๆ แต่ทว่าในตำราอักขระ เลขยันต์ของท่านนั้น เป็นความรู้ขั้นพื้นฐานทั่วๆ ไป ซึ่งมีอยู่ในตำรามหาพุทธาคม ที่เราได้ร่ำเรียนกันอยู่ในปัจจุบันนี้ อย่างเช่นการเรียนสูตรสนธ์จากคัมภีร์รัตนมาลา ในพระอิติปิโส ๕๖ พระคาถาห้องพระพุทธคุณ ลงเป็นยันต์เกราะเพชรหรือตาข่ายเพชร ยันต์พระไตรสรณาคมน์ตลอดจนคัมภีร์นะ ๑๐๘ และ นะพินธุ หรือ นะปฐมกัลป์ หรือ นะโมพุทธายะใหญ่ และยันต์ประจำตัวของท่านที่ท่านใช้อยู่เป็นประจำก็คือ ตัวพุทธมวันโลก ที่ท่านใช้จารลง ที่หลังพระพิมพ์สี่เหลี่ยมของท่าน นอกจากนั้นยังลงด้วยยันต์สามลง มะ อะ อุ ที่ขมวดยันต์ลงหลังรูปถ่ายของท่าน เรียกว่า ยันต์เพชรหลีกน้อย นอกจากนั้น ท่านจะนิยมหนุนหรือล้อมด้วยธาตุทั้ง ๔ คือ นะ มะ พะ ทะ

อนึ่ง การที่ท่านทำพระเครื่องรางของขลัง ได้ประสิทธิมีฤทธิ์มีเดชทั้งๆ ที่ใช้อักษรเลขยันต์พื้นๆ นั้น เป็นเพราะอำนาจจิต ที่ท่านได้ฝึกฝนมานั้นกล้าแกร่งยิ่งนัก โดยเฉพาะกสิณธาตุทั้ง ๔ มี ดิน น้ำ ไฟ ลม นั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญ เป็นบ่อเกิดแห่งอำนาจอิทธิฤทธิ์ทางใจเลยทีเดียว สำหรับการสำเร็จวิชาชั้นสูง เรียกว่า มายาการ คือความเชื่อถือ และการปฏิบัติ ที่มุ่งหมายให้เกิดผล ด้วยการใช้พลัง หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น ของขลัง พิธีกรรม หรือหลีกลี้ลับ บังคับให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ เช่น ท่านเสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อตัวแตน เสกหัวปลีให้เป็นกระต่าย ตลอดจน การผูกหุ่นพยนต์ด้วยฟางข้าว เสกคนให้เป็นจระเข้ เป็นต้น มันเป็นมายาการชั้นสูง คือการบังคับให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ แท้ที่จริงแล้วใบมะขามก็คงเป็นใบมะขาม หัวปลีก็คงเป็นหัวปลี และหุ่นฟางก็คงเป็นหุ่นฟางเหมือนเดิม เว้นแต่ด้วยอำนาจจิตของท่าน ทำให้เราเห็นไปเอง

จากหนังสือ “พระกฐินพระราชทาน สมาคมศิษย์อนงคาราม ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เรื่องพระใบมะขาม” ท่านผู้เขียนอดีตเป็นพระมหา มีหน้าที่ไปอุปัฏฐากหลวงปู่ศุข ขณะที่อาราธนาท่านมาปลุกเสกพระชัยวัฒน์ และพระปรกใบมะขาม (พ.ศ. ๒๔๕๙) ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“เมื่อข้าพเจ้าไปอุปัฏฐากหลวงพ่อแล้ว มีชาวบ้านชาววัดมาขอให้หลวงพ่อลงกระหม่อมบ้าง ลงตะกรุดพิสมรบ้าง โดยยื่นแผ่นเงิน ทอง นาก ให้ลงคาถา บางคนขอเมตตา บางคนขอการค้าขาย หลวงพ่อให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ลง

ข้าพเจ้าถามว่าการค้าขาย จะให้ลงว่ากระไร?
หลวงพ่อบอกว่า “นะชาลิติ”
บางคนขอเมตตา ข้าพเจ้าถามว่า จะให้ลงว่ากระไร?
หลวงพ่อพูดติดตลกว่า “เมตยายไม่เอาหรือ เอาแต่เมตตาเท่านั้นหรือ?”
คนขอจึงบอกขอเมตตาอย่างเดียว ข้าพเจ้าถามว่า จะให้ลงว่ากระไร?
ท่านบอกว่า “นะเมตตา โมกรุณา พุทธปราณี ธายินดี ยะเอ็นดู”
ข้าพเจ้าจึงบอกว่า “หลวงพ่อครับ ผมไม่มีความขลัง ลงไปก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไร”
หลวงพ่อบอกว่า “มันอยู่ที่ผมเสกเป่านะคุณมหา”

ข้อนี้ยืนยันว่าเป็นความจริง เพราะระหว่างนั่นข้าพเจ้าให้หลวงพ่อลงกระหม่อม แล้วท่านเสกเป่าไปที่ศีรษะตั้งหลายครั้ง เมื่อท่านเป่าที่กระหม่อมที่ไร ข้าพเจ้าขนลุกชันทั่วทั้งตัวทุกครั้ง ทั้งที่ข้าพเจ้าฝืนใจไม่ให้ขนลุกก็ลุกซู่ทุกครั้งที่ท่านเป่า ข้อนี้เป็นมหัศจรรย์จริงๆ ข้าพเจ้าคิดว่าจะเป็นแต่ข้าพเจ้าคนเดียว ไปสอบถามภิกษุอุปัฏฐากรูปอื่นๆ ก็ได้รับคำตอบเช่นเดียวกัน ข้อนี้ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า “ท่านสำเร็จสมถะภาวนาแน่ๆ”

อนึ่ง ท่านเป็นพระที่น่าเคารพนับถือ สำรวมในศีลเป็นอย่างดี ไม่ใคร่พูดจา นั่งสงบอารมณ์เฉยๆ ไม่ถามอะไร ท่านก็ไม่ตอบไม่พูด บางอย่างข้าพเจ้าถามหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ตอบเลี่ยงไปทางอื่น เช่น “เขาว่าหลวงพ่อเสกใบไม้เป็นต่อ และเสกผ้าเช็ดหน้าเป็นกระต่ายได้ และแสดงให้กรมหลวงชุมพรฯ เห็นจนยอมเป็นศิษย์” หลวงพ่อตอบข้าพเจ้าว่า “ลวงโลก” แล้วท่านก็นิ่งไม่ตอบว่าอะไรอีก

หลวงพ่อพูดต่อไปว่า “เวลานี้กรมหลวงชุมพรฯ ไปต่างประเทศ (เข้าใจว่าไปรับเรือพระร่วง) ถ้าอยู่ก็ต้องมาหาท่าน และปรนนิบัติท่านจนท่านกลับวัด และว่ากรมหลวงชุมพรฯนี้ตกทะเลไม่ตาย แม้จะมีสัตว์ร้ายก็ไม่ทำอันตรายได้”

หลวงพ่ออยู่ที่กุฏิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) พุทธสรมหาเถรเป็นเวลาสิบวันเศษ ได้ทราบว่าสมเด็จเรียนวิทยาคมกับหลวงพ่ออีกด้วย

มรณภาพ
ท่านมรณภาพเมื่อ เดือน ๑ ปีกุน พ.ศ. ๒๔๖๖ ไม่ปรากฏวันที่ที่แน่นอน คำนวณอายุได้ ๗๖ ปี วันสวดพระพุทธมนต์ทำศพอยู่ ๗ วัน ๗ คืน จึงประชุมเพลิง

อนึ่ง การที่เราคนรุ่นหลัง จักเขียนเรื่องราวและวัตรปฏิบัติของหลวงปู่ศุข ซึ่งท่านมรณภาพล่วงไปแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ ให้ได้ใกล้เคียงกับความจริงนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ยากมากๆ อาศัยหลักฐานทางเอกสารที่หลงเหลืออยู่บ้าง จากการไต่ถามบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของท่าน ซึ่งส่วนมากจักล้มหายตายจากกันไปเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การที่ท่านได้รับรู้จากการเขียนของ “ท่านมหา” ซึ่งเคยอุปัฏฐากหลวงปู่ ดังกล่าวแล้วนั้น คงจักทำให้ท่านมองเห็นสภาพของหลวงปู่ศุข ได้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด