วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

พระธรรมคำสอนมีไว้เพื่อสอนใจให้เป็นสุข

“พระธรรมคำสอนมีไว้เพื่อสอนใจให้เป็นสุข”
ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้ามีไว้เพื่อสอนใจให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ให้อยู่อย่างไม่มีความทุกข์ ไม่มีความวุ่นวายใจ ไม่มีความเดือดร้อนใจ เพราะว่าจะสอนให้ใจรู้ว่า ใจนั้นไม่ได้เป็นอะไรกับอะไร ไม่ได้เป็นร่างกาย ร่างกายจะเป็นอะไรใจก็ไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกาย ร่างกายจะแก่ ร่างกายจะเจ็บ ร่ากายจะตายใจก็เป็นเหมือนเดิมเหมือนกับตอนที่เพิ่งเกิดใหม่ๆ ตอนที่ออกจากท้องแม่มาใหม่ๆ เหมือนตอนที่ยังไม่มีร่างกาย ใจไม่มีร่างกายใจก็อยู่มาได้มาก่อน ก่อนที่จะมาได้ร่างกายนี้ใจอยู่กับอะไร ใจก็อยู่กับบุญกับบาปที่ทำไว้ในอดีต ถ้าอยู่กับบุญก็อยู่อย่างมีความสุข เหมือนกับได้ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ได้ไปรับประทานได้ไปดื่ม ได้ไปดูได้ไปฟังสิ่งต่างๆ ที่เพลิดเพลินใจ ถ้าอยู่กับบาปก็อยู่กับความร้อน อยู่กับความทุกข์ อยู่กับความวุ่นวายใจ อยู่กับเหตุการณ์ที่น่าหวาดกลัว อยู่กับเหตุการณ์ที่ทุกข์ทรมานยากลำบาก
นี่คือผลของบุญของบาป เวลาที่ร่างกายนี้ตายไปแล้วใจไม่มีร่างกาย ช่วงต่อระหว่างร่างกายกับอีกร่างกายหนึ่ง เป็นช่วงที่ใจต้องรับผลบุญผลบาป ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับตอนที่เรานอนหลับไป ช่วงนั้นก็เป็นเหมือนช่วงที่ร่างกายไม่มี เวลาเรานอนหลับใจไม่ได้ใช้ร่างกายทำหน้าที่อะไรต่างๆ ตอนนั้นใจก็จะเข้าสู่ความฝัน ถ้ามีบุญเป็นผู้ผลักดันความฝันก็จะฝันดี ฝันว่าได้ดูได้ฟัง ได้เห็น ได้ดื่ม ได้รับประทาน ได้ไปเที่ยวได้พบปะกับสิ่งต่างๆ ที่น่าชื่นชมยินดี ถ้าบาปเป็นผู้ผลักดันให้ฝันก็จะฝัน แต่เรื่องเลวร้ายต่างๆ เรื่องน่ากลัวเรื่องสูญเสียเรื่องฆ่าฟันเรื่องอะไรต่างๆเหล่านี้ อันนี้เป็นช่วงที่ใจอยู่ตามลำพัง ไม่ได้ใช้ร่างกาย แต่ความฝันนี้มันเป็นเพียงเหมือนกับภาพยนต์ ตัวอย่างของบุญและของบาป ที่เราทำไว้เท่านั้น เพราะว่าไม่นานร่างกายก็ตื่นขึ้นมาใจก็ต้องกลับเข้ามารับรู้ เรื่องราวผ่านทางร่างกายต่อไป ก็เหมือนกับมาเกิดใหม่ แต่ยังเกิดในร่างกายอันเดิมอยู่ ตายจากร่างกายอันเดิมตอนที่นอนหลับไป พอตื่นขึ้นมาก็เกิดใหม่กับร่างกายอันเก่านี้ เราจึงไม่คิดว่าเราตายไปแล้วเกิดใหม่ เพราะว่าเรายังได้ร่างกายอันเดิมอยู่ แต่ความจริงก็เป็นเหมือนกับการตายกับการเกิด เพียงแต่ระยะช่วงเวลาระหว่างตายแล้วกลับมาเกิดใหม่นี้มันไม่กี่ชั่วโมง นอกจากคนที่สลบไสลไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บและก็อาจจะตายไปหลายวัน สลบไสลนอนหลับไปหลายวัน กว่าจะฟื้นกว่าจะตื่นขึ้นมา แต่มันก็เหมือนกับตายแล้วเกิดใหม่ เพียงแต่ว่าเป็นเหมือนกับเป็นหนังตัวอย่าง ของการตายและการเกิด และก็เป็นหนังตัวอย่างของการไปสวรรค์หรือไปนรก ถ้าฝันดีก็ไปสวรรค์ ถ้าฝันร้ายก็ไปนรก จะฝันดีฝันร้ายก็อยู่ที่การกระทำของเราในปัจจุบัน ถ้าเราทำดี ทำบุญมีความเมตตาเราก็จะฝันดี ถ้าเราทำบาป มีความโหดร้ายทารุณ เราก็จะฝันร้าย
ถ้าร่างกายนี้ตายไปจริงๆ คือไม่ตื่นขึ้นมาแล้ว หมดลมหายใจ ใจก็จะต้องฝันไปเป็นเวลาอันยาวนาน กว่าจะได้ร่างกายอันใหม่ ต้องแรงของบุญหรือของบาปนี้ต้องหมดไปเสียก่อน คือเรามีทั้งแรงบุญและ แรงบาปเวลาที่เราตายนี้ แรงบุญก็มีแรงบาปก็มี อยู่ที่ว่าแรงไหนจะมีกำลังมากกว่ากัน เช่นสมมติว่าเรามีบุญมี กำลังอยู่ร้อยหนึ่ง บาปมีกำลังอยู่ ๕๐ อย่างนี้เราก็จะมีบวก ๕๐ เราก็จะไปสวรรค์ได้ ๕๐ พอบุญที่ไปใช้ในสวรรค์หมด ลงมาเหลือ ๕๐ เท่ากับบาป บุญก็ไม่สามารถดึงให้อยู่ในสวรรค์ได้ เพราะบาปจะดึงให้ไปทางนรก แต่บาปก็ดึงไปไม่ได้ เพราะบุญก็มีกำลังเท่ากับบาป ตอนนั้นบาปกับบุญ ก็มีกำลังเท่ากัน ๕๐ /๕๐ ตอนนั้นก็กลับมาได้ร่างกายของมนุษย์ใหม่ มาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่
ในทางตรงกันข้าม ถ้าบาปมี ๑๐๐ บุญมี ๕๐ เวลาตายไปนี้บาปก็จะดึงให้ไปใช้กรรมในอบาย จนกว่าบุญกับบาป จะมีกำลังเท่ากัน บุญก็ไม่สามารถดึงไปสวรรค์ได้ บาปก็ไม่สามารถดึงให้อยู่ในอบายได้ ก็มาอยู่ตรงกลาง ตรงกลางก็คือภพชาติของมนุษย์นี่เอง ก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ ไม่ได้หมายความว่าบุญหมดไป หรือบาปหมดไป เพียงแต่ว่าบุญกับบาปช่วงนั้นมันมีกำลังเท่ากันอยู่ ก็เลยกลับมาสร้างบุญสร้างบาปกันใหม่ต่อ แล้วพอตายไปก็ดูบัญชีของบุญกับบาปว่าใครจะมีกำลังมากกว่ากัน
ยกตัวอย่างในสมัยพุทธกาล องคุลีมาลนี้สร้างบาปไว้เยอะ ฆ่าคนถึง ๙๙๙ คน บาปนี้มาก มากกว่าบุญที่ได้ทำมา ถ้าตายไปตอนนั้นก็จะต้องไปนรก ไปใช้กรรมในนรกอย่างแน่นอน แต่พอดีโชคดีได้พบกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงเตือนสติว่าการทำบาปไม่ได้เป็นการทำให้ตนเองไปสวรรค์หรือบรรลุพระนิพพานได้ การที่จะบรรลุพระนิพพานได้ต้องหยุดการกระทำบาป ต้องหยุดความโลภ ความโกรธ ความหลง พอองคุลีมาลได้ฟังก็นำเอาไปปฏิบัติ จนสามารถหยุดความโลภ ความโกรธ ความหลงได้หมด บุญที่ได้จากการหยุดความโลภ ความโกรธ ความหลง บุญที่ได้พระนิพพานนี้มีกำลังมากกว่าบาปที่ได้สร้างไว้ ได้ทำไว้ที่เกิดจากการฆ่าผู้อื่นถึง ๙๙๙ คนด้วยกัน จึงทำให้ใจขององคุลีมาลไม่ต้องไปใช้กรรมในนรก ตายไปก็อยู่ในพระนิพพานไป
พระนิพพานก็เป็นที่หยุดของใจ เป็นที่จอดรถ คือไม่วิ่งอีกต่อไป รถไม่วิ่ง เมื่อรถไม่วิ่ง ตำรวจก็ไม่สามารถ มาตามจับได้ ถ้าเราออกไปขับรถบนท้องถนนเดี๋ยวตำรวจเห็นรถเรา จำเบอร์ทะเบียนได้ว่า เคยไปชนคนนั้น ชนคนนี้ เคยไปฝ่าไฟแดง เขาก็จะเรียกจับไปลงโทษได้ แต่ถ้ารถจอดอยู่ในบ้านเขามองไม่เห็น เขาก็จับเราไม่ได้ ผู้ที่ไปถึงนิพพานแล้วก็จะไม่ต้องไปใช้กรรมอีกต่อไป องคุลีมาลจึงไม่ต้องไปเกิดในอบาย ไปใช้กรรม อันนี้เป็นตัวอย่างของกำลังของบุญที่มีมากกว่ากำลังของบาป ถึงแม้บาปจะทำมาอย่างร้ายแรง ถึง ๙๙๙ ครั้งด้วยกัน แต่ก็สู้บุญที่ได้จากการไปถึงพระนิพพานไม่ได้ พอถึงพระนิพพานแล้ว ก็ไม่ต้องไปใช้กรรมที่ไหน อีกต่อไป ไม่ต้องไปรับผลบุญเพราะผลบุญที่ได้ สู้บุญที่ได้จากพระนิพพานไม่ได้
ส่วนตัวอย่างของผู้ที่ทำบาปมากกว่าบุญ เช่นพระเทวทัต พระเทวทัตก็ได้ออกบวช ได้รักษาศีล ได้เจริญสมาธิ ได้บรรลุอิทธิฤทธิ์อภิญญาต่างๆ อันนี้ก็เป็นบุญมาก แต่ก็ไม่มากเท่ากับบาปที่เทวทัตได้ทำไว้ ก็คือพยายามปลงพระชนม์ของพระพุทธเจ้าถึง ๓ ครั้งด้วยกัน อันนี้ถือว่าเป็นบาปที่ร้ายแรงที่สุด เป็นอนันตริยกรรม พอตายไปบาปนี้มีกำลังมากกว่า ก็เลยฉุดลากให้เทวทัตนี้ ต้องไปเกิดต้องไปรับผลบาป ในนรก จนกว่าผลบาปกับผลบุญจะมีกำลังเท่ากัน เทวทัตก็จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ แล้วก็จะอาศัยผลบุญเก่าที่ได้เคยทำเอาไว้ก็คือการเจริญสมาธิ มาสนับสนุนในการเจริญวิปัสสนา เจริญปัญญาต่อไป จนได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า
อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของบุญและของบาปและของใจที่ไม่มีวันตาย ถึงแม้ว่าจะทำบาป ร้ายแรงขนาดไหนก็ตาม แต่เมื่อมาทำบุญจนสามารถบรรลุถึงพระนิพพานได้ ก็ไม่ต้องกลับไปใช้บาปกรรมต่างๆ หรือถ้าได้ไปใช้บาปกรรมแล้วกลับมาเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วมาปฏิบัติธรรมจนบรรลุ ถึงพระนิพพานได้ก็ไม่ต้องไปรับใช้ผลบุญหรือผลบาปที่ติดค้างอยู่ในใจอีกต่อไป นี่คือเรื่องของใจ เป้าหมายของใจก็คือต้องไปให้ถึงพระนิพพานให้ได้ ถ้ายังไปไม่ถึงพระนิพพานก็ยังต้องมาใช้บุญใช้บาป สลับกับการมาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วก็มาสร้างบุญสร้างบาป อย่างที่พวกเราทั้งหลายกำลังทำกันอยู่ ในแต่ละภพแต่ละชาติ เราทำกันอยู่อย่างนี้ ใจของเรานี้ต้องต่อสู้กับความอยากทำบุญ กับความอยากทำบาป บางเวลาก็อยากจะทำบาป บางเวลาก็อยากจะทำบุญ บางเวลาไม่อยากทำบุญก็ต้องลาก ต้องบังคับให้ทำบุญ บางเวลาอยากจะทำบาปก็ต้องฝืนต้องต่อสู้ ถ้าเราอยากจะได้ชีวิตที่ดีขึ้น อยากจะได้จิตใจที่สุขขึ้นมากขึ้น เจริญมากขึ้น เราก็ต้องต่อสู้กับความอยากทำบาป คือจะไม่ทำบาป แล้วเราก็ต้องสู้กับความเกียจคร้าน ในการทำบุญ ต้องบังคับตัวเราเองให้ทำบุญให้มากๆ แล้วก็ต้องต่อสู้กับความอยากที่เป็นตัวฉุดลาก ให้เราต้องไปใช้กรรม ไปรับผลบุญแล้วก็ต้องกลับมาเกิดมาสร้างบุญสร้างบาปใหม่อยู่เรื่อยๆ
ถ้าเราหยุดความอยากได้ เราก็จะไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกต่อไป ไม่ต้องมาสร้างบุญสร้างบาป ไม่ต้องไปรับผลบุญผลบาปอีกต่อไป เราก็จะอยู่อย่างสงบ อยู่อย่างสุขไปตลอด ใจของเรากับใจของพระพุทธเจ้านี้ ไม่มีวันสูญไม่มีวันหมด ตอนนี้ใจของพระพุทธเจ้า ใจของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ใจของครูบาอาจารย์ ที่บรรลุมรรคผลนิพพานทั้งหลาย ท่านก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม ต่างกันตรงที่ใจของท่านนั้น มีแต่ปรมัง สุขัง มีแต่ความสุข มีแต่การปล่อยวาง ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีความอยากต่างๆ ใจของพวกเรานั้น ยังมีแต่ความทุกข์ สุขบ้างแต่ทุกข์เป็นส่วนใหญ่ ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา มีความอยากได้ อยากมีอยากเป็น อยากรู้อยากเห็น อยากดูอยากฟังอยู่ตลอดเวลา ใจของเราจึงยังไม่ได้พบกับความสุขที่แท้จริง.