วันศุกร์, 13 กันยายน 2567

วิถีของ หลวงพ่อคูณ “พระบ้านบ้าน” ที่อยู่ในใจคนนับล้าน

พระเทพวิทยาคม หรือ “หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ” (ชื่อเดิม คูณ ฉัตรพลกรัง) เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2466 ที่บ้านไร่ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ในครอบครัวแบบชาวไร่ชนบททั่วไป บิดามารดาของท่านเสียชีวิตตั้งแต่หลวงพ่อคูณยังเป็นเด็ก น้าสาวจึงมาอุปการะหลวงพ่อและน้องสาวอีก 2 คนแทน

เมื่ออายุประมาณ 6-7 ขวบ หลวงพ่อคูณได้เรียนหนังสือกับพระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หล ซึ่งนอกจากภาษาไทย และภาษาขอมแล้ว ท่านยังได้เรียนวิชาอาคม สำหรับใช้ป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ด้วย จนกระทั่งอายุ 21 ปี หลวงพ่อคูณจึงอุปสมบทที่วัดถนนหักใหญ่ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2487 ได้ฉายาว่า “ปริสุทฺโธ-ผู้บริสุทธิ์”

ต่อมาท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง ที่เป็นพระนักปฏิบัติทางด้านคันถธุระและวิปัสสนา ที่วัดบ้านหนองโพธิ์ ตำบลสำนักตะคร้อ อำเภอด่านขุนทด ภายหลังหลวงพ่อแดงพาท่านไปฝากเป็นศิษย์หลวงพ่อคง พุทฺธโร ซึ่งเป็นสหธรรมิก เพื่อเรียนเรื่องการมีสติระลึกรู้ เพื่อให้เท่าทันอารมณ์ต่างๆ  กระทั่งมีความรู้และชำนาญดีแล้ว จึงออกธุดงค์ โดยเริ่มจากจังหวัดนครราชสีมา ไปประเทศลาว ประเทศเขมร มุ่งสู่ป่าลึก

สุดท้ายหลวงพ่อคูณก็ตัดสินใจกลับมาอยู่ที่วัดบ้านไร่ อำเภอด่านขุนทด ท่านได้พัฒนาวัดและชุมชนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพระอุโบสถ, สร้างกุฏิสงฆ์, ขุดสระน้ำ, ฯลฯ ซึ่งหลวงพ่อคูณนำชาวบ้านให้มาช่วยกันสร้าง ก่อนจะขยายออกไปยังกิจสาธารณกุศลอื่นนอกวัด เช่น การสร้างสร้างโรงเรียน, สร้างโรงพยาบาล, ให้ทุนการศึกษา ฯลฯ ซึ่งเป็นการบำเพ็ญทานบารมี ตามท่านแนวทางที่หลงพ่อคูณเคยกล่าวไว้หลายครั้งว่า

“เงินที่นำมาทำบุญกั๊บกู กูจะไม่เก๊บไว่ เขานำมาฝากกูกูก็นำไปทำบุญให่เขาต่อ เขาก็เอามาให่กูอิ๊กมันก็หมุนเวียนไปอย่างนี่ การทำบุญทำทานจอต้องฟึ้ก ยิ่งให่ มันก็ยิ่งมา ถ้ากูเก๊บไว่ เขาจะได้บุญอะไรเหล่า และเขาก็ไม่เอามาให่กูต่อไป”

การทำบุญครั้งสำคัญที่หลวงพ่อคูณปลื้มปิติมาก คือ ทำบุญกับในหลวงรัชกาลที่ 9

วันที่ 11 มกราคม 2538  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมา วัดบ้านไร่ เพื่อทรงนมัสการหลวงพ่อคูณ, ทรงประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุลงบุษบกเหนือพระอุโบสถ และทรงรับเงินบริจาคจากหลวงพ่อคูณ จำนวน 72 ล้านบาท ที่หลวงพ่อคูณที่จะถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย  ในโอกาสที่ท่านมีอายุครอบ 6 รอบ

หากด้วยหลวงพ่อคูณ มีเอกลักษณ์แบบ “พระบ้านบ้าน” ที่เรียบง่าย สมถะ มักนั่งยอง และพูดกูมึง

ก่อนวันเสด็จพระราชดำเนิน จึงมีข้าราชการผู้ใหญ่, ลูกศิษย์ และสื่อมวลชน สอบถามหลวงพ่อ ถึงการเตรียมตัว, การใช้ภาษาในการกราบบังคมทูลกับหลวงพ่อ ซึ่งท่านก็ตอบว่า

“จะยากอะไรไอ้หลาน ก็พูดว่าขอถวายพระพรท่านมหาบพิตร สบายดีหรือ…กูยังไม่เคยพูดสักที แต่ไม่ต้องหัดหรอกไอ้หลาน ถึงเวลามันก็เป็นไปเอง พูดอย่างไรท่านก็รู้ เรียกท่านคุณโยมอย่างนี้ก็ได้ ท่านสิว่าอะไร ไม่ว่าดอก คนไทยคือกันพูดกันอย่างนี้ก็รู้เรื่องแล้ว”

อีกเรื่องที่ถือเป็นชื่อเสียงของหลวงพ่อคือ “วัตถุมงคล” ที่มีชื่อในเรื่องพุทธคุณ

หลวงพ่อเริ่มทำวัตถุมงคลประมาณ ปี 2493 โดยใช้คาถาในการปลุกเสกว่า “มะอะอุ นะมะพะธะ นะโมพุทายะ พุทโธ ยานะ” ซึ่งเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของชาวบ้านเรื่อยมา  และโด่งดังในวงการ “พระเครื่อง” ในปี 2536 เมื่อเกิดอุบัติภัยร้ายแรง 2 ครั้ง เพราะผู้ที่รอดชีวิตต่างมีวัตถุมงคลของหลวงพ่อคูณ

โดยครั้งแรกใน เดือนพฤษภาคม 2536 เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ตำบลกระทุ่มล้ม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มีผู้เสียชีวิต 200 ราย แต่นางสาวไพรัตน์ จีมขุนทด ชาวอำเภอด่านขุนทด ตัดสินใจกำเหรียญหลวงพ่อคูณรุ่นสหกรณ์ โดดจากชั้นที่ 3 ของอาคารที่เพลิงไหม้ และเธอก็ “รอดชีวิต”

ส่วนอีกครั้งคือ 13 สิงหาคม 2536 โรงแรมรอยัลพลาซ่า จังหวัดนครราชสีมาถล่ม มีผู้เสียชีวิต 137 ราย หลังเกิดเหตุหลวงพ่อได้เดินทางไปยังที่เกิดเหตุ สอบถามความคืบหน้า และอวยพรให้ผู้ที่ติดอยู่ในซากอาคาร และสวดมนต์ให้แก่ผู้เสียชีวิต หลังจากนั้นไม่นาน ก็สามารถช่วยเหลือพนักงานของโรงแรมจำนวนหนึ่งออกจาก ซากอาคารได้ และพวกเขาทุกคนมีพระเครื่องของหลวงพ่ออยู่ที่คอ

หากหลวงพ่อคูณก็เตือนย้ำอยู่เสมอว่า

“เมื่อมีพระเครื่องของกูติดตัว ให้ภาวนาพุทธโธ ทำจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่ ละเว้นถ้อยคำด่าทอ ด่าพ่อแม่ตน และพ่อแม่คนอื่น อย่าผิดสามีภรรยาผู้อื่น และให้สวดมนต์ก่อนเข้านอนทุกคืน ไม่ว่าอยู่ที่ใด”

พ.ศ. 2543 หลวงพ่อคูณเริ่มอาพาธด้วยโรคหัวใจ ในปีนั้นท่านจึงได้ทำ “พินัยกรรม” ไว้ล่วงหน้า

วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม 2558 หลวงพ่อคูณ มรณภาพอย่างสงบที่โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา สื่อต่างๆ รายงานเนื้อหาในพินัยกรรมที่หลวงพ่อคูณเขียนไว้ ว่า

“อาตมาหลวงพ่อคูณ อายุ 77 ปี ในขณะนั้น ถิ่นพํานักวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ลงวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2543 ขอทําพินัยกรรมกําหนดการ เผื่อถึงการมรณภาพ เกี่ยวกับเรื่องการจัดงานศพของอาตมา ภายหลังที่อาตมาถึงมรณภาพลง

  1. ศพของอาตมา ให้มอบแก่มหาวิทยาลัยขอนแก่นภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากละสังขาร เพื่อให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น มอบให้กับภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นําไปศึกษาค้นคว้าตามวัตถุประสงค์ของภาคต่อไป
  2. พิธีกรรมศาสนา การสวดอภิธรรมศพ ให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทําพิธีสวดพระอภิธรรมศพ ที่คณะแพทยศาสตร์ 7 วัน
  3. การจัดทําพิธีบําเพ็ญกุศล เมื่อสิ้นสุดการศึกษาค้นคว้าของภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว ให้จัดงานแบบเรียบง่าย ละเว้นการพิธีสมโภชใดๆ และห้ามขอพระราชทานเพลิงศพ โกศ และพระราชพิธีอื่นๆ เป็นกรณีพิเศษเป็นการเฉพาะโดย ให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กระทําพิธีเช่นเดียวกับการจัดพิธีศพของอาจารย์ใหญ่นักศึกษาแพทย์ประจําปีร่วมกับอาจารย์ใหญ่ท่านอื่น แล้วเผา ณ ฌาปนสถานวัดหนองแวง พระอารามหลวง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น หรือวัดอื่น
  4. เมื่อดําเนินเสร็จสิ้นแล้ว อัฐิ เถ้าถ่าน และเศษอังคารทั้งหมด ให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นําไปลอยที่แม่น้ำโขง จ.หนองคาย ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม”

ขณะที่พินัยกรรมอื่นๆ ส่วนใหญ่มักสั่งเสีย จัดการเรื่องทรัพย์สิน แต่พินัยกรรมของหลวงพ่อกลับเป็น “คำสอนสุดท้ายให้เรียบง่ายสมถะ”