วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

หลวงพ่อบุญมี โฆสธัมโม วัดเภาเคือง

ประวัติหลวงพ่อบุญมี โฆสธัมโม วัดเภาเคือง รวมข้อมูลพระเครื่องและวัตถุมงคลของท่านที่ได้มีการจัดสร้างขึ้น ท่านพระอธิการบุญมี โฆสธัมโม ตำบลไสหมาก อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ท่านเป็นที่เคารพศรัทธาและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่ มุมประวัติพระเกจิอาจารย์

ขอขอบคุณรูปและข้อมูลจากคุณเด็กป่ายอม และคุณพรพระอธิการบุญมี

พระอธิการบุญมี โฆสธัมโม เกิดเมื่อ วันแรม 2 ค่ำ เดือน 3 ปีวอก พ.ศ.2461 ณ บ้านเภาเคือง หมู่ที่3 ตำบลไสหมาก อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช วัดเภาเคือง นั้นมีประวัติและมีตำนานกล่าวขานสัมพันธ์กับ พระนางเลือดขาว พระมเหสีของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ว่าตอนนำพระศพบรรทุกเรือออกจากเมืองนครไปทางปากนคร แล้วมาเข้าปากน้ำปากพนัง เพื่อนำพระศพไปที่บ้านเดิมของพระนางคือ บ้านแม่เจ้าอยู่หัว เรือสำเภาเกิดอาเพศ เกิดโกรธเคืองอย่างไรไม่ทราบ และจมลงตรงท่าน้ำหน้าวัด คนแก่ๆยุคก่อนบอกว่าเคยเห็นเสากระโดงเรือที่ท่าน้ำหน้าวัด ปัจจุบันตอนนี้ไม่มีแล้ว

หลวงพ่อบุญมี โฆสธมฺโม ท่านเป็นชาวบ้าน ตำบลไสหมาก อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านจึงได้ร่ำเรียนทศึกษาที่ วัดเภาเคือง เพราะในขณะนั้นยังไม่มีการจัดตั้งเป็นโรงเรียนท่านจึงได้ร่ำเรียน อักษรไทยและอักษรขอม กับ พ่อท่านจันทร์ อานฺโท อดีตเจ้าอาวาส วัดเภาเคือง พร้อมทั้งเรียน วิชาแพทย์แผนไทย, โหราศาสตร์, ดูดวงชะตาชีวิต, ดูฤกษ์งามยามดี ที่ได้รับการสืบทอดจาก คุณพ่อทองย้อย เปียพลัด ผู้เป็นโยมบิดาของท่านซึ่งเป็น “หมอใหญ่” ในการรักษาโรคต่างๆให้กับชาวบ้านเพราะเป็นลูกศิษย์ของ พระครูอรรถธรรมโสรส (พ่อท่านซัง วัดวัวหลุง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช) นั่นเองโดย “หลวงพ่อบุญมี” ได้ทำการอุปสมบทในปี พ.ศ.2535 ขณะท่านอายุ 75 ปี โดยมี พระครูสุวรรณาภรณ์ (หนูราย ฐิตปุญฺโญ) เจ้าคณะตำบลบ้านเนินและเจ้าอาวาส วัดทาบทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ได้รับฉายา “โฆสธมฺโม” แปลว่า “ผู้รู้ธรรมอันกึกก้อง” ได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์อำเภอเชียรใหญ่ให้เป็นครูสอนนักธรรมและควบคุมสนามสอบพระปริยัติธรรมติดต่อกันหลายปีและในปี พ.ศ.2540 พระอธิการเลื่อน สมาจาโร เจ้าอาวาสได้มรณภาพลง “หลวงพ่อบุญมี” จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมาระหว่างนี้ท่านมักจะบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่เสมอ จนเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านทั่วไป

ในขณะที่ท่านบวช ท่านได้ศึกษาพระธรรมและปฏิบัติตามคำสอนของศาสดาโดยเคร่งครัด จนเป็นที่เคารพนับถือของลูกศิษย์ลูกหาโดยทั่วไป จนถึงวันที่ 28 มกราคม 2549 เวลา 0.55 น. ท่านละสังขารที่ โรงพยาบาลเชียรใหญ่ ทางศิษยานุศิษย์ ได้จัดบำเพ็ญกุศลศพท่าน และมีเหตุการณ์อันที่ต้องทำให้ศิษยานุศิษย์ ต้องตัดสินใจเก็บสังขารของท่านไว้ และขณะนี้สังขารของท่านยังคงเก็บเอาไว้ ณ วัดเภาเคือง เพื่อให้ศิษยานุศิษย์ และผู้ที่เคารพนับถือได้สักการะตลอดไป