วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต

เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต
๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๐ – ๘ มกราคม๒๕๑๔
วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร
——————–

ธัมมวิตักโกภิกขุ (มหาเสวกตรี พระยานรรัตนราชมานิต) นามเดิม ตรึก จินตยานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2440 สถานที่เกิด กรุงเทพมหานคร วัยถึงขั้นสมควร เล่าเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร หรือ โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนี้จนสอบได้ชั้นสูงสุด อุปสมบท ณ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2468 โดยมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรมหาเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์ มรณภาพ 8 ม.ค. 2514 อายุ 74 ปี 46 พรรษา

ข้าราชการพลเรือน
ภายหลังจากที่ท่านได้จบการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ได้รับประกาศนียบัตรวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ในสมัยนั้นแล้ว ท่านได้เข้าร่วมซ้อมรบในฐานะเสือป่า โดยรับหน้าที่เป็นคนส่งข่าว ซึ่งในการซ้อมรบนี้เองได้เปลี่ยนวิถีชีวิต จากความตั้งใจที่จะเป็นข้าราชการฝ่ายปกครองของรัฐ มาเป็นข้าราชสำนัก ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ท่านเป็นผู้ที่ได้รับการ ไว้วางพระราชหฤทัยจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เป็นอย่างมาก ตั้งแต่เมื่อครั้งยังรับราชการเป็นมหาดเล็กห้องบรรทม กระทั่ง ได้รับการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์เป็น พระยานรรัตนราชมานิต ซึ่งแปลว่า “คนดีที่พระเจ้าแผ่นดินทรงยกย่องนับถือ” ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ท่านได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างใกล้ชิด

บวชอุทิศถวายเป็นพระราชกุศล
ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ สุจริต และกตัญญูกตเวที อย่างยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน ดังที่ท่านเคยกล่าวถึงความภักดีต่อองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า “ต้องตายแทนกันได้” ความกตัญญูกตเวทีที่ท่านได้แสดงนี้ ได้ประจักษ์ชัดเมื่อท่านได้บวชอุทิศถวายเป็นพระราชกุศล ในวันถวายพระเพลิง พระบรมศพล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 จวบจนกระทั่งท่านมรณภาพ ท่านดำรงเพศสมณะด้วยความเคร่งครัดต่อศีล เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ปราศจากมลทินด่างพร้อยทั้งกาย ใจ เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีปฏิปทาที่มั่นคง เด็ดเดี่ยว เป็นที่ยอมรับ และได้รับความเคารพนับถือจากพุทธศาสนิกชนว่า ท่านเป็นพระแท้ ที่หาได้ยากยิ่ง เป็นตัวอย่างของสงฆ์ผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ ไม่ใฝ่หาลาภสักการะ ไม่ใฝ่หาชื่อเสียงเกียรติคุณ เป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อ พระธรรมวินัย มีความกตัญญูเป็นเลิศ ยากที่จะหาผู้ใดทัดเทียมได้

คำสอน
“ด้วยอานุภาพของไตรสิกขา คือ “ศีล สมาธิ ปัญญา” จึงจะชนะ ข้าศึก คือ กิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดได้
– ชนะความหยาบคาย ซึ่งเป็นกิเลสอย่างหยาบที่ล่วง ทางกาย วาจา ได้ด้วย “ศีล”
– ชนะความยินดียินร้าย และหลงรักหลงชัง เป็นกิเลสอย่างกลางที่เกิดในใจได้ด้วย “สมาธิ”
– ชนะความเข้าใจ รู้ผิดเห็นผิดจากความเป็นจริงของ สังขาร ซึ่งเป็นกิเลสอย่างละเอียดได้ด้วย “ปัญญา”

ผู้ศึกษาปฏิบัติตามไตรสิกขา คือ “ศีล สมาธิ ปัญญา” บริบูรณ์ สมบูรณ์แล้ว ผู้นั้นจึงเป็นผู้พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้เป็นแน่นอน ไม่ต้องสงสัยเลย “