วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

เผยทางแก้ เจ้ากรรมนายเวร ปลดบ่วงกรรมที่เคยได้ทำกับใครๆ ไว้ ให้หนักเป็นเบา

19 พ.ค. 2022
333
เจ้ากรรมนายเวร
เจ้ากรรมนายเวร

เจ้ากรรมนายเวร คือใคร ?

เจ้ากรรมนายเวร มีความหมาย ๒ ในมิติ คือ

มิติที่ ๑ เจ้ากรรมนายเวร

หมายถึง บุคคลหรือสัตว์ที่เราได้เบียดเบียนเขา ทำร้ายเขา หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เขาเจ็บซ้ำน้ำใจ แล้วผูกโกรธเอาไว้ ไม่ยอมให้อภัย และรอวันเอาคืน ท่านพระอาจารย์ปิยโสภณ ได้กล่าวเอาไว้ สัตว์ทุกตัวที่เราฆ่าเอาเนื้อมากินเป็นอาหาร ล้วนแต่เป็นเจ้ากรรมนายเวรของเราทั้งสิ้น สัตว์ทุกตัวที่ถูกนำไปฆ่า มักจะกล่าวสาปแช่งเอาไว้ว่า ใครที่กินเลือดเนื้อของฉันขอให้มันเจ็บป่วย หรือถึงความวิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง

มิติที่ ๒ เจ้ากรรมนายเวร

หมายถึง เจ้าของกรรมนายของเวร อันหมายถึง ผู้ใดสร้างกรรมอันใดหรือสร้างเวรอันใดไว้ ผู้นั้นแหละเป็นเจ้าของกรรมเจ้าของเวรที่ต้องชดใช้ เช่น เราไปฆ่าสัตว์ ไปด่าว่าเขา ไปทุบตีทำร้ายเขา ไปคดโกงเขา หรือไปทำชั่วอันใดไว้ เราก็เป็นเจ้าของที่ต้องรับผิดชอบกรรมหรือเวรนั้น ด้วยตัวเอง

.

เราไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น เท่ากับเราเป็นผู้สร้างกรรม

เราก็เป็นเจ้า(ของ)กรรมนาย(ของ)เวรของตน

เราเบียดเบียนเขาแล้ว

เขาโกรธและคิดอาฆาตแค้นเรา

เขาก็กลายเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเรา

อีกมิติหนึ่ง เขาก็เป็นเจ้า(ของ)กรรมนาย(ของ)เวร ของตนด้วยเช่นกัน

.

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ผู้ทำให้คนอื่นโกรธนั้น ชื่อว่าเป็นคนเลว

แต่ผู้ที่โกรธตอบผู้ที่ทำให้โกรธ เป็นคนเลวกว่า

เหตุเพราะการโกรธตอบผู้ที่ทำให้โกรธนั้น

เป็นการต่อเชื้อเวรกรรมให้ยืดยาวออกไปไม่สิ้นสุดข้ามภพข้ามชาติ

.

ดังนั้น เมื่อใครทำอะไรให้เราโกรธ

เราให้อภัยเขา เราก็ไม่ต้องกลายเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเขา

และอีกมิติหนึ่ง เราไม่โกรธ ก็เท่ากับเราไม่ได้สร้างกรรมสร้างเวร

เราก็ไม่ต้องรับกรรมที่เกิดจากความโกรธนั้น ในฐานะที่เป็นผู้สร้างกรรมสร้างเวรเอง และต้องรับผลกรรมเอง ตามพุทธดำรัส สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

.

จงเอาชนะเจ้ากรรมนายเวร มิติที่ ๑

ด้วยการขอขมาและยอมรับผิด ไม่โกรธตอบ

.

จงเอาชนะเจ้ากรรมนายเวร มิติที่ ๒

ด้วยการเว้นจากการทำไม่ดี ทั้งทางกาย วาจา ใจ

และด้วยการให้อภัย ไม่ผูกโกรธต่อผู้ที่ทำให้โกรธ

บทสวดขอขมากรรม เจ้ากรรมนายเวร

พุทโธ สาธุ, ธัมโม สาธุ, สังโฆ สาธุ

พุทโธ อโหสิ, ธัมโม อโหสิ, สังโฆ อโหสิ.

สาธุ สาธุ อันว่าบาปทางกายทั้งหลายทั้งปวง อันว่าบาปทางวาจาทั้งหลายทั้งปวง อันว่าบาปทางใจทั้งหลายทั้งปวง ที่ข้าพเจ้านี้ ได้เคยประพฤติผิดล่วงเกิน ก่อกรรมทำไม่ดีไว้ ต่อเจ้ากรรมนายเวร ต่อเจ้าหนี้เจ้าทรัพย์ ทุกรูป ทุกนาม ที่เคยทำให้ท่านเกิดความทุกข์ เกิดความเสียหาย เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจ เกินจะให้อภัยกันได้ และที่เคยได้หยิบได้ยืม ได้ขอวัตถุสิ่งของเงินทองของมีค่า แล้วไม่นำพาชำระชดใช้ให้คืน ทำเป็นลืมทำเป็นหลง ไม่ตรงตามสัญญา อีกทั้งเคยทำประหนึ่งว่าของนั้นเป็นสมบัติของตน เป็นผลให้มีกรรมติดตัวเป็นเหตุให้ทำมาหากินไม่ขึ้น มีหนี้มีสิน ทรัพย์สินสูญหาย ถูกคดโกงหลอกลวง ถูกลักขโมยในปัจจุบันชาตินี้…

** ที่เป็นบาป ที่เป็นกรรม ที่ผิดศีล ผิดธรรม ผิดระเบียบ ผิดวินัย ผิดสัจจะ ผิดสัญญา ที่เกิดขึ้นแล้ว ด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา คือ ราคะ โทสะ โมหะ ที่มาสิงจิต พาให้ข้าพเจ้านี้ คิดผิด ทำผิด

พูดผิด หลงผิด ทั้งที่เจตนาก็ตาม ไม่ได้เจตนาก็ตาม ทั้งที่รู้เท่าถึงการณ์ก็ตาม รู้ไม่เท่าถึงการณ์ก็ตาม นับตั้งแต่อดีตชาติที่ผ่านมา และในปัจจุบันชาตินี้ บัดนี้ ข้าพเจ้า ได้มีจิตสำนึกผิดแล้ว ต่อบาปเวรบาปกรรม ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ข้าพเจ้า ขอน้อมกายวาจาใจ และบุญกุศลน้อยใหญ่

เป็นเครื่องขอขมาลาโทษต่อท่านทั้งหลาย ขอให้ท่านทั้งหลาย จงได้เมตตา อโหสิกรรม อโหสิกรรม อโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้า เพื่อความไม่ประมาท เพื่อความบริสุทธิ์ เพื่อความเจริญรุ่งเรือง

ทั้งทางโลก ทางธรรม เพื่อมรรค ผล นิพพาน ในปัจจุบันชาตินี้ ด้วยเทอญ ฯ

(กราบขอขมาโทษ ๓ ครั้ง)

บทความธรรมทานโดย : ศักดิ์สิทธิ์ พันธุ์สัทธ์

เครดิต : เพจอมตะธรรม