ครูบาศรีวิชัย (สิริวิชโยภิกขุ)
๑๑ มิถุนายน ๒๔๒๐ – ๒๒ มีนาคม ๒๔๘๑
วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
——————–
นักบุญแห่งล้านนา พระอริยสงฆ์ พระครูบาศรีวิชัย
ครูบาศรีวิชัย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปโดยเฉพาะในเขตล้านนาว่าเป็น “ตนบุญ” หรือ “นักบุญ” อันมีความหมายเชิงยกย่องว่า เป็นนักบวชที่มีคุณสมบัติพิเศษ อาจพบว่ามีการเรียกอีกว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัย พระครูบาศรีวิชัย ครูบาศีลธรรม หรือ ทุเจ้าสิริ (อ่าน”ตุ๊เจ้าสิลิ”) แต่พบว่าท่านมักเรียกตนเองเป็น พระชัยยาภิกขุ หรือ พระศรีวิชัยชนะภิกขุ เดิมชื่อเฟือน หรืออินท์เฟือน บ้างก็ว่าอ้ายฟ้าร้อง เนื่องจากในขณะที่ท่านถือกำเนิดนั้น ปรากฏฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ส่วนอินท์เฟือนนั้น หมายถึง การเกิดกัมปนาทหวั่นไหว ถึงสวรรค์หรือเมืองของพระอินทร์ ท่านเกิดในปีขาล เดือน ๙ เหนือ(เดือน ๗ ของภาคกลาง) ขึ้น ๑๑ ค่ำ จ.ศ.๑๒๔๐ เวลาพลบค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ ๑๑ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๒๑ ที่หมู่บ้านชื่อ “บ้านปาง” ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ท่านเป็นบุตรของนายควาย นางอุสา มีพี่น้องทั้งหมด ๕ คน มีชื่อตามลำดับ คือ ๑. นายไหว ๒. นางอวน ๓. นายอินท์เฟือน(ครูบาศรีวิชัย) ๔. นางแว่น ๕. นายทา
ทั้งนี้นายควายบิดาของท่าน ได้ติดตามผู้เป็นตาคือ หมื่นปราบ (ผาบ) ซึ่งมีอาชีพเป็นหมอคล้องช้าง ของเจ้าหลวงดาราดิเรกฤทธิ์ไพโรจน์ (เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ ๗ ช่วง พ.ศ.๒๔๑๔-๒๔๓๑) ไปตั้งครอบครัว บุกเบิกที่ทำกินอยู่ที่บ้านปาง บ้านเดิมของนายควาย อยู่ที่บ้านสันป่ายางหลวง ทางด้านเหนือของตัวเมืองลำพูน
ชีวิตในวัยเด็ก
ในสมัยที่ครูบาศรีวิชัย หรือนายอินท์เฟือนยังเป็นเด็กอยู่นั้น หมู่บ้านดังกล่าวยังกันดารมากมีชน กลุ่มน้อยอาศัยอยู่มาก โดยเฉพาะชาว ปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) ในช่วงนั้น บ้านปางยังไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน จนกระทั่งเมื่อนายอินท์เฟือนมีอายุได้ ๑๗ ปี ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ ครูบาขัติยะ (ชาวบ้านเรียกว่า ครูบาแฅ่งแฅะ เพราะท่านเดินขากะเผลก) เดินธุดงค์จากบ้านป่าซาง ผ่านมาถึงหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านจึงนิมนต์ท่านให้อยู่ประจำที่บ้านปาง แล้วชาวบ้านก็ช่วยกันสร้างกุฏิชั่วคราว ให้ท่านจำพรรษา ในช่วงนั้น เด็กชายอินท์เฟือนได้ฝากตัวเป็นศิษย์ และเมื่ออายุได้ ๑๘ ปีก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่ อารามแห่งนี้ โดยมีครูบาขัติยะเป็นพระอุปัชฌาย์ ๓ ปีต่อมา (พ.ศ. ๒๔๔๒) เมื่อสามเณรอินท์เฟือน มีอายุย่างเข้า ๒๑ ปี ก็ได้เข้าอุปสมบทในอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาในการอุปสมบทว่า สิริวิชโยภิกฺขุ มีนามบัญญัติว่า พระศรีวิชัย ซึ่งบางครั้งก็พบว่าเขียนเป็น สรีวิไชย สีวิไช หรือ สรีวิชัย
เมื่ออุปสมบทแล้ว สิริวิชโยภิกขุก็กลับมาจำพรรษาที่อารามบ้านปางอีก ๑ พรรษา จากนั้นได้ไปศึกษากัมมัฏฐาน และวิชาอาคมกับครูบาอุปละ วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ต่อมาได้ไปฝากตัว เป็นศิษย์ของครูบาวัดดอยคำอีกด้วย และอีกท่านหนึ่งที่ถือว่าเป็นครูของครูบาศรีวิชัย คือครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง ซึ่งเป็นพระอุปฌาย์ของท่าน
ครูบาศรีวิชัย รับการศึกษาจากครูบาอุปละ วัดดอยแตเป็นเวลา ๑ พรรษาก็กลับมาอยู่ที่อารามบ้านปาง จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ (อายุได้ ๒๔ ปี พรรษาที่ ๔) ครูบาขัติยะ ได้จาริกออกจากบ้านปางไป (บางท่านว่ามรณภาพ) ครูบาศรีวิชัยจึงรักษาการแทน ในตำแหน่งเจ้าอาวาส และเมื่อครบพรรษาที่ ๕ ก็ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง จากนั้นก็ได้ย้ายวัดไปยังสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสม คือบริเวณเนินเขา ซึ่งเป็นที่ตั้งวัดบ้านปางในปัจจุบัน เพราะเป็นที่วิเวก และสามารถปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี โดยได้ให้ชื่อวัดใหม่แห่งนี้ว่า วัดจอมสรีทรายมูลบุญเรือง แต่ชาวบ้านทั่วไป ยังนิยมเรียกว่า วัดบ้านปาง ตามชื่อของหมู่บ้าน
ครูบาศรีวิชัย เป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงาม และเคร่งครัด โดยที่ท่านงดการเสพ หมาก เมี่ยง บุหรี่ โดยสิ้นเชิง ท่านงดฉันเนื้อสัตว์ ตั้งแต่เมื่ออายุได้ ๒๖ ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งมักเป็นผักต้ม ใส่เกลือกับพริกไทเล็กน้อย บางทีก็ไม่ฉันข้าวทั้ง ๕ เดือน คงฉันเฉพาะลูกไม้หัวมันเท่านั้น นอกจากนี้ ท่านยังงดฉันผักตามวันทั้ง ๗ คือ วันอาทิตย์ ไม่ฉันฟักแฟง, วันจันทร์ ไม่ฉันแตงโมและแตงกวา, วันอังคาร ไม่ฉันมะเขือ, วันพุธ ไม่ฉันใบแมงลัก, วันพฤหัสบดี ไม่ฉันกล้วย, วันศุกร์ ไม่ฉันเทา (อ่าน”เตา”-สาหร่ายน้ำจืดคล้ายเส้นผมสีเขียวชนิดหนึ่ง), วันเสาร์ ไม่ฉันบอน นอกจากนี้ ผักที่ท่านจะไม่ฉันเลยคือ ผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิก และผักเฮือด-ผักฮี้ (ใบไม้เลียบอ่อน) โดยท่านให้เหตุผลว่า ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดงดได้ การบำเพ็ญกัมมัฏฐาน จะเจริญก้าวหน้า ผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง ๔ จะเป็นปกติ ถ้าชาวบ้านงดเว้นแล้ว จะทำให้การถือคาถาอาคมดีนัก
ครูบาศรีวิชัย มีความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมะอันสูงสุด ดังปรากฏจากคำอธิษฐานบารมี ที่ท่านอธิษฐานไว้ว่า “…ตั้งปรารถนาขอหื้อได้ถึงธรรมะ ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานสิ่งเดียว…” และมักจะปรากฏความปรารถนาดังกล่าว ในตอนท้ายชองคัมภีร์ใบลาน ที่ท่านสร้างไว้ทุกเรื่อง
อีกประการหนึ่ง ที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จัก และอยู่ในความทรงจำของชาวล้านนา คือการที่ท่านเป็นผู้นำในการสร้างทางขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ โดยพลังศรัทธาประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งกำลังกาย และกำลังทรัพย์ ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง ๕ เดือนเศษ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ แต่เรื่องที่ทำให้ครูบาศรีวิชัย เป็นที่รู้จักกันในระยะแรกนั้น เกิดเนื่องจากการที่ท่านต้องอธิกรณ์ ซึ่งระเบียบการปกครองสงฆ์ ตามจารีตเดิมของล้านนานั้น ให้ความสำคัญแก่ระบบหมวดอุโบสถ หรือ ระบบหัวหมวดวัด มากกว่า และการปกครอง ก็เป็นไปในระบบพระอุปัชฌาย์ อาจารย์กับศิษย์ ซึ่งพระอุปัชฌาย์รูปหนึ่ง จะมีวัดขึ้นอยู่ในการดูแลจำนวนหนึ่ง เรียกว่าเจ้าหมวดอุโบสถ โดยคัดเลือกจากพระที่มีผู้เคารพนับถือ และได้รับการยกย่องว่าเป็น ครูบา ซึ่งหมายถึงพระภิกษุ ที่ได้รับความยกย่องอย่างสูง ดังนั้น ครูบาศรีวิชัยซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในขณะนั้น จึงอยู่ในตำแหน่งหัวหมวดพระอุปัชฌาย์ โดยฐานะเช่นนี้ ครูบาศรีวิชัยจึงมีสิทธิ์ตามจารีตท้องถิ่น ที่จะบวชกุลบุตรได้ ทำให้ครูบาศรีวิชัยจึงมีลูกศิษย์จำนวนมาก และลูกศิษย์เหล่านี้ ก็ได้เป็นฐานกำลังที่สำคัญของครูบาศรีวิชัย ในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนา และกิจกรรมสาธารณประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นแนวร่วม ในการต่อต้านอำนาจจากกรุงเทพฯ เมื่อเกิดกรณีขัดแย้งขึ้น ในเวลาต่อมา
ส่วนสงฆ์ในล้านนาเอง ก็มีแนวปฏิบัติที่หลากหลาย เนื่องจากมีการจำแนกพระสงฆ์ตามจารีตท้องถิ่นออกเป็นถึง ๑๘ นิกาย และในแต่ละนิกายนี้ ก็น่าจะหมายถึงกลุ่มพระ ที่เป็นสายพระอุปัชฌาย์สืบต่อกันมา ในแต่ละท้องที่ ซึ่งมีอำนาจปกครองในสายของตน โดยผ่านความคิดระบบครูกับศิษย์ และนอกจากนี้นิกายต่าง ๆ นั้นยังเกี่ยวข้องกับ ชื่อของเชื้อชาติอีกด้วย เช่น นิกายเชียงใหม่ นิกายขึน (เผ่าไทขึน/เขิน) นิกายยอง (จากเมืองยอง) เป็นต้น สำหรับครูบาศรีวิชัยนั้น ยึดถือปฏิบัติในแนวของนิกายเชียงใหม่ ผสมกับนิกายยอง ซึ่งมีแนวปฏิบัติบางอย่างต่างจากนิกายอื่น ๆ มีธรรมเนียมที่ยึดถือคือ การนุ่งห่มที่เรียกว่า กุมผ้าแบบรัดอก สวมหมวก แขวนลูกประคำ ถือไม้เท้าและพัด ซึ่งยึดธรรมเนียมมาจากวัดดอยแต โดยอ้างว่า สืบวิธีการนี้มาจากลังกา การที่ครูบาศรีวิชัย ถือว่าท่านมีสิทธิ์ที่จะบวชกุลบุตรได้ ตามจารีตการถือปฏิบัติมาแต่เดิมนั้น ทำให้ขัดกับพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๖) เพราะในพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดว่า “พระอุปัชฌาย์ที่จะบวชกุลบุตรได้ ต้องได้รับการแต่งตั้ง ตามระเบียบการปกครองของสงฆ์ จากส่วนกลางเท่านั้น” โดยถือเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะแขวงนั้น ๆ เป็นผู้คัดเลือกผู้ที่ควรจะเป็นอุปัชฌาย์ได้ และเมื่อคัดเลือกได้แล้ว จึงจะนำชื่อเสนอเจ้าคณะผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ เพื่อดำเนินการแต่งตั้งต่อไป การจัดระเบียบการปกครองใหม่ ของกรุงเทพฯ นี้ ถือเป็นวิธีการสลายจารีตเดิม ของสงฆ์ในล้านนาอย่างได้ผล องค์กรสงฆ์ล้านนา ก็เริ่มสลายตัวลงที่ละน้อย เพราะอย่างน้อยความขัดแย้งต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นระหว่างสงฆ์ในล้านนาด้วยกันเอง ดังกรณี ความขัดแย้งระหว่างครูบาศรีวิชัย กับพระครูมหารัตนากร เจ้าคณะแขวงลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นต้น
การต้องอธิกรณ์ระยะแรกของครูบาศรีวิชัยนั้น เกิดขึ้นเพราะครูบาศรีวิชัยถือธรรมเนียมปฏิบัติ ตามจารีตเดิมของล้านนา ส่วนเจ้าคณะแขวงลี้ ซึ่งใช้ระเบียบวิธีปฏิบัติของกรุงเทพฯ ซึ่งเห็นว่าครูบาศรีวิชัยทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์ โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าคณะแขวงลี้ จึงถือว่าเป็นความผิด เพราะตั้งตนเป็นพระอุปัชฌาย์เอง และเป็นพระอุปัชฌาย์เถื่อน ครูบามหารัตนากร เจ้าคณะแขวงลี้ กับหนานบุญเติง นายอำเภอลี้ได้เรียกครูบาศรีวิชัยไปสอบสวน เกี่ยวกับปัญหาที่ครูบาศรีวิชัย เป็นพระอุปัชฌาย์บวชกุลบุตร โดยมิได้รับแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติ การจับกุมครูบาศรีวิชัย สามารถแบ่งช่วงเวลาออกเป็น ๓ ช่วง เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกือบ ๓๐ ปี และแต่ละช่วงจะมีรายละเอียดของสภาพสังคมที่แตกต่างกัน
อธิกรณ์ระยะแรก (ช่วง พ.ศ.๒๔๕๑ – ๒๔๕๓)
การต้องอธิกรณ์ช่วงแรกของครูบาศรีวิชัย เป็นผลมาจากการเริ่มทดลองใช้กฎหมายของคณะสงฆ์ฉบับแรก (พ.ศ.๒๔๔๖) และเป็นการเริ่มให้อำนาจกับสงฆ์สายกลุ่มผู้ปกครอง ในช่วงพ.ศ.๒๔๕๓ นั้น บทบาทของครูบาศรีวิชัย ในหมู่ชาวบ้านและชาวเขา มีลักษณะโดดเด่น เกินกว่าตำแหน่งสงฆ์ผู้ปกครอง ดังจะเห็นว่าชาวบ้าน มักนำเอาบุตรหลานมาฝากฝังให้ครูบาศรีวิชัยบวชเณร และอุปสมบท เมื่อความทราบถึงเจ้าคณะแขวง และนายอำเภอลี้ ทางการก็เห็นว่าครูบาศรีวิชัยล่วงเกินอำนาจของตน เจ้าคณะแขวงและนายอำเภอ ได้พาตำรวจควบคุมครูบาศรีวิชัย ไปกักไว้ที่วัดเจ้าคณะแขวงลี้ ได้ ๔ คืน จากนั้น ก็ส่งครูบาศรีวิชัยไปให้พระครูบ้านยู้ เจ้าคณะจังหวัดลำพูนเพื่อรับการไต่สวน ซี่งผลก็ไม่ปรากฏครูบาศรีวิชัยมีความผิด หลังจากถูกไต่สวนครั้งแรกไม่นานนัก ครูบาศรีวิชัยก็ถูกเรียกตัวสอบอีกครั้ง โดยพระครู มหาอินทร์ เจ้าคณะแขวงลี้ เนื่องจากมีหมายเรียก ให้ครูบาศรีวิชัยนำลูกวัดไปประชุม เพื่อรับทราบระเบียบกฎหมายใหม่ จากนายอำเภอและเจ้าคณะแขวงลี้ แต่ครูบาศรีวิชัยไม่ได้ไปตามหมายเรียกนั้น ซึ่งส่งผลทำให้เจ้าอธิการหัววัด ที่อยู่ในหมวดอุโบสถของครูบาศรีวิชัย ไม่ไปประชุมเช่นกัน เพราะเห็นว่าเจ้าหัวหมวดไม่ไปประชุม ลูกวัดก็ไม่ควรไป พระครูเจ้าคณะแขวงลี้ จึงสั่งให้นายสิบตำรวจเมืองลำพูน ไปควบคุมครูบาศรีวิชัยส่งให้พระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน จัดการไต่สวน ครั้งนั้น ครูบาศรีวิชัยถูกควบคุมตัวอยู่ที่วัดชัย เมืองลำพูนถึง ๒๓ วัน จึงได้รับการปล่อยตัว
ส่วนครั้งที่ ๓ ใน พ.ศ.เดียวกันนี้ พระครูเจ้าคณะแขวงลี้ได้สั่งให้ครูบาศรีวิชัย นำเอาลูกวัดเจ้าอธิการหัววัดตำบลบ้านปาง ซึ่งอยู่ในหมวดอุโบสถ ไปประชุมที่วัดเจ้าคณะแขวง ตามพระราชบัญญัติที่จะเพิ่มขึ้น ปรากฏว่าครูบาศรีวิชัย มิได้เข้าประชุมอีก มีผลให้บรรดาหัววัดไม่ไปประชุมเช่นกัน เจ้าคณะแขวงและนายอำเภอลี้ จึงมีหนังสือฟ้องถึงพระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน ครูบาศรีวิชัยถูกควบคุมไว้ ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย เมืองลำพูน นานถึงหนึ่งปี พระครูญาณมงคลจึงได้เรียกประชุม พระครูผู้ใหญ่ในจังหวัด เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งในที่สุด ที่ประชุมก็ได้ตัดสินให้ครูบาศรีวิชัย พ้นจากตำแหน่งหัวหมวดวัด หรือหมวดอุโบสถ และมิให้เป็นพระอุปัชฌาย์อีกต่อไป พร้อมทั้งถูกควบคุมตัวต่อไปอีกหนึ่งปี
อธิกรณ์ระยะที่สอง (พ.ศ. ๒๔๕๔ – ๒๔๖๔)
อธิกรณ์พระศรีวิชัยครั้งที่สองนี้ มีความเข้มข้นและรุนแรงขึ้น เนื่องจากเป็นผลมาจากการต้องอธิกรณ์ ครั้งแรกถึง ๓ ครั้ง แต่การต้องอธิกรณ์ กลับเป็นการเพิ่มความเลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน ที่มีต่อครูบาศรีวิชัยมากยิ่งขึ้น เสียงที่เล่าลือเกี่ยวกับครูบาสรีวิชัย จึงขยายออกไป นับตั้งแต่เป็นผู้วิเศษ เดินตากฝนไม่เปียก และได้รับดาบสรีกัญไชย (พระขรรค์ชัยศรี) จากพระอินทร์ ความนับถือเลื่อมใสศรัทธาใน ตัวครูบาศรีวิชัย ยิ่งแพร่ขยายออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง คำเล่าลือดังกล่าว เมื่อทราบถึงเจ้าคณะแขวงลี้ และนายอำเภอแขวงลี้ ทั้งสองจึงได้เข้าแจ้ง ต่อพระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน โดยกล่าวหาว่า “ครูบาศรีวิชัยเกลี้ยกล่อมส้องสุมคน คฤหัสถ์นักบวชเป็นก๊กเป็นเหล่า และใช้ผีและเวทมนต์” พระครูญาณมงคล จึงออกหนังสือลงวันที่ ๑๒มกราคม ๒๔๖๒ สั่งครูบาศรีวิชัย ให้ออกไปพ้น เขตจังหวัดลำพูน ภายใน ๑๕ วัน พร้อมทั้งมีหนังสือห้ามพระในจังหวัดลำพูน รับครูบาศรีวิชัยไว้ในวัด เมื่อครูบาศรีวิชัยโต้แย้ง และทางการไม่สามารถเอาผิดครูบาศรีวิชัยได้ ความดังกล่าวก็เลิกราไประยะหนึ่ง แต่ต่อมา ก็มีหนังสือของเจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองเมืองนครลำพูน เรียกครูบาศรีวิชัย พร้อมกับลูกวัด เข้าเมืองลำพูน ครั้งนั้น พวกลูกศิษย์ ได้จัดขบวนแห่ครูบาศรีวิชัย เข้าสู่เมืองอย่างใหญ่โต การณ์ดังกล่าวคงจะทำให้ทางคณะสงฆ์ผู้ปกครองลำพูน ตกใจอยู่มิใช่น้อย ดังจะพบว่าเมื่อครูบาศรีวิชัย พักอยู่ที่วัดมหาวันได้คืนหนึ่ง อุปราชเทศามณฑลพายัพ จึงได้สั่งย้ายครูบาศรีวิชัย ขึ้นไปยังเชียงใหม่ โดยให้พักกับพระครูเจ้าคณะเมืองเชียงใหม่ ที่วัดเชตวัน เสร็จแล้วจึงมอบตัวให้พระครูสุคันธศีล รองเจ้าคณะเมืองเชียงใหม่ ที่วัดป่ากล้วย (ศรีดอนไชย)
ในระหว่างที่ครูบาศรีวิชัย ถูกควบคุมอยู่ที่วัดป่ากล้วย ก็ได้มีพ่อค้าใหญ่เข้ามารับเป็นผู้อุปฐากครูบาศรีวิชัย คือ หลวงอนุสารสุนทร (ซุ่นฮี้ ชัวย่งเส็ง) และพญาคำ แห่งบ้านประตูท่าแพ ตลอดจนผู้คนทั้งในเชียงใหม่ และใกล้เคียง ต่างก็เดินทางมานมัสการครูบาศรีวิชัยเป็นจำนวนมาก ทางฝ่ายผู้ดูแล ต่างเกรงว่าเรื่องจะลุกลามไปกันใหญ่ เนื่องจากแรงศรัทธาของชาวเมืองเหล่านี้ เจ้าคณะเมืองเชียงใหม่ และเจ้าคณะมณฑลพายัพ จึงส่งครูบาศรีวิชัยไปรับการไต่สวน พิจารณาที่กรุงเทพฯ ซึ่งผลการพิจารณา ไม่พบว่าครูบาศรีวิชัยมีความผิด และให้ครูบาศรีวิชัย เลือกเป็นเจ้าอาวาส หรืออาศัยอยู่ในวัดอื่นก็ได้ เมื่อครูบาศรีวิชัยกลับจากกรุงเทพฯ แล้ว ชนทุกกลุ่มของล้านนา ก็ได้เพิ่มความเคารพยกย่องในตัวครูบา ดังจะเห็นได้จากความสนับสนุน ในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ ทั่วไป ในล้านนาซึ่งต้องใช้ทั้งเงิน และแรงงานอย่างมหาศาล
อธิกรณ์ระยะที่สาม (ช่วง พ.ศ. ๒๔๗๘ – ๒๔๗๙)
การต้องอธิกรณ์ช่วงที่สามของครูบาศรีวิชัย เกิดขึ้นในช่วงที่ได้มีการสร้างถนน ขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ เพราะขณะก่อสร้างทางอยู่นั้นเอง ปรากฏว่ามีพระสงฆ์ในจังหวัดเชียงใหม่รวม ๑๐ แขวง ๕๐ วัด ขอลาออกจากการปกครองคณะสงฆ์ ไปขึ้นอยู่ในปกครองของครูบาศรีวิชัยแทน เมื่อเห็นการที่วัด ขอแยกตัวไปขึ้นกับครูบาศรีวิชัย เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นนั้น ทางคณะสงฆ์ จึงสั่งให้กลุ่มพระสงฆ์ ในวัดที่ขอแยกตัวออกดังกล่าว เข้ามอบตัว และพระสงฆ์ที่ครูบาศรีวิชัยเคยบวชให้ ก็ถูกสั่งให้สึก อธิกรณ์ครั้งที่ ๓ นี้ได้ดำเนินมาจนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๗๙ ครูบาศรีวิชัยได้ให้คำรับรอง ต่อคณะสงฆ์ว่า จะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ ลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ทุกประการ ท่านจึงได้รับอนุญาต ให้เดินทางกลับลำพูนเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๙ รวมเวลาที่ต้องสอบสวน และอบรมอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร เป็นเวลาถึง ๖ เดือน ๑๗ วัน
กรณีความขัดแย้ง ระหว่างครูบาศรีวิชัยกับคณะสงฆ์ฝ่ายปกครอง ได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลาเกือบ ๓๐ ปี นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๑ เป็นต้นมา ตราบกระทั่งวาระสุดท้ายในชีวิต ของครูบาศรีวิชัย แต่ในช่วงเวลานั้น ครูบาศรีวิชัยก็ยังคงดำเนินการช่วยเหลือประชาชน เป็นที่พึ่งทางใจ และดำเนินการบูรณะ ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ ตลอดจนสาธารณะประโยชน์ ตามคำอาราธนาอยู่เรื่อยมา
การปฏิสังขรณ์วัดและปูชนียวัตถุทางพุทธศาสนา กับการสร้างสิ่งสาธารณประโยชน์
ครูบาศรีวิชัยได้ชื่อว่าเป็นผู้ถือปฏิบัติเคร่ง มาตั้งแต่เป็นสามเณร ดังเห็นว่าท่านเป็นผู้ที่มักน้อย ถือสันโดษ และเว้นอาหารที่มีเนื้อสัตว์เจือปน ตลอดจนงดกระทั่งหมาก เมี่ยง และบุหรี่ ทำให้คนทั่วไปเห็นว่า ครูบาเป็นผู้บริสุทธิ์ ที่มีลักษณะเป็น”ตนบุญ” คนทั้งปวงต่างก็ประสงค์จะทำบุญกับครูบา เพราะเชื่อว่าการถวายทานกับภิกษุผู้บริสุทธิ์เช่นนั้น จะทำให้ผู้ถวายทานได้รับอานิสงส์มาก เงินที่ประชาชนนำมาทำบุญ ก็นำไปใช้ในการก่อสร้างสาธารณประโยชน์ และบูรณะศาสนสถานและศาสนวัตถุ งานก่อสร้างดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อปี ฉลู พ.ศ.๒๔๔๒ เดือน ๓ แรม ๑ ค่ำ ครูบาได้แจ้งข่าวสารไปยังศรัทธาทั้งหลาย รวมทั้งชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ว่าจะปฏิสังขรณ์วัดบ้านปางขึ้นใหม่ ซึ่งก็สร้างเสร็จภายในเวลาไม่นานนัก ให้ชื่อวัดใหม่นั้นว่า “วัดศรีดอยไชยทรายมูล” ซึ่งคนทั่วไปนิยมเรียกว่า “วัดบ้านปาง”
ขั้นตอนปฏิบัติในการไปบูรณะปฏิสังขรณ์วัด มีว่า เมื่อครูบาได้รับนิมนต์ให้ไปบูรณะปฏิสังขรณ์วัดใดแล้ว ทางวัดเจ้าภาพ ก็จะสร้างที่พักของครูบากับศิษย์ และปลูกปะรำสำหรับเป็นที่พัก ของผู้ที่มาทำบุญกับครูบา คืนแรกที่ครูบาไปถึง ก็จะอธิษฐานจิตดูว่า การก่อสร้างครั้งนั้นจะสำเร็จหรือไม่ ซึ่งมีน้อยครั้งที่จะไม่สำเร็จ เช่น การสร้างสะพานศรีวิชัย ซึ่งเชื่อมระหว่าง อำเภอหางดง เชียงใหม่ กับอำเภอเมือง ลำพูน จากนั้นครูบาก็จะ “นั่งหนัก” คือ เป็นประธานอยู่ประจำในงานนั้น คอยให้พรแก่ศรัทธา ที่มาทำบุญโดยไม่สนใจเรื่องเงิน แต่มีคณะกรรมการ ช่วยกันรวบรวมเงินไป เป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ครูบาไป “นั่งหนัก” ที่ไหน ประชาชนจะหลั่งไหลกันไปทำบุญที่นั่น ถึงวันละ ๒๐๐-๓๐๐ ราย คับคั่งจนที่นั้น กลายเป็นตลาดเป็นชุมชนขึ้น เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว ก็จะมีงาน “พอยหลวง-ปอยหลวง” คืองานฉลอง บางแห่งมีงานฉลองถึงสิบห้าวัน และในช่วงเวลาดังกล่าว ก็มักจะมีคนมาทำบุญกับครูบามากกว่าปกติ เมื่อเสร็จงาน”พอยหลวง-ปอยหลวง” ในที่หนึ่งแล้ว ครูบาและศิษย์ ก็จะย้ายไปก่อสร้างที่อื่น ตามที่มีผู้มานิมนต์ไว้ โดยที่ท่านจะไม่นำทรัพย์สินอื่นใด จากแหล่งก่อนไปด้วยเลย ช่วงที่ครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ครั้งที่สอง และถูกควบคุมไว้ที่วัดศรีดอนชัย เชียงใหม่ เป็นเวลา ๓ เดือนกับ ๘ วันนั้น ผู้คนหลั่งไหลไปทำบุญกับครูบา ไม่ต่ำกว่าวันละ ๒๐๐ ราย
เมื่อครูบาศรีวิชัย ได้ผ่านการพิจารณาอธิกรณ์ที่กรุงเทพฯ ซึ่งใช้เวลาอีก ๒ เดือนกับ ๔ วันแล้วครูบาก็เดินทางกลับลำพูน เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๓ หลังจากนั้น ผู้คนก็มีความศรัทธาในตัวครูบามากขึ้น ครูบาศรีวิชัย เริ่มต้นการบูรณะวัด ขณะที่ท่านอายุ ๔๒ ปี โดยเริ่มจากการบูรณะพระเจดีย์บ่อนไก้แจ้ จังหวัดลำปาง ถัดจากนั้น ได้บูรณะเจดีย์ และวิหารวัดพระธาตุหริภุญชัย ต่อมาได้ไปบูรณะเจดีย์ดอยเกิ้ง ในเขตอำเภอฮอด เชียงใหม่ จากนั้น ไปบูรณะวัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา กล่าวกันมาว่า ในวันที่ท่านถึงพะเยานั้น มีประชาชนนำเงินมาบริจาคร่วมทำบุญใส่ปีบได้ถึง ๒ ปีบ หลังจากนั้น มาบูรณะวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ เป็นอาทิ รวมแล้วพบว่างานบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ของครูบาศรีวิชัยมีประมาณ ๒๐๐ แห่ง
ในขณะที่ครูบาศรีวิชัย กำลังบูรณะวัดสวนดอกเชียงใหม่ใน พ.ศ.๒๔๗๕ อยู่นั้น หลวงศรีประกาศ ได้หารือกับครูบาศรีวิชัยว่า อยากจะนำไฟฟ้าขึ้นไปใช้บนดอยสุเทพ แต่ครูบาศรีวิชัยว่า หากทำถนนขึ้นไปจะง่ายกว่า และจะได้ไฟฟ้าในภายหลัง ทั้งนี้ทางการเคยคำนวณไว้ในช่วง พ.ศ.๒๔๖๐ ว่าหากสร้างทางขึ้นดอยสุเทพนั้น จะต้องใช้งบประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท แต่ครูบาศรีวิชัย ได้เริ่มสร้างทางเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๗ และเปิดให้รถยนต์แล่นได้ ในวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๘ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเลย ครั้นเสร็จงานสร้างถนนแล้ว ครูบาศรีวิชัย ก็ถูกนำตัวไปสอบอธิกรณ์ที่กรุงเทพฯ อีก เป็นครั้งที่สอง และงานชิ้นสุดท้ายของท่าน ที่ไม่เสร็จในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็คือสะพานศรีวิชัยอนุสรณ์ ทอดข้ามน้ำแม่ปิง เชื่อมอำเภอหางดง เชียงใหม่ กับอำเภอเมืองจังหวัดลำพูน
ในการก่อสร้างต่าง ๆ นับแต่ พ.ศ.๒๔๖๓ ถึง ๒๔๗๑ มีผู้ได้บริจาคเงินทำบุญกับท่าน ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ รูปี คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่าสามหมื่นห้าพันบาท รวมค่าก่อสร้างชั่วชีวิตของท่าน ประมาณสองล้านบาท นอกจากนั้นท่านยังได้สร้างคัมภีร์ต่าง ๆ อีกไม่น้อยกว่า ๓๐๐๐ ผูก คิดค่าจารเป็นเงิน ๔,๓๒๑ รูปี (รูปีละ ๘๐ สตางค์) ทั้งนี้ แม้ครูบาศรีวิชัยจะมีงานก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ และมากมาย แต่บิดามารดา คือนายควายและนางอุสา ก็ยังคงอยู่ในกระท่อมอย่างเดิมสืบมาตราบจนสิ้นอายุ
สิ้นแห่งตนบุญล้านนา
ครูบาศรีวิชัย ซึ่งเป็นคนร่างเล็กผอมบางผิวขาว ไม่ใช่คนแข็งแรง แม้ท่านจะไม่ต้องทำงานประเภทใช้แรงงาน แต่การที่ต้องนั่งคอยต้อนรับ และให้พรแก่ผู้มาทำบุญกับท่านนั้น ท่านจะต้อง “นั่งหนัก” อยู่ตลอดทั้งวัน ด้วยเหตุนี้ท่านจึงอาพาธด้วยโรคริดสีดวงทวาร ซึ่งสะสมมาแต่ครั้งการตระเวนก่อสร้าง บูรณะวัดในเขตล้านนา และการอาพาธได้กำเริบ ขณะที่สร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง ครูบาศรีวิชัย ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๑ ที่วัดบ้านปาง ขณะมีอายุได้ ๖๐ ปี ๙ เดือน ๑๑ วัน และตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปางเป็นเวลา ๑ ปี บางท่านก็ว่า ๓ ปี จากนั้น ได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ที่วัดจามเทวี ลำพูน จนถึงวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๙ จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ เมื่องานพระราชทานเพลิงศพเสร็จสิ้น จึงได้มีการแบ่งอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่น ที่วัดจามเทวีจังหวัดลำพูน วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระแก้วดอนเต้า จังหวัดลำปาง วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ และที่วัดบ้านปาง จังหวัดลำพูน อันเป็นวัดดั้งเดิมของท่าน เป็นต้น
คำสั่งสอนของท่านพระครูบาศรีวิชัย
เครื่องประดับขัติยะนารีทั้งหลาย มีแก้วแหวนเงินทอง เป็นตัณหากามคุณ เหมือนดั่งน้ำผึ้งแช่ยาพิษ สำหรับนำความทุกข์มาใส่ตัว โดยบ่มีประโยชน์สิ่งใดเลย แม่น้ำคงคา ยมนา อิรวดี มหิ มหาสรพู ซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ แม่น้ำนี้ แม้นจักเอามาอาบให้หมดทั้ง ๕ แม่นี้ ก็บ่ อาจจะล้างบาป คือความเดือดร้อนภายในให้หายได้ ลมฝนลูกเห็บ แม้นจะตกลงมาหลายห่า เย็นและหนาวสักปานใด ก็บ่อาจเย็นเข้าไป ถึงภายใน ให้หายจากความทุกขเวทนาได้ ศีล ๕ เป็นอริยทรัพย์ เป็นต้นเหตุแห่งความบริสุทธิ์ เป็นน้ำทิพย์สำหรับล้างบาป คือความเดือดร้อนภายในให้หายได้ เมื่อศีลบริสุทธิ์แล้ว สมาธิ ความตั้งมั่นก็จะมีมา แล้วให้ปลุกปัญญา ปัญญาก็จักเกิดมีขึ้นได้ คือ ให้หมั่นรำลึกถึงตัวตนอยู่เสมอ ว่า บ่ใช่ตัว บ่ใช่ตน จนเห็นแจ้งด้วย ปัญญาของตน จึงเป็นสมุทเฉทประหานกิเลส หมดแล้ว จิตเป็นวิมุติ หลุดพ้นจากความทุกข์ ทั้งมวลได้