วันเสาร์, 7 กันยายน 2567

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม
๒๗ มกราคม ๒๔๓๒ – ๘ กันยายน ๒๕๐๗
วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา
——————–

ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เกิดที่บ้านหนองขอน ต.หัวทะเล อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2432 ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 ปีฉลู

ท่านมีนามเดิมว่า สิงห์ บุญโท บิดาชื่อ เพีย อัครวงศ์(อ้วน) (เพีย อัครวงศ์ เป็นตำแหน่งข้าราชการหัวเมืองลาวกาว-ลาวพวน มีหน้าที่จัดการศึกษา และ การพระศาสนา) มารดาชื่อ หล้า บุญโท การศึกษาในสมัยที่ท่านเป็นฆราวาส ท่านได้ศึกษาจนเป็นครูสอนวิชาสามัญได้ดีผู้หนึ่ง

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
พระอาจารย์สิงห์ ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ.2446 ในสำนักพระอุปัชฌาย์”ป้อง” ณ วัดบ้านหนองขอน ต.หัวทะเล อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี เมื่ออายุครบบวช ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดสุทัศน์ฯ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2452 โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) สมัยเมื่อดำรงสมณศักดิ์ เป็นพระศาสนดิลก เจ้าคณะมณฑลอีสาน เป็นพระอุปัชฌาย์ นับว่าเป็นสิทธิวิหาริกอันดับ 2 ของสมเด็จมหาวีรวงศ์

ภายหลังอุปสมบทท่านได้ปฎิบัติและเจริญรอยตามโอวาทแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงประทานไว้โดยย่อว่า รุกขมูลเสนาสนะ เป็นต้น ท่านได้มุ่งสู่ราวป่า และปฎิบัติตาม เยี่ยงพระอริยเจ้าทั้งหลาย ที่เคยปฎิบัติมา ด้วยความวิริยะอุตสาห์พยายาม ด้วยวิสัยพุทธบุตร พระอาจารย์สิงห์ สามารถรอบรู้เล่ห์เหลี่ยมกลอุบายของกิเลสตัณหา ได้อย่างแยบยล ด้วยสติปัญญา และกุศโลบายอันยอดเยี่ยม เข้าพิชิตติตตามฆ่าเสียซึ่งอาสวกิเลสต่างๆที่เข้ามารุมเร้าจิตใจของท่าน ได้อย่างภาคภูมิจนสามารถรอบรู้ นำคณะพระกรรมฐานแห่งยุคนั้น ออกเที่ยวอบรมสั่งสอน ประชาชนผู้โง่เขลาเบาปัญญา ให้หันมานับถือพระพุทธศาสนา ยึดมั่นในพระไตรสรณคมน์ น้อมจิตให้หันมาประพฤติปฏิบัติธรรม

พระอาจารย์สิงห์ ได้เข้าถวายตัวเป็น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และได้ฝึกอบรมสมาธิภาวนากรรมฐาน อยู่กับหลวงปู่มั่น จนมีกำลังอันแก่กล้าแล้ว และเนื่องจากท่าน เป็นศิษย์ที่ได้รับความไว้วางใจ จากท่านหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นอย่างมาก หลวงปู่มั่น จึงได้แยกย้ายไปอบรมสั่งสอนประชาชน พระอาจารย์สิงห์ ท่านเป็นพระที่สามารถ ให้อุบายธรรมแก่บรรดาลูกศิษย์ โดยไม่ว่าผู้ใดติดขัดปัญหาธรรมแล้ว ท่านจะแนะนำอุบายให้พิจารณา จนกระจ่างแจ่มใสเลยทีเดียว ด้วยอำนาจญานวิเศษ สามารถรู้วาระจิต ของศิษย์เป็นเยี่ยมเป็นบางเวลาที่ศิษย์กลับเข้ามาหาท่าน และขออุบายธรรมและขอให้ท่านแก้ไข

ฉะนั้นท่านอาจารย์สิงห์ จึงต้องรับภาระหน้าที่แทน หลวงปู่มั่น นับว่าหนักหนาพอสมควรทีเดียว พระอาจารย์สิงห์ มักจะฝึกให้ศิษย์ทั้งหลาย ได้อสุภกรรมฐานจากซากศพ ที่ชาวบ้านเขานำเอามาฝังบ้าง เผาบ้าง หรือไม่ก็ใส่โลงไม้อย่างง่ายๆ เก็บเอาไว้รอวันเผา บางครั้งท่านจะพาลูกศิษย์ไปเปิดโลงศพ หรือขุดขึ้นมาดูเพื่อฝึกพระลูกศิษย์ของท่าน ดังที่พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร) ได้กล่าวถึง พระอาจารย์สิงห์ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านไว้ และเมื่อท่านเห็นว่า คณะศิษย์องค์ใด พอฝึกสมาธิภาวนาแก่กล้า ตามวาระความสามารถแล้ว ท่านจะแยกให้ไปอบรมธรรมเป็นแห่งๆ โดยลำพัง ท่านได้เคยพาคณะศิษย์ของท่านไปปักกลด โดยยึดเอาสถานที่เป็นป่าช้าเก่าแก่ เรียกว่า ป่าช้าบ้านเหล่างา จังหวัดขอนแก่น ซึ่งในกาลต่อมาเป็นวัดชื่อว่า วัดป่าวิเวกธรรม อุปมาเป็นกองบัญชาการฝ่ายประพฤติปฎิบัติธรรม ส่งเสริมสานุศิษย์ทั้งมวล ออกเผยแพร่ธรรม ไปตามอำเภอต่างๆ จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในกาลต่อมา

พระลูกศิษย์ของพระอาจารย์สิงห์ อีกองค์หนึ่ง ซึ่งในกาลต่อมาท่านได้มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดท่านหนึ่งคือ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ซึ่งเคยธุดงค์ในคณะ หรือกองทัพธรรม ที่มีพระอาจารย์สิงห์ เป็นพระหัวหน้าคณะ

ต่อมาหลวงชาญนิคม ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเลื่อมใสในธรรมของพระพุทธเจ้า และเลื่อมใสในพระธุดงค์กรรมฐานมาก มีประสงค์เป็นอย่างยิ่ง ที่จะฟื้นฟูจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นศูนย์รวมของพระผู้ปฎิบัติดี ปฏิบัติชอบจึงได้นิมนต์ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ให้ไปช่วยสร้างวัดป่าสาลวัน เพื่อเป็นวัดป่าตัวอย่าง ของฝ่ายวิปัสนาธุระ ซึ่งพระอาจารย์สิงห์ก็รับนิมนต์ ตามคำขอร้องของหลวงชาญนิคม ก่อร่างสร้าง “วัดป่าสาลวัน” จนเป็นที่เรียบร้อย

เดิมบริเวณวัดป่าสาลวันนั้นเป็นป่ารกและมีต้นไม้ที่เป็นมงคลอยุ่ต้นหนึ่งซึ่งมีความสำคัญในทางพระพุทธศาสนา คือ ต้นสาละ ภายหลังสร้างวัดป่าสาลวันเสร็จสิ้นแล้ว บรรดาลูกศิษย์ที่เป็นยอดขุนพลทางธรรมทั้งหลายได้เดินทางมาอยู่จำพรรษากับท่าน ต่อมาท่านได้พาคณะออกเดินธุดงค์ ภายหลังจากออกพรรษา ผ่านป่าเขาผ่านไปในที่ต่างๆ จนมาถึง อำเภอจตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ท่านได้พักปักกลดลง ณ บริเวณป่าช้า รกร้างว่างเปล่า ท่านพระอาจารย์สิงห์ และบรรดาพระลูกศิษย์ ต่างก็ออกไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ นำธรรมะของพระศาสดาเจ้า มาสู่ประตูบ้าน ให้ชาวบ้านที่ยังติดขัดในความประพฤติ ยึดถือในสิ่งที่ไร้ประโยชน์ต่าง ๆ หันมารับพระไตรสรณคมน์

พระอาจารย์สิงห์ ท่านได้ตั้งใจว่า จะพยายามสร้างวัดป่าขึ้นที่นี่ เพื่อเป็นปูชนียสถาน สำหรับผู้มีความสนใจในการประพฤติปฎิบัติปฎิบัติธรรม แต่ท่านก็ได้ถูกชาวบ้านส่วนใหญ่ คัดค้านอย่างรุนแรง และข่มขู่ท่านว่า “ถ้าหากมีการสร้างวัดป่าขึ้น พวกเราจะฆ่าท่าน” ท่านมาพิจารณาด้วยสติปัญญาอันรอบคอบ ไม่เกรงกลัวต่อคำขู่ ไม่เกรงว่าจะต้องตาย ด้วยน้ำมือชาวบ้าน ชีวิตนี้พระอาจารย์สิงห์ ได้มอบกายถวายชีวิต ไว้กับพระพุทธเจ้าแล้ว และด้วยกระแสแห่งพรหมวิหารธรรมของท่าน ซึ่งมีพลังอำนาจ ได้แผ่ไปยังบุคคล ที่ประสงค์ร้ายต่อท่าน จึงสามารถเปลี่ยนใจ เขาเหล่านั้น ให้รับฟังธรรมะที่ท่านแสดงยกเหตุผลอันสุขุมอ่อนโยน ป้อนเข้าสู่จิตใจ จนระลึกถึงความผิดของตน ที่คิดชั่วร้ายต่อพระสงฆ์ ผู้มีความบริสุทธิ์ด้วยศีลธรรม และในที่สุดนอกจากยอมรับธรรมะอันวิเศษแล้ว ยังช่วยกันสร้างสำนักสงฆ์เพื่อถวายแก่พระอาจารย์สิงห์ และคณะด้วยจนสำเร็จ

พระอาจารย์สิงห์ ท่านได้มีโอกาสพบกับพระผู้สหาย ซึ่งต่อมาเป็นพระเถระผู้ใหญ่แห่งจังหวัดสุรินทร์ นั่นคือ หลวงปู่ดุลย์ อตุโล หลวงปู่ดุลย์ เอง สมัยนั้นท่านก็ยังอยู่ในฝ่ายมหานิกาย ยังไม่ได้ญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย

ดังนั้น พระอาจารย์สิงห์เมื่อได้พบพระสหาย คือ หลวงปู่ดุลย์ อตุโลแล้ว ท่านเกิดชอบอัธยาศัยไมตรีของหลวงปู่ดุลย์ และได้เห็นปฏิปทา ในการศึกษา ประพฤติปฏิบัติกิจ ในพระศาสนาอย่างจริงจังมีความตั้งใจจริง ท่านพระอาจารย์สิงห์ จึงได้จัดการช่วยเหลือพระสหาย คือ หลวงปู่ดุลย์ ได้ญัติเป็นพระธรรมยุติกนิกายได้เป็นผลสำเร็จเมื่อปี พ.ศ.2461

พระอาจารย์สิงห์ ท่านมีน้องชายที่สนใจทางด้านปริยัติธรรม จนสามารถสอบได้เป็นมหา นั่นคือ พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล แต่ท่านพระอาจารย์สิงห์ มีความประสงค์ ให้พระผู้น้องได้ประพฤติในทางปฎิบัติธรรม ท่านจึงได้ปรารภเรื่องนี้กับ หลวงปู่ดุลย์ และได้เชิญหลวงปู่ดุลย์ให้ช่วยทรมาน และชักนำพระมหาปิ่นให้มาสนใจในทางธุดงคกรรมฐาน

การทรมานมิได้ใช้วิธีอื่นที่เรียกว่า รุนแรง แต่เป็นการทรมานให้เห็นความสำคัญ และปฏิปทาในการปฏิบัติ ในที่สุด พระอาจารย์สิงห์และหลวงปู่ดุลย์ ท่านก็ค่อยสามารถทรมาน โน้มน้าวความคิดจิตใจ ของท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ให้เลื่อมใสในกิจธุดงค์ได้จนหมดสิ้น

ต่อมา พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น และบรรดาพระอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติต่าง ๆ หลายท่าน เดินธุดงค์ผ่านมาถึงจังหวัดปราจีนบุรี ท่านได้เปิดสำนักปฏิบัติธรรมขึ้นแห่งหนึ่ง ซึ่งบริเวณนั้นเป็นป่าช้า หรือ เรียกว่า ป่ามะม่วง การมาอยู่จำพรรษาที่นี่ ท่านได้นำธรรมะปฎิบัติสอนให้บรรดาชาวบ้านโดยทั่วไป ประพฤติปฎิบัติ จนปรากฎว่าชื่อเสียงในการสั่งสอน และแสดงพระธรรมเทศนาของท่านลึกซึ้งจับใจ ฟังแล้วเข้าใจง่าย คนที่ได้สดับรับฟังแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติตาม จนเกิดสติปัญญารอบรู้

แต่ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้สร้างความไม่พอใจ แก่คนเลวบางคนเป็นยิ่งนักถึงขนาดจ้างมือปืนมาฆ่าท่าน แต่ก็เกิดปาฏิหารย์ขึ้น ในขณะที่มือปืนเล็งปืนขึ้นหมายยิงท่านนั้น ต้นไม้ทุกต้น ในบริเวณป่าช้าแกว่งไกวเหมือนถูกลมพัดอย่างรุนแรง ขนาดต้นไม้โตๆ ล้มระเนระนาดหมดทำให้มือปืนใจชั่ว ตกใจเหลือกำลังจะวิ่งหนีแต่ขาก้าวไม่ออก ปืนที่หมายจะยิงพระอริยเจ้า ผู้ปฎิบัติชอบได้ตกหล่นอยู่บนพื้นดิน มือปืนจึงก้มลงกราบพร้อมกับกล่าวคำสารภาพผิด พระอาจารย์สิงห์ได้อบรมจิตใจของมือปืนรับจ้าง ด้วยความเมตตา และปล่อยตัวไป ซึ่งต่อมาผู้มีอิทธิพล ซึ่งจ้างมือปืนฆ่าพระอาจารย์สิงห์ได้สำนึก และได้รับฟังธรรมะโอวาทจากพระอาจารย์สิงห์ เกิดปิติในธรรมะอย่างล้นพ้น เลื่อมใสศรัทธาด้วยจิตใจบริสุทธิ์ จึงพร้อมใจกันฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์สิงห์ และ ได้ชักชวนกันสร้างสำนักสงฆ์ อันถาวรถวายพระอาจารย์สิงห์ เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงคุณของท่าน ที่ได้เปิดตาเปิดใจพวกเขาให้ได้รับแสงสว่างในธรรมะ และได้ตั้งชื่อไว้ว่า “วัดป่ามะม่วง” หรือวัดป่าทรงคุณ แห่งจังหวัดปราจีนบุรีในปัจจุบันนี้

ปี พ.ศ. 2463 พระอาจารย์สิงห์ ท่านได้เดินธุดงค์ผ่านมาพักจำพรรษา อยู่ที่วัดบ้านนาสีดา ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ท่านได้พบกับเด็กหนุ่มรุ่นๆ คนหนึ่ง มีความเคารพนับถือพระอาจารย์สิงห์มากเป็นพิเศษ เข้ามารับใช้อุปัฎฐากทุกสิ่งอย่าง เด็กรุ่นหนุ่มคนนั้นคือ หนุ่มเทสก์ เรี่ยวแรง ซึ่งก็คือ พระราชนิโรจรังสีคัมภีร์ปัญญาวิศิษฐ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) นี้เอง ซึ่งในขณะนั้นมีอายุ 16 ปี พระอาจารย์สิงห์ได้มองเห็นบุญญาธิการของหลวงปู่เทสก์ ตั้งแต่แรกพบ

เมื่อคณะธุดงค์ของท่าน จะออกจากวัดบ้านนาสีดา หลวงปู่เทสก์ (ในขณะนั้นคือ หนุ่มเทสก์ เรี่ยวแรง)ได้ขอติดตามพระอาจารย์ไปด้วย พระอาจารย์สิงห์ จึงได้ให้ไปขออนุญาต บิดามารดาเสียก่อน และก็ได้เป็นไปตามสภาพกุศลเกื้อกูลทุกประการ ท่านได้พาคณะธุดงค์เดินตัดตรงไปทางอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ได้พักจำพรรษาโดยปักกลด ในบริเวณป่าช้าแห่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งปฎิบัติสมาธิภาวนาธรรม ชื่อว่า”วัดป่าอรัญญวาสี ” อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ท่านได้พร่ำสอนลูกศิษย์รัก คือ หนุ่มเทสก์ เรี่ยวแรง ให้รู้จักเจริญพรหมวิหารธรรม ต่อมาท่านได้มอบหมายให้พระอาจารย์ลุย เป็นอุปัชฌาย์ บรรพชาสามเณรเทสก์ขึ้นที่วัดบ้านเค็งใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี

ในการทดแทนพระคุณอันสูงล้ำของบิดามารดา พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้เดินทางไปโปรดบิดามารดา จนมีจิตใจแจ่มใสเบิกบานในธรรม ท่านได้ให้บิดามารดา เจริญวิปัสสนากรรมฐาน โดยการแนะนำไปทีละน้อยๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของบุตรพึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง

พระอาจารย์สิงห์ ได้รับพระราชสมณศักดิ์ขึ้นเป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีนามว่า พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2500 และเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2507 เวลา 10.20 น.ท่านได้จากไปเพราะอาพาธ ด้วยโรคมะเร็งเรื้อรังในกระเพาะอาหาร ณ วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา รวมสิริอายุ ได้ 73 พรรษา