วันพฤหัสบดี, 9 พฤษภาคม 2567

พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)

พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) วัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสวนโมกขพลารามเพื่อให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและสถาน ที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) หรือรู้จักในนามพุทธทาสภิกขุ เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๔๙ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ที่วัดบ้านเกิดจากนั้นได้เข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานคร จนสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ท่านได้ตัดสินใจมาปฏิบัติธรรมที่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่านพร้อมปวารณาตนเองเป็นพุทธทาส อันเนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด ท่านพุทธทาสภิกขุมีนามเดิมว่าเงื่อม พานิช เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย หรือวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๔๙ ในสกุลของพ่อค้าที่ตลาดพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งขณะนั้นพุมเรียง  ยังเป็นที่ตั้งของตัวเมืองไชยา หรือจังหวัดไชยา ก่อนที่จะกลายมาเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อเซี้ยง พานิช ประกอบอาชีพหลักคือการค้าขายของชำ บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุมีเชื้อสายจีน เนื่องจากปู่ของท่านได้อพยพจากมณฑลฝูเจี้ยนในประเทศจีน มาเป็นช่างเขียนภาพสีบนกระจกที่เมืองไชยา ย่าของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อส้มจีน ซึ่งเชื้อสายของย่าอพยพจากอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มาอยู่เมืองไชยาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมบิดาของท่านพุทธทาสภิกขุใช้แซ่โข่วหรือข่อ (หรือโค้ว ในภาษาแต้จิ๋ว) ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางราชการจึงเปลี่ยนนามสกุลของบิดาท่านเป็น “พานิช” เพราะตอนนั้นมีเพียงครอบครัวของท่านเท่านั้นที่ทำการค้าขาย งานอดิเรกที่รักยิ่งของบิดาท่านคืองานด้านช่างไม้ โดยในเวลาว่างบิดาของท่านพุทธทาสภิกขุจะทำการต่อเรือไม้เป็นอาชีพเสริม ซึ่งทำให้ท่านพุทธทาสสนใจ และชอบในงานด้านนี้ไปด้วย ซึ่งเมื่อท่านได้มาประจำที่สวนโมกขพลาราม การก่อสร้างประเภทงานไม้ส่วนใหญ่เกิดจากการสร้างสรรค์ของท่านและพระสงฆ์ และนอกเหนือจากนี้บิดาของท่านยังมีความสามารถในทางบทกวี ซึ่งความสามารถด้านนี้ส่งผลและมีอิทธิพลต่อตัวท่านพุทธทาสเป็นอย่างมาก โดยที่ผลงานธรรมะของท่านส่วนหนึ่งได้ประพันธ์ไว้ในรูปร้อยกรอง ซึ่งมีความไพเราะซาบซึ้ง ซึ่งสามารถดึงดูดใจให้ผู้อ่านได้เข้าถึงอรรถรส และเนื้อหาของธรรมะได้ง่ายยิ่งขึ้น ส่วนมารดาของท่านชื่อเคลื่อน พานิช เกิดที่อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตาของท่านชื่อเล่ง มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนสิทธิสาร ปกครองหัวเมืองกระแดะ หรืออำเภอกาญจนดิษฐ์ในปัจจุบัน ครอบครัวของตายายมีความมั่นคงในพระพุทธศาสนา และมีการปฏิบัติสมาธิภาวนากันภายในบ้านเรือน ซึ่งมีอิทธิพลต่อท่านในวัยเด็กเป็นอย่างมาก และทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุมีความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ด้วยเหตุปัจจัยที่ครอบครัวฝ่ายมารดาท่านมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้ส่งผลมายังท่าน โดยได้หล่อหลอมกล่อมเกลาให้เด็กชายเงื่อม พานิช กลายเป็นท่านพุทธทาสภิกขุในเวลาต่อมา เมื่ออายุได้ ๘ ขวบ บิดามารดาได้พาท่านไปฝากตัวเป็นศิษย์วัดใหม่หรือวัดพุมเรียง ซึ่งเป็นวัดที่บรรพบุรุษในสกุลพานิชเคยบวชสืบต่อกันมาเป็นเวลา ๓ ปี ธรรมเนียมโบราณก่อนที่จะมีโรงเรียนสามัญนั้นพ่อแม่มักจะให้ลูกชายได้ไปอยู่ที่วัด เพื่อจะได้รับการศึกษาขั้นต้นตามแบบโบราณ รวมทั้งจะได้มีการคุ้นเคยกับพระพุทธศาสนา รวมทั้งจะฝึกหัดการอาชีพต่าง ๆ ท่านพุทธทาสภิกขุเองได้เล่าถึงชีวิตช่วงที่ตนเองครั้งที่อยู่วัดไว้ว่า

       “ผมออกจากบ้านไปอยู่วัดเมื่ออายุ ๘๑๐ เรียนหนังสือ ก ข ก กา กระทั่ง มูลบทบรรพกิจกันที่วัด อายุ ๑๑ ปี ได้เวลาไปโรงเรียนแล้วถึงกลับมาอยู่บ้าน สมัยก่อนมันเป็นธรรมเนียมเด็กชายต้องอยู่วัดกันทั้งนั้น แต่ละวัดมีเด็กเป็นฝูง จะไปอยู่วัดก็มีดอกไม้ธูปเทียนไปฝากตัวเป็นศิษย์พระ ทางวัดเขาก็จะมอบหน้าที่ให้อาจารย์องค์หนึ่งหรือสององค์ให้คอยดูแลเรื่องอาหารการกิน คอยควบคุมให้เด็กมันได้กินกันเป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วให้มันได้เรียนหนังสือ ได้รับการอบรมอะไรบ้าง ในเรื่องไหว้พระสวดมนต์ เรื่องอุปัฏฐากพระเป็นเวรผลัดกันตักน้ำ ขาดไม่ได้ ทำสวนครัวริมสระ ยกร่องปลูกมัน ทำกันทั้งนั้น อาหารนั้นข้าวก็ได้จากบิณฑบาต ส่วนแกงนี่ทางบ้านเขาจะส่งเป็นหม้อเขียว ๆ ของบ้านใครเด็กคนนั้นก็ไปเอามา หม้อแกงจึงมีมาก ข้าวก็พอฉัน แกงก็พอ บ้านพุมเรียง ข้าวปลามันอุดมสมบูรณ์ “.

เมื่ออายุได้ ๑๑ ขวบ ท่านพุทธทาสภิกขุได้กลับมาอยู่ที่บ้าน และเข้าเรียนที่วัดโพธาราม หรือวัดเหนือ ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนที่สอนแบบแผนใหม่ ใช้หลักสูตรที่ปรับปรุงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในสมัยนั้นจะมีการเกณฑ์พระภิกษุจากทั่วประเทศไปอบรมวิชาครูที่วัดบวรนิเวศ กรุงเทพฯ ก่อนที่จะกลับมาสอนยังท้องถิ่นเดิมของตน ซึ่งที่โรงเรียนวัดโพธารามก็มีครูที่ไปอบรมในครั้งนั้นด้วย เช่น ครูวัลย์ ครูทับ สุวรรณ ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุได้มีโอกาสเล่าเรียนกับครูเหล่านั้นด้วย ท่านพุทธทาสภิกขุเรียนชั้นประถมที่วัดโพธาราม จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ก็ย้ายมาเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๒ ที่โรงเรียนสารภีอุทิศ ซึ่งตั้งอยู่ในตัวตลาดไชยา ทำให้ท่านต้องจากบ้านที่พุมเรียงมาพักอยู่กับบิดา ซึ่งได้เปิดร้านค้าอีกแห่งเพื่อขายข้าวเปลือกที่ตลาดไชยา ในบางครั้งท่านต้องรับหน้าที่ลำเลียงสินค้าจากบ้านที่ไชยา ไปบ้านที่พุมเรียง ซึ่งเรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าไว้ว่า

       “ขาย ๒ ร้าน ต้องมีเกวียนผมต้องขับเกวียนบ้าง ต้องเลี้ยงวัวบ้าง แต่เขาก็มีผู้ใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่เลี้ยงวัวขับเกวียนนะ แต่บางทีผมแทรกแซง นี่สนุกไปเลี้ยงวัวแถบทางรถไฟนี่สนุก รื้อก้อนหินทางรถไฟ หาจิ้งหรีดอยู่ใต้นั้น มันชุม ให้วัวกินหญ้าไปพลางอยู่ที่ทางรถไฟตรงที่เอียง ๆ ลงมา ความจริงเขาห้าม ผิดระเบียบ เราก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ เพราะหญ้ามันมี วัวมันชอบกินหญ้าแถวนั้น บางทีมันก็ขึ้นไปกินข้างบน ๆ ต้องไล่ลง เจ้าหน้าที่เขาจะดุ ถ้าเลี่ยงลงมาช้า ๆ เขาไม่ดุ ถ้าผู้ใหญ่ที่เป็นคนเลี้ยงโดยตรงไม่ไป เราก็ดูให้จนเย็น หมดเวลาเขาจึงมารับเอากลับไป

เมื่อท่านพุทธทาสภิกขุเรียนหนังสืออยู่ชั้น ม. ๓ ในปี พ.ศ.  ๒๔๖๕ บิดาของท่านก็เสียชีวิตไปด้วยโรคลมปัจจุบัน ทำให้ท่านต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยมารดาทำการค้าขาย และส่งน้องชายซึ่งในขณะนั้นบวชเป็นสามเณรให้มีโอกาสได้เรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี  การช่วยทางบ้านเป็นงานที่หนักมาก แต่ท่านก็ไม่ท้อถอยและหาวิธีพักผ่อนหย่อนใจด้วยการออกหาอาหารทะเล การเลี้ยงปลากัดและการฝึกเล่นดนตรี แม้มารดาของท่านจะถือว่าดนตรีเป็นของไม่ดีก็ตาม ในส่วนของการเลี้ยงปลากัดนั้น ท่านทำได้ดีถึงขนาดนักเลงปลากัดได้มาแอบขโมยเอาปลากัดของท่านไปท่านพุทธทาสภิกขุพูดถึงเรื่องเหล่านี้เอาไว้ว่า

       “ผมไม่เพียงแต่ขายของเป็นกรรมกรด้วย แบกของไปส่งตามบ้านเขา อย่างบ้านข้าราชการนี่เขาซื้อน้ำมันก๊าดปี๊บหนึ่งนี่ เราก็ต้องแบกไปส่งให้ ไม่มีลูกจ้าง ไม่มีรถรา มันก็ยุ่ง ทำงานหนักด้วย กระทั่งต้องผ่าฟืนทั้งหมดที่ใช้ในบ้าน อย่างโยมเขาซื้อไม้โกงกางมาทั้งลำเรือ เราต้องเลื่อยให้มันเป็นท่อน แล้วผ่าจนหมด จนเก็บไว้ใต้ถุนบ้านเสร็จ ผ่าไม้โกงกางนี่ก็สนุก มันกรอบ เอาขวานแตะมันกระเด็นออกไป หรือบางทีเอาขวานวางหงาย เอาไม้ซัดลงไปมันก็แตก มันก็สนุก บางเวลาขอยืมอวนที่โรงโป๊ะนั่นเอง เพื่อลากปลาตรงโรงโป๊ะ ลากขึ้นมาบนหาดทรายครั้งเดียวกินไม่ไหว มีครบ ปูม้าก็มี ปลาหมึกก็มี ปลาอะไรก็มี มีหลายอย่าง ปลาหมึกแบบกระดองแข็ง ที่เขาเอามาทำยาสีฟันผงหมึกก็มี ชนิดกระดองแข็งนะ เอามาต้มทั้งเป็น ๆ มันกรอบไม่น่าเชื่อเลย กรอบเกือบเท่าลูกสาลี่กรอบ กรอบกร้วมเลย กินโดยไม่ต้องมีน้ำจิ้มก็อร่อย กินปลาหมึกกับกาแฟก็ยังได้ ผมมีวิธีชนิดที่ทำให้ปลากัดเก่งไม่มีใครสู้ได้ ตัวไหนเลือกดูให้ดี ดูมันแข็งแรงอ้วนท้วนดี เอาใส่ลงในบ่อกลม ๆ แล้วเอาตัวเมียใส่ขวดแก้วผูกเชือกแล้วหย่อนลงไป พอไอ้ตัวผู้เห็น มันวิ่งเลย วิ่งรอบบ่อ มันยิ่งกว่าออกกำลัง ทำไป ๓-๔ วันเท่านั้นตัวก็ล่ำ ตาเขียว ครีบหนา กัดมือเอาเลยถ้าไปจับ อย่างนี้ถ้าเอาไปกัดชนะแน่ มีนักเลงปลากัดมาลักเอาของเราไป ผมมาเห็นเอ๊ะ ปลาตัวนี้หายไปตัวอื่นมาแทน ผมถามว่าใครมาที่นี่ โยมบอกชื่อว่าคนนั้น ๆ ซึ่งเป็นนักกัดปลาอาชีพ เขามาขโมยเปลี่ยนของเราไป เอาไปกัดแล้วชนะจริง ๆ อีกอย่างที่ผมชอบเป็นชีวิตจิตใจ แต่ไม่มีโอกาสฝึกก็คือดนตรี มันชอบเอง นายธรรมทาสเขาไม่ชอบเลย รู้สึกจะเกลียดเสียด้วยซ้ำ แต่ผมนี้ชอบดนตรี ชอบเพลง อย่างเรียกว่าสุดเหวี่ยงเลย แต่โยมห้ามไม่ให้เอาเครื่องดนตรีขึ้นไปบนเรือน ผมจึงไม่ค่อยได้หัดมีบ้านที่เขาหัด เราก็ลองไปดูไปหัด ผมชอบง่าย ๆ ชอบขลุ่ย ชอบออแกนที่โยกด้วยมือ มันง่าย มันเป็นนิ้วเป็นโน้ต ถ้าเราร้องเพลงอะไรได้ เราก็ทำเสียงอย่างนั้นได้ แต่ฝึกไม่ได้เพราะมันอยู่ที่โยม ต้องเอาไปคืนเจ้าของ

การได้อยู่วัดของท่านทำให้ท่านมีความรู้เรื่องยาโบราณและสมุนไพรอย่างมาก นอกจากนี้ท่านยังได้หัดชกมวย เนื่องจากเมืองไชยาเป็นแหล่งมวยที่มีชื่อเสียงในด้านชกที่สง่าสวยงามคือมวยไชยา ท่านพุทธทาสภิกขุมีน้องร่วมท้องอีก ๒ คน มีอายุห่างจากท่านพุทธทาสภิกขุ ๓ ปี และ ๖ ปี ตามลำดับ น้องคนโตเป็นชายชื่อยี่เกย พานิช ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นธรรมทาส พานิช และได้เป็นกำลังหลักของคณะธรรมทานในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ส่วนน้องสาวคนสุดท้องของท่านชื่อกิมซ้อย พานิช ซึ่งภายหลังแต่งงานไปอยู่ที่บ้านดอน จังหวัดสุราษฏร์ธานี และใช้นามสกุลสามีว่า “เหมะกุล” เมื่อท่านอายุครบ ๒๐ ปี ก็ได้เข้าสู่ผ้ากาสาวพัสตร์ (บวช) เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙ ที่วัดอุบลหรือวัดนอก ก่อนจะย้ายมาประจำอยู่ที่วัดพุมเรียง โดยมีพระอุปัชฌาย์คือพระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมาโล) รองเจ้าคณะเมืองในสมัยนั้น และมีพระปลัดทุ่ม อินทโชโต เจ้าอาวาสวัดอุบล และพระครูศักดิ์ ธมฺรกฺขิตฺโต เจ้าอาวาสวัดวินัย หรือวัดหัวคู เป็นพระคู่สวด ท่านพุทธทาสได้รับฉายาว่า อินฺทปญฺโญ ซึ่งแปลว่าผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ การบวชของท่านพุทธทาสเป็นไปตามธรรมเนียมประเพณี และท่านเองไม่คิดที่จะบวชแบบไม่สึก ดังที่ท่านปัญญานันทภิกขุ อ้างถึงคำพูดของท่านพุทธทาสภิกขุก่อนที่จะบวชไว้ว่า…“เรื่องบัญชี บัญน้ำ เก็บไว้ก่อน เมื่อสึกออกมาแล้วค่อยมาทำต่ออีก”……  ท่านพุทธทาสเล่าถึงมูลเหตุการบวชของตนเองไว้ดังนี้

       “เท่าที่นึกได้ เท่าที่จำได้นี่ เขาปรึกษากันบ่อยๆ ในหมู่ผู้ใหญ่ อย่างว่าเวลาอามาพบ ก็จะปรึกษากันเรื่องอยากให้บวช ป้า น้า ญาติพี่น้องก็ปรึกษากันอยากให้บวช แต่จำไม่ได้ว่ามีประโยคที่โยมพูดว่าบวชเถอะ ๆ เราตามใจเขา เราแล้วแต่เขา ความรู้สึกรักษาประเพณีมันทำให้เกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา มันรู้สึกคล้าย ๆ กับว่าไม่ครบหรือไม่สมบูรณ์ถ้าไม่เคยบวช มันจึงยินดีที่จะบวช คำสั่งให้บวชหรือคำชี้แจงแนะนำอย่างโดยตรงก็ไม่เคยได้รับ แต่มันรวมพร้อมกัน จากการได้ยินบ่อย ๆ ได้รับความรู้สึกบ่อย ๆ แปลกเหมือนกัน ถ้าจะเอากันจริง ๆ ว่าใครเป็นคนสั่ง ใครเป็นคนรับ ใครเป็นคนแนะนำมันไม่มี มันนึกไม่ออก ที่ถูกมันเป็นความเห็นพ้องกันหมดว่าต้องบวช ควรบวช แต่นี่มันรู้แน่ ๆ ก็คือความประสงค์อย่างยิ่งของโยม แต่คำสั่งนั้นไม่เคยได้รับ คำขอร้องก็ไม่เคยได้รับ ส่วนความคิดของตัวเองนั้นผมคงเห็นว่าบวชก็ได้ ไม่บวชก็ได้ ตามพันธสัญญาก็จะบวชให้โยม ๑ พรรษา คือ ๓ เดือน คนหนุ่มสมัยนั้นเมื่ออายุครบบวชก็บวชกันเป็นส่วนมาก” 

       “ผมออกหนังสือพิมพ์เถื่อนเป็นกระดาษฟุลสแก๊ป ๒ คู่ มันเป็นเรื่องสนุกเท่านั้น เราเขียนก่อนสวดมนต์ตอนค่ำ พอพระสวดมนต์เสร็จ เราก็เอามาให้อ่านกัน เขาอ่านแล้วหัวเราะ วิพากษ์วิจารณ์กันเรามีความอวดดีที่จะทำให้คนอื่นเขาหัวเราะได้ รู้สึกว่ามันทำให้เพื่อนสบายใจ จิตมันเป็นบุญเป็นกุศล ไม่ได้คำนึงถึงสาระอะไรในตอนแรก

สมณศักดิ์ทางคณะสงฆ์

สำหรับสมณศักดิ์ทางคณะสงฆ์ที่ท่านได้รับตามลำดับดังน

– พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นพระมหาเงื่อม อินทปัญโ

– พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นพระครูอินทปัญญาจารย์

– พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระอริยนันทมุนี

– พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชชัยกวี

– พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพวิสุทธิเมธี

– พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมโกศาจารย์

แม้ท่านจะมีสมณศักดิ์ทางคณะสงฆ์ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ท่านจะใช้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นหรือติดต่อกับทางราชการเท่านั้น ถ้าเป็นเรื่องอื่น ๆ แล้วท่านจะใช้ชื่อพุทธทาส อินฺทปัญโญ เสมอซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อม ถ่อมตัว และไม่ยึดมั่นถือมั่นในลาภยศสักการะ ประการสำคัญชื่อพุทธทาสนี้ เป็นที่มาแห่งอุดมคติ ของท่านนั่นเอง

เกียรติคุณทางโลก

พ.ศ. ๒๕๒๒ พุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๒๘ อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและศาสนา จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
พ.ศ. ๒๕๒๘ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ จาก  มหาวิทยาลัยรามคำแหง
พ.ศ. ๒๕๒๙ ศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
พ.ศ.๒๕๓๐ อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญา จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๓๒ การศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
พ.ศ. ๒๕๓๖ ศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เกียรติคุณด้านอื่น ๆ

ในระดับนานาชาติปัจจุบันทุกมหาวิทยาลัย ที่มีแผนกสอนวิชาศาสนาสากล ทั้งในยุโรป และอเมริกาเหนือ ล้วนศึกษางานของท่าน หนังสือของท่านกว่า ๑๔๐ เล่มได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ และกว่า ๑๕ เล่มแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส อีก ๘ เล่ม แปลเป็นภาษาเยอรมัน นอกจากนั้นยังแปลเป็นภาษาจีนอินโดนีเซีย ลาว และตากาล็อค ยูเนสโกยกย่องท่านพุทธทาส ๑ ใน ๖๓ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในการประชุมสมัยสามัญองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ พิจารณาการยกย่องเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญหรือผู้มีผลงานดีเด่นและเหตุการณ์สำคัญ ทางประวัติศาสตร์ ประจำปี ๒๕๔๙-๒๕๕๐ รวม ๖๓ คน/สถาบัน ในนั้นมีท่านพุทธทาสภิกขุด้วย ถือได้ว่าท่านเป็นคนไทยคนที่ ๑๘ ที่องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก