วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

หลวงปู่บุดดา ถาวโร

หลวงปู่บุดดา ถาวโร
๕ มกราคม ๒๔๓๗ – ๑๒ มกราคม ๒๕๓๗
วัดกลางชูศรีเจริญสุข ตำบลพักทัน อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี
——————–

ชาติกำเนิด – ภูมิลำเนา
เกิดเมื่อวันเสาร์ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗ ที่ตำบลพุคา อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ท่านเคยชี้ตำบลเกิดของท่าน ขณะขึ้นรถไฟผ่าน อยู่เหนือสถานีโคกกระเทียมเล็กน้อย เป็นหมู่บ้านเล็ก ห่างจากทางรถไฟไปทางทิศตะวันตกราว ๒ กม. ท่านบอกว่า หมู่บ้านหนองเต่า คงเป็นชื่อหมู่บ้านเดิม บิดาของท่านชื่อ น้อย มงคลทอง มารดาของท่านชื่อ อึ่ง มงคลทอง มีพี่น้องทั้งหมด ๗ คน ยังเหลือน้องชายคนเล็กชื่อ เหลือ มงคลทอง นอกนั้นถึง แก่กรรมไปหมดแล้ว

อุปสมบท
วันเสาร์ที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๖๕ ที่วัดเนินยาว ต.โพนทอง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี มีพระครูธรรมขันธสุนทร (ม.ร.ว. เอี่ยม บ้านเดิมท่านอยู่ กทม.) เป็นอุปัชฌาย์ และมีคณะสงฆ์ ๒๕ รูป เป็นพระอันดับ ซึ่งหลวงปู่บุดดา ถาวโร นับถือว่าเป็นอาจารย์ท่าน

ประวัติทั่ว ๆ ไป
ชีวิตตอนเยาว์ ชีวิตตอนต้นของหลวงปู่ ก็เหมือนกับชีวิตเด็กลูกชาวนาบ้านนอกทั่วไป ในสมัยนั้น ที่ไม่มีโรงเรียนใกล้เคียง จึงไม่มีโอกาสได้เล่าเรียนหนังสือ มีแต่ทุนเดิมที่ได้ฝึกฝนอบรมมาดีในอดีตชาติ จึงเป็นผู้ระลึกชาติได้แต่เด็ก ท่าได้ไปพบเห็น สิ่งที่ปรากฏตามภาพนิมิต ของอดีตได้ถูกต้อง และได้มีบุคคลที่เกี่ยวข้อง จนท่านต้องขุดกระดูกของท่าน ที่ถูกฝังไว้ในอดีต

การเห็นภาพในอดีตนั้น ท่านเห็นได้หลายภพ ในกรณีหลวงปู่บุดดา อดีตชาติท่านเกิดเป็นชาย ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตัวหนังสือที่ใช้ เป็นตัวหนังสือแบบเดียว กับสมัยพ่อขุนรามคำแหง มิใช่ตัวหนังสือเดียวกับเมื่อหลวงปู่เป็นเด็ก ท่านจึงอ่านหนังสือไม่ออก แต่พอเป็นทหาร ท่านได้เรียนหนังสือ ท่านก็สามารถเรียนได้เป็นอย่างดี ทั้งที่หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ ในการรับราชการเป็นทหารเกณฑ์นั้นหนักมาก ทั้งนี้น่าจะเนื่องมากจากสาเหตุสองประการ ที่ทำให้สามารถรู้หนังสือได้ดี เพราะท่านรู้หลักของหนังสือเดิมดีอยู่แล้ว พอเทียบตัวถูกท่านก็อ่านได้ และสมาธิจิตของท่าน เข้าอันดับญาณ จึงสามารถทำอะไรได้ง่าย

อดีตสัญญา
ถ้าสอบถามถึงอดีตชาติแล้ว ท่านมักปรารภเสมอว่า มันเป็นเรื่องที่ทำให้ท่านรู้สึกเบื่อหน่าย เช่น เล่าว่านับถอยหลังปัจจุบันไป ๗ ชาติ ท่านได้เกิดเป็นบุรุษทุกชาติ และเสียชีวิต ตั้งแต่อายุไม่มาก รวมทั้งไม่มีครอบครัวเลย ตลอด ๗ ชาติที่ผ่านมา ส่วนมากท่านเกิดฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง มากกว่าฝั่งขวา มีชาตินี้เท่านั้น ที่ท่านมีอายุยืน พี่ชายของท่าน ในอดีตชาติ ทั้งรักและตามใจทุกอย่าง ตั้งแต่เด็กจะไปไหน ก็พาท่านไปด้วย ได้สัญญากับท่านไว้ว่า จะไม่ทิ้งเป็นอันขาด ท่านจึงเกิดเป็นบุตรในชาติปัจจุบัน

ฉะนั้น เมื่อบิดาของท่านตีท่าน ในสมัยเด็ก ท่านเล่าว่า ท่านวิ่งออกไปนอกบ้าน แล้วตะโกนว่า “พ่อโกหก ๆ ๆๆ” ไม่ยอมหยุด จนมารดาของหลวงปู่เห็นผิดสังเกต จึงไปปลอบถามว่า “พ่อโกหกเรื่องอะไร” ท่านจึงได้เล่าเรื่องอดีตสัญญา ให้มารดาของท่านฟังว่า “พ่อไม่รักษาคำพูด” ผู้ใดสามารถเฉลยอดีตสัญญาแบบนี้ ให้เป็นธรรม และยอมรับกันได้ทั่วไปบ้าง ?

เรื่องอายหมา
หลวงปู่เล่าว่า ตั้งแต่เด็กท่านมักจะบอกกับมารดาของท่านเสมอว่า โตขึ้นท่านจะไม่มีครอบครัว เพราะท่านละอายใจ ดังเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้

อดีตชาติหนึ่งในหนหลัง เมื่อท่านเป็นหนุ่ม เกิดพอใจหญิงสาว ชาวบ้านใกล้เคียงกันผู้หนึ่ง จึงไปอู้สาวผู้นั้น แทนที่ฝ่ายหญิงจะพูดดี กับลำเลิกอดีตชาติว่า “หลวงปู่ที่เป็นชายหนุ่มในชาตินั้น เป็นผู้ทำให้เขาถูกทุบตี และถูกจับผูกทรมาน อดอาหารจนท้องกิ่วตาย พอมาชาตินี้มารักเขาทำไม” หลวงปู่ในชาตินั้น ก็มองเห็นอดีตตนเองได้ว่า ตอนนั้น ท่านเป็นสมภารเจ้าวัดอยู่ประเทศลาว ขณะนอนป่วยอยู่ มีหมาตัวเมียขึ้นมาลักลอบอาหารที่เด็กเก็บไว้ ท่านจึงร้องบอกเด็ก พวกเด็กจึงไล่ตีหมา และพวกเด็กไม่เพียงแต่ไล่ตี คงได้ไล่จับหมาตัวนั้น ไปผูกกับรั้ว และกว่าจะถูกจับได้ คงต้องไกลกว่าที่สมภารนอนเจ็บ ประการหนึ่ง และทุกคน ก็คงสนใจแต่ความป่วย และการตายของสมภาร ในเวลาต่อมาจึงลืมนึกถึงการจับหมาตัวนั้นไปผูกไว้ จนต้องอดถึงตายไป

เมื่อชายหนุ่มระลึกอดีตชาติได้ ก็เกิดความสลดและละอายใจว่า “นี่เรากำลังจะเอาหมามาเป็นเมียแล้วหรือ ? ” และเป็นการประทับฝังอยู่ในจิตใจต่อมาทุกชาติ การป่วย และการตายในคราวนั้น หมาตายภายหลัง จึงจองเวร และติดตามถูก

ส่วนการที่เด็กไปตีหมา ที่ถูกจับไว้จนหมาตาย ต้องมิใช่คำสั่งของสมภาร หมาจึงจองเวรได้เพียงหมาถูกตี เพราะเสียงร้องบอกของสมภารเป็นเหตุ หมาจึงทำให้สมภารในอดีตชาติ เดือดร้อนเพราะลำเลิกของหญิงนั้นตามอดีต เหตุที่สมภารได้ทำไว้เท่านั้น เรื่องความผูกพัน หรือการจองเวรในอดีตชาติทำนองนี้ หลวงปู่ปรารภเสมอว่า เมื่อนึกถึงเรื่องราวในอดีตแล้ว ท่านมีความรู้สึกเบื่อหน่าย ในการเวียนว่ายตายเกิดมาตั้งแต่เด็ก

รับราชการทหาร ๒๔๕๘ ท.บ.๓ ล.๑๐
หลวงปู่รับราชการทหาร ๒ ปี โดยมีหลักฐานการเป็นทหาร ปรากฏบนท้องแขนขวาดังนี้ ๒๔๕๘ ท.บ.๓ ล.๑๐ การเกณฑ์ทหารสมัยนั้น เมื่อผู้มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ถึงแม้ถูกเกณฑ์แล้วจับ ใบดำได้ ไม่ต้องรับราชการทหารในปีนั้นแล้ว ก็ต้องถูกเกณฑ์ไปทุกปีจนกว่าจะอายุ ๓๐ ปี หลวงปู่เป็นทหารในกองทัพ ๓ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดลพบุรี

ในสมัยนั้น เรื่องการเป็นทหารเกณฑ์ของหลวงปู่นั้น ท่านถูกเกณฑ์ทุกปี และในปีที่มีการคัดเลือกทหารอาสา ไปราชการสงคราม ณ ทวีปยุโรปในสงครามครั้งที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ หลวงปู่ก็เคยเล่าว่า ท่านได้อาสาสมัครกับเขาเหมือนกัน แต่ท่านกินเหล้าไม่เป็น เขาจึงไม่รับท่าน เนื่องจากผู้บังคับบัญชาบอกท่านว่า ในทวีปยุโรปอากาศหนาวจัด ต้องดื่มเหล้า เพื่อช่วยให้คลายหนาว ท่านจึงไม่ได้ไปราชการสงคราม ณ ทวีปยุโรป

พรรษาแรก ความมุ่งมั่นอดทนของพระใหม่
เมื่อหลวงปู่อุปสมบทแล้ว ท่านจำพรรษาอยู่ ณ วัดเนินขาว จังหวัดลพบุรี ปฏิบัติอุปัชฌาย์ตามแบบแผนของภิกษุสมัยนั้น ไม่มีการศึกษาเล่าเรียน ทั้งทางปริยัติหรือปฏิบัติ คงทำวัตรท่องหนังสือสวดมนต์ และปาฏิโมกข์ แต่ท่านอ้างเสมอว่า อุปัชฌาย์ทุกองค์ท่านสอน ปัญจกรรมฐานให้แล้ว ในวันอุปสมบท (นั่นก็คือ อุปัชฌาย์ท่านสอนให้ว่า เกศา – ผม โลมา – ขน นักขา – เล็บ ทันตา – ฟัน และ ตโจ – หนัง และทวนกลับ) ว่าให้พิจารณาสิ่งเหล่านี้ ในร่างกายของตน และคนอื่น ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นบ่อเกิดของทุกข์ ทั้งกายและจิตใจ เป็นของหาที่ยึดถือเป็นตัวตนไม่ได้มานานแล้วทุกคน

และในพรรษาที่หลวงปู่บวชนั้น ได้มีการสร้างศาลามุงสังกะสีขึ้น ซึ่งในการมุงหลังคาคราวนั้น มีเรื่องเล่าความมหัศจรรย์ทางอำนาจจิตของหลวงปู่ ตั้งแต่สมัยบวชเดือนแรกทีเดียว เพราะในการมุงหลังคา และตามปกติในฤดูร้อน แดดก็ร้อนจัดในตอนบ่ายอยู่แล้ว และเมื่อเครื่องมุงเป็นสังกะสีด้วย ก็ยิ่งทวีความร้อนมากยิ่งขึ้น พอตกตอนบ่าย ทั้งพระและชาวบ้านต่างทนความร้อนไม่ไหว ต้องลงมาพักกันหมด คงเหลือแต่หลวงปู่ ซึ่งเป็นพระบวชใหม่ยังไม่ครบเดือน มุงหลังคาอยู่ข้างบนองค์เดียวจนสำเร็จ

เมื่อรับกฐินแล้วแต่พรรษาแรก หลวงปู่ท่านออกจาริก แสวงหาสถานที่วิเวกเจริญสมรธรรมตามอัธยาศัยองค์เดียว โดยไม่มีกลดมีมุ้ง แบบอุทิศชีวิต และเลือดเนื้อ เป็นทานอยู่นาน จนเลือดแดงฉานติดจีวร และบินไปไม่ไหว

พรรษาที่ ๒ ธุดงค์เดี่ยว
เมื่อกลับจากธุดงค์พอใกล้เข้าพรรษา ท่านเข้ามาจำพรรษาที่วัดผดุงธรรม จังหวัดลพบุรี พอออกพรรษาท่านก็ธุดงค์ไปองค์เดียวอีก

เหตุอัศจรรย์ผจญวัวป่า
หลวงปู่ท่านเดินธุดงค์ไปหนองคาย โดยออกจากจังหวัดลพบุรี ไปทางจังหวัดเพชรบูรณ์ ผจญเข้ากับวัวป่าฝูงหนึ่ง มันคงแปลกใจว่า เอ๊ะ ? อะไรนะ เป็นอันตรายกับพวกเขาหรือเปล่า หัวหน้าฝูงนั้น เข้ามาดม ๆ ดู แล้วก็ร้องมอ ๆ คล้ายกับจะบอกพรรคพวกว่า ไม่เป็นไรหรอก ไม่มีอันตราย เข้ามาได้แล้ว ตัวอื่นก็เข้ามาดม จนครบทุกตัวแล้วก็เลยไป คุณธรรมของท่านนั้น แม้แต่เดรัจฉานก็ส่งภาษาใจให้ผู้รู้เรื่องกันได้ หลวงปู่พูดเสมอว่า ภาษาธรรมนั้น ก็คือภาษาใจ อยู่ที่ไหนก็รู้กันได้ มนุษยธรรม เทวธรรม พรหมธรรม โลกุตรธรรม

พบซากศพตนเองในอดีต
คราวนี้ ท่านได้สอบดูนิมิตสมัยเด็ก ๆ ของท่าน ว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่นอกนครเวียงจันทร์ไม่ไกลนัก ซึ่งเมื่อถึงแก่กรรมแล้ว เขาก็นำเอาศพ ในอดีตชาติของท่านไปฝังไว้ และไม่ได้เผา ในนิมิตนั้น ท่านเห็นกะโหลกศีรษะขาวโพลน โผล่ดินขึ้นมาตรงตอพุดซา ท่านจึงไปสอบดูตามนิมิต และได้พบกะโหลกศีรษะมนุษย์ ในภูมิประเทศคล้ายคลึงกัน แต่กะโหลกที่พบจริง ไม่ขาวเท่าในนิมิต และตอพุดซาไม่มีแล้ว ท่านจึงได้เผากระดูกนั้นด้วยตนเอง

พรรษาที่ 3 จาระพระไตรปิฎก
ขณะที่ไปสอบดูตามนิมิต ก็ใกล้เข้าพรรษาแล้ว ท่านได้จำพรรษา ณ วัดบ้านทุ่ง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และในขณะที่ข้ามไปเวียงจันทร์ ได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ และวัดพระแก้ว ที่เวียงจันทร์ ท่านระลึกถึงอดีตชาติ เมื่อเห็นตู้พระไตรปิฎก และจารด้วยตนเอง แต่สมัยเป็นสามเณรต่อมาเป็นภิกษุ และเป็นสมภารเจ้าวัดในที่สุด ได้จารพระไตรปิฎก บรรจุไว้จนเต็ม 3 ตู้ ท่านว่า ได้เป็นสมภารเจ้าวัดในฝั่งลาว 3 สมัย ตายตั้งแต่ยังไม่พ้นวัยกลางคน ที่ท่านไปพบตู้ที่สร้างไว้นั้น ไม่มีพระไตรปิฎกแล้ว

ขณะที่ท่านพักอยู่ ณ วัดบ้านทุ่ง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย คราวหนึ่ง ท่านต้องไปกิจนิมนต์ร่วมกับภิกษุหลายรูปด้วยกัน ไปทางเรือตามลำน้ำโขง ปรากฏว่าเรือเกิดจมลง พระรูปอื่นต่างว่ายน้ำหนีจากเรือหมด เหลือแต่ท่านองค์เดียวในเรือ และน้ำท่วมเกือบถึงคอแล้ว พอดีชาวบ้านเอาเรือไปรับนิมนต์ ท่านขึ้นเรือแล้วเรือก็จมหายไป

พบบิดาในอดีตชาติ
พอออกพรรษารับกฐินเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ออกเดินทาง และในระหว่างทางนั้น ท่านได้พบกับหลวงพ่อสงฆ์ พรหมสโร ซึ่งออกจาริกไปตามป่าเขา ทำนองเดียวกับท่าน หลวงพ่อสงฆ์ผ่านพรรษา ๔ แก่กว่าหลวงปู่บุดดาหนึ่งพรรษา แต่อายุหลวงพ่อสงฆ์ แก่กว่าท่านหลายปี เพราะท่านบวชภายหลังมีครอบครัวแล้ว และเมื่อท่านพบหลวงพ่อสงฆ์ ท่านก็ระลึกได้ว่า เคยเป็นบิดาของท่านในอดีตชาติ ท่านก็เรียกคุณพ่อสงฆ์ ตั้งแต่แรกพบจนถึงที่สุดแห่งวาระของท่านเอง

ถ้ำนี้มีคุณ
ท่านทั้งสองได้ร่วมจาริก แสวงหาที่วิเวกอันเหมาะแก่การเจริญภาวนาเรื่อยมา จนมาพบถ้ำคูคา ตำบลหัวหวาย อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นถ้ำกว้าง มีปล่องทะลุกลางเขาลูกย่อม ๆ อยู่ในดงยาง เป็นชัยภูมิร่มรื่น มีหนองน้ำใหญ่ อยู่ห่างจากหน้าถ้ำไปทิศตะวันออก ของทางรถไฟสายเหนือห่างประมาณ ๑ กิโลเมตร อยู่ระหว่างสถานีดงมะกุ และสถานีหัวหวายห่างจากหมู่บ้านทั้ง 2 ตำบล ข้างละประมาณ ๒ กม. เศษ ปากถ้ำอยู่ทางตีนเขา ภายในถ้ำลมถ่ายเทได้ดี

ท่านได้อาศัยภายในถ้ำนี้ และแยกกันอยู่คนละฟาก ได้อาหารบิณฑบาตจากหมู่บ้านดังกล่าว ถ้ำภายในเขาภูคานี้ เป็นที่สงบและวิเวก ปากถ้ำเรียบเป็นดิน เชิงเขาลาดขึ้นพอบรรจบถึงเขา ก็เป็นปากถ้ำพอดี กว้างราว ๖-๗ เมตร สูง 3 เมตรเศษ เป็นดินราบขึ้นไปจนถึงยอด มีแท่นราบตรงกลางปล่อง ตรงกับยอดเขาพอดี ปล่องถ้ำเหมือนรูปงอบใบใหญ่ สูงกว่าปากถ้ำเล็กน้อย ขอบล่างลาดลงโดยรอบเป็นช่อง และชอกมากบ้าง น้อยบ้าง

สถานที่ท่านใช้พักผ่อนและจำวัด ปรากฏว่าตรงที่ท่านใช้ภาวนานั้น มีปล่องลมหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ส่วนที่จำวัดก็หลบเข้าไปในช่องไม่ถูกลมเลย ก่อนที่ท่านจะมาอยู่ในถ้ำนี้ มีแคร่ร้างแสดงว่ามีบุคคลอื่นมาใช้สถานที่นี้ก่อนแล้ว

สถานที่ท่านใช้เป็นที่เดินจงกรมในตอนบ่าย และพักผ่อนสนทนาธรรมกันตอนเย็นนั้น เป็นบริเวณสันเขาตอนใต้ เป็นทางลาดขึ้นปากถ้ำได้สะดวก ใช้ด้านตะวันออก เป็นที่ลาดเดินจงกรม มีต้นไม้และสันเขาช่วยกำบังแดดในตอนบ่าย

ตะขาบเจ้ากรรม
ตอนอยู่ถ้ำภูคานี้ แม้จะสนทนาก็ต่างองค์ต่างอยู่ในที่ของตน คราวหนึ่งเสียงของหลวงปู่บุดดาเงียบหายไป หลวงพ่อสงฆ์ผิดสังเกต จึงเดินไปดูก็เห็นหลวงปู่บุดดานั่งหลับตา มีตะขาบตัวใหญ่มาก ขึ้นไปขดอยู่กลางศีรษะของท่าน หลวงพ่อสงฆ์ต้องเอาผ้าอาบของท่าน หย่อนลงให้ตะขาบไต่ขึ้นผ้า แล้วจึงเอาไปปล่อยนอกถ้ำ

หลวงปู่บุดดาท่านเล่าว่า มันไต่ขึ้นภายในสบง ผ่านเอวแล้วผ่านหลังท่านขึ้นไป ท่านจึงต้องกลั้นลมหายใจ ปิดหู ปิดตา จมูก ปากหมด เจ้าตะขาบจึงเข้าไม่ได้ เมื่อหลวงพ่อสงฆ์ เอาไปปล่อย ปรากฏว่ามันกัดตัวเองจนขาดเป็นท่อน ๆ กองอยู่ที่ปล่อยนั่นเอง