วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ

หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ
๑๖ กันยายน ๒๔๓๓ – ๑๓ มกราคม ๒๕๒๐
วัดดอนยายหอม ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
——————–

หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ (พระราชธรรมาภรณ์) วัดดอนยายหอม ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม อดีตพระคณาจารย์นักพัฒนา พระเครื่อง และวัตถุมงคลของท่านยอดเยี่ยม ด้านคงกระพันชาตรี เปี่ยมด้วยเมตตามหานิยมยิ่งนัก

ในอดีตนั้น วัด คือจุดศูนย์รวมของชุมชน โดยเฉพาะในชนบทห่างไกลความเจริญ เป็นทั้งแหล่งให้วิชาความรู้เป็นแหล่งอบรมศีลธรรม เป็นแหล่งสถานพยาบาล ในยามเจ็บไข้ได้ป่วย รวมถึงเป็นแหล่งที่พึ่งทางจิตใจ โดยพระสงฆ์ผู้มีความรู้ความสามารถ และเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน เป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวนี้

นอกจากนั้นแล้ว พระสงฆ์ยังมีฐานะเป็นแกนนำสำคัญของชุมชน ในการพัฒนาท้องถิ่น ให้มีความเจริญด้านต่าง ๆ ดังจะเห็นได้จาก อัตชีวประวัติของพระคณาจารย์ดังในอดีต ทุกท่านทุกองค์ ต่างประพฤติปฏิบัติเช่นนี้มาโดยตลอด อันเนื่องจากว่าท่านเหล่านั้น เป็นพระคณาจารย์ที่ได้รับความเคารพเลื่อมใสศรัทธา จากบรรดาลูกศิษย์ลูกหา และพุทธศาสนิกชน เมื่อทำการสิ่งใดจึงสำเร็จได้โดยง่าย ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากชาวบ้านในชุมชนนั้น พระสงฆ์จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อชุมชนในทุก ๆ ด้าน

หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ หรือ สมณศักดิ์ที่ พระราชธรรมาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม จังหวัดนครปฐม ท่านเป็นพระคณาจารย์ที่ได้รับการยกย่อง และเคารพนับถือเลื่อมใสศรัทธา จากชาวบ้านดอนยายหอม รวมถึงพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก จนได้รับสมญานามว่า เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม ท่านเป็นพระสงฆ์ผู้ มีวัตรปฏิบัติงดงาม เป็นเสาหลักที่พึ่งพักพิงผู้เดือดร้อน อบรมบ่มนิสัยให้พุทธศาสนิกชนเป็นคนดีมีศีลธรรม เป็นแกนนำสำคัญในการพัฒนาพระอาราม และชุมชน ให้มีความเจริญ ในทุก ๆ ด้าน ไม่จะเป็นเสนาสนะ ถาวรวัตถุ การศึกษาทั้งทางโลก และทางธรรม รวมถึงสิ่งสาธารณูปโภคต่าง ๆ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น สำเร็จลงได้ด้วยความร่วมมือร่วมไม้ ของชาวบ้าน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำเพื่อบุคคลอันเป็นที่รัก เคารพนับถือ และศรัทธาของตนเอง คือ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม งานทุกอย่างจึงสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ติดขัด

กล่าวได้ว่า ท่านหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม คือ เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม โดยแท้ แม้ท่านจะมรณภาพไปนานแล้วก็ตาม แต่สิ่งต่าง ๆ ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำ ของบรรดาลูกศิษย์ลูกหา โดยเฉพาะชาวดอนยายหอมอย่างไม่มีวันลืม ต่างยังรำลึกถึงท่านอย่างไม่มีวันเลือนหายไปจากความทรงจำ และเป็นเช่นนี้ชั่วกาลนาน

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม เป็นคนบ้านดอนยายหอมโดยกำเนิด เกิดในครอบครัวเกษตรกรรม ที่มีฐานะมั่งคั่งครอบครัวหนึ่ง ของบ้านดอนยายหอม เกิดเมื่อวันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2433 (ร.ศ. 109, จ.ศ. 1252) ตรงกับขึ้น 3 ค่ำ เดือน 10 ปีขาล ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นบุตรของ พ่อพรม-แม่กรอง นามสกุล ด้วงพูลเกิด มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 4 คือ
1. นายอยู่
2. นายแพ
3. นายทอง
4. ท่านหลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ
5. นายแจ้ง
6. นายเนียม
7. นางสายเพ็ญ
8. นางเมือง

ในจำนวนบุตรทั้งหมด 7 คนนี้ ท่านเป็นคนที่ได้รับการโปรดปรานจากบิดา-มารดามากที่สุด เพราะอุปนิสัยของท่าน เป็นคนอ่อนโยนสุภาพเรียบร้อย มีสติปัญญาเฉียบแหลม ทั้งยังได้ยึดถือตัวอย่างจากบิดา ที่ประพฤติดีประพฤติชอบ ขยันขันแข็ง ไม่เป็นนักเลงอันธพาล หรือปล่อยเวลาว่างไปโดยเปล่าประโยชน์

วัยเยาว์ของท่าน ได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่บ้าน มีพ่อพรมเป็นผู้สอน ด้วยเหตุว่าพ่อพรมนั้น เป็นผู้คงแก่เรียนทั้งหนังสือไทย อักขระขอม และวิชาอาคมต่าง ๆ จึงได้ถ่ายทอดให้กับลูกทุกคน ควบคู่ไปกับการสอนศีลธรรม ไหว้พระ สวดมนต์ เป็นประจำ เป็นการปลูกฝังพื้นฐานที่ดีงามแก่ลูก ๆ ทั้งชายหญิง ให้มั่นคงในพระศาสนา ดังนั้น เมื่อบุตรชายคนใด อายุครบอุปสมบท พ่อพรมจะจัดงานให้อย่างยิ่งใหญ่ครึกครื้น มีมโหรี แตรวง กลองยาว แห่แหนกันอย่างสนุกสนาน ลูกชายคนโต ไม่ว่าจะเป็น นายอยู่ นายแพ นายทอง ต่างอุปสมบทบวชเรียน จนได้ลาสิกขาบทออกมาแต่งงาน แยกเรือนออกไปเป็นฝั่งเป็นฝาแล้ว

เมื่อถึงคราวท่านหลวงพ่อเงินอุปสมบท พ่อพรมได้จัดงานให้อย่างเรียบง่าย ด้วยรู้ใจของบุตรชายดีว่า เป็นคนไม่ชอบความครึกครื้นเหมือนคนอื่น ถึงเวลา ก็แห่รอบพระอุโบสถสามรอบ และทำพิธีบรรพชา-อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดดอนยายหอม โดยมีพระปลัดฮวย เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม เป็นพระอุปัชฌาย์ สำเร็จเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา เวลา 18.15 น. ตรงกับวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 ได้รับฉายาว่า จนฺทสุวณฺโณ

ภายหลังการอุปสมบท ได้พำนักจำพรรษา ณ วัดดอนยายหอม ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย รวมถึงบทสวดมนต์ต่าง ๆ ท่านก็สามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจากมีพื้นฐานที่ดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเพียงชั่วพรรษาแรก ก็สามารถสวดพระปาฏิโมกข์จนจบ ได้อย่างแคล่วคล่อง สิ่งที่ท่านทำควบคู่กันโดยตลอด คือ การฟื้นฟู ทบทวนคาถาอาคมต่าง ๆ ที่ได้ร่ำเรียนศึกษามาจากผู้เป็นบิดา อย่างไม่เคยขาด

ในพรรษาต่อมา ได้เริ่มศึกษาฝึกฝนวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตามที่บิดาได้แนะนำ ใช้เวลาและฝึกฝนปฏิบัติอยู่นานถึง 5 ปี จนมีความเชี่ยวชาญชำนาญ พรรษาที่ 6 เริ่มออกเดินธุดงค์ เพื่อแสวงหาความสงบวิเวก เป็นการฝึกจิตสมาธิให้กล้าแข็ง ตามแบบของพระคณาจารย์ยุคเก่า ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา อันเป็นการกำจัดเอาอาสวกิเลส ให้บรรเทาเบาบาง ทั้งยังเป็นการเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาไปในตัว ท่านเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่งทั่วทุกภูมิภาค รวมถึงได้ไปกราบหลวงพ่อพระพุทธชินราช ที่พิษณุโลก ซึ่งต่อมาภายหลังท่านได้นำแบบอย่างมาจำลอง สร้างเป็นวัตถุมงคลชนิดต่าง ๆ ดังปรากฏพบเห็น และเล่นหาสะสมกันอยู่ในปัจจุบัน

ในพรรษาที่ 6 นี่เอง ภายหลังที่ท่านกลับจากการออกเดินธุดงค์ ไม่นานนักก็ได้รับการแต่งตั้งจากท่านเจ้าคุณพุทธรักขิต เจ้าคณะจังหวัด ให้เป็นรองเจ้าอาวาส วัดดอนยายหอม ตรงกับวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2459
วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม เนื่องจาก พระปลัดฮวย อดีตเจ้าอาวาสมรณภาพ
วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2472 เป็นพระปลัด ฐานานุกรมของเจ้าคณะเมืองนครปฐม
วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2473 เป็นพระอุปัชฌาย์
วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูทักษิณานุกิจ
วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2504 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชธรรมาภรณ์

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม พระเถระผู้เข้มขลังในพระเวทย์วิทยาคม ดังจะเห็นได้จากวัตถุมงคลต่าง ๆ ที่ท่านสร้าง และปลุกเสกเอาไว้ มีผู้นำไปใช้อาราธนาติดตัว แล้วเกิดประสบการณ์มาอย่างมากมาย จนนับไม่ถ้วน นอกจากนั้นแล้ว ท่านยังมีเมตตาต่อบรรดาลูกศิษย์อย่างเสมอภาค ไม่แบ่งแยกมั่งมี หรือยากจน ทุกคนเท่าเทียมกัน

นอกจากท่านจะเป็นที่พึ่งทางจิตใจแล้ว ท่านยังเป็นพระนักพัฒนาที่นำความเจริญ มาสู่ท้องถิ่นอย่างมากมาย นับเริ่มต้นจากปี พ.ศ. 2459 ซึ่งเป็นปีที่ท่านรับตำแหน่ง เป็นรองเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม ขณะนั้นวัดกำลังทรุดโทรม เสนาสนะต่าง ๆ หรือ แม้กระทั่งกุฏิ ชำรุด ผุพังเกือบทั้งหมด ท่านได้เริ่มทำการบูรณปฏิสังขรณ์ เป็นการใหญ่ เพื่อให้เสนาสนะกลับฟื้นคืนสภาพดีดังเดิม นอกจากการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว ท่านยังได้ก่อสร้างถาวรวัตถุอีกหลายอย่าง เช่น ปี พ.ศ. 2465 สร้างหอสวดมนต์ ปี พ.ศ. 2470 สร้างศาลาการเปรียญ ปี พ.ศ. 2480 สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ เมื่อแล้วเสร็จจัดงานปิดทองฝังลูกนิมิต ปี พ.ศ. 2492 หล่อพระประธานในพระอุโบสถ ขนาดหน้าตัก 4 ศอก 6 นิ้ว ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 12 ปี พ.ศ. 2470 สร้างสถานีอนามัย ปี พ.ศ. 2497 และสร้างโรงเรียนสหศึกษาบาลี สร้างตึกเรียนพระปริยัติธรรม สร้างโรงเรียนประชาบาล ฯลฯ

กิจวัตรของหลวงพ่อเงิน
กิจวัตรประจำของหลวงพ่อเงินนั้น ท่านตื่นเวลา 5.00 น. ล้างหน้าครองจีวรแล้ว ก็สวดมนต์เจริญภาวนา พอได้เห็นอรุณท่านก็ออกเดิน (สมัยยังหนุ่มท่านไปบิณฑบาตด้วย) ตรวจดูความสะอาด และสิ่งต่าง ๆ ภายในวัด เวลา 7.00 น. ฉันเช้าเสร็จ ก็นั่งพักผ่อนหรือรับแขกที่หน้ากุฏิของท่าน ในระหว่างเวลาที่พักผ่อนนี้ ท่านมักจะนิมนต์พระในวัด มาสอบถามความเป็นไปต่าง ๆ เพื่อหาโอกาสสั่งสอนบ้าง บางทีก็เรียกศิษย์วัดไปนั่งเป็นกลุ่ม ให้หัดท่องหนังสือบ้าง ให้มีผู้อ่านหนังสือให้ท่านฟังบ้าง หากว่างจริง ๆ ท่านก็มักจะนั่งสงบจิตอยู่ผู้เดียว ซึ่งความจริงโอกาสว่างหรือจะพักผ่อนจริง ๆ หาได้น้อยเต็มที ส่วนใหญ่ใช้เวลาไปในการรับแขกเกือบทั้งสิ้น

เวลา 11.00 – 12.00 น. ฉันเพล เมื่อเสร็จแล้ว ก็กลับมานั่งหน้ากุฏิเพื่อรับแขก ซึ่งมักจะมีมากันมากหน้าหลายตาในตอนนี้ เพราะเป็นแขกที่มาจากต่างท้องที่ หรือจังหวัดไกล ๆ ต้องเสียเวลาเดินทางมา ตอนเย็นราว 19.00 น. หลังจากสรงน้ำ ซึ่งเป็นเวลาพลบค่ำ ท่านก็จะหาโอกาสสั่งสอนพระภิกษุ หรือชาวบ้านไปจนถึง 22.00 – 23.00 น. จึงจะขึ้นกุฏิเพื่อเตรียมตัวจำวัด แต่ก่อนจำวัด ท่านจะต้องเข้าห้องพระ บูชาพระรัตนตรัยแล้วเข้ากลด ซึ่งทำเป็นลักษณะคล้ายกับของภิกษุซึ่งออกธุดงค์ ข้าง ๆ กลดมีรูปกะโหลกศีรษะ และโครงกระดูกคน เข้าใจว่าสำหรับใช้ปลงกัมมัฏฐาน

กิจวัตรของหลวงพ่อเงินที่กล่าวข้างต้น แตกต่างกันมากมายระหว่างฤดูเข้าพรรษากับฤดูออกพรรษา เพราะในตอนเข้าพรรษามีพระบวชใหม่มาก มีชาวบ้านมาวัดมาก ประกอบกับงานนิมนต์ต่างท้องที่นอกวัด ก็ลดน้อยลง หลวงพ่อเงินจึงมีเวลาอยู่วัดมากขึ้น หลวงพ่อเงินได้ใช้เวลาเหล่านี้ ในการฝึกสอนอบรมพระลูกศิษย์วัด ตลอดจนชาวบ้าน โดยเฉพาะอุบาสกอุบาสิกา ที่มารักษาอุโบสถศีลในวันพระ โดยปกติ การลงอุโบสถในวันพระ 8 ค่ำ 15 ค่ำ ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ หลวงพ่อเงินไม่ยอมขาดเลย สำหรับวันพระ 15 ค่ำ หลวงพ่อจะต้องพยายามลงให้ได้ แม้จะเดินทางมาเหน็ดเหนื่อย หลวงพ่อเงินก็ไม่ยอมเสียโอกาส

ผู้ที่อยากจะสนทนากับหลวงพ่อเงินนาน ๆ ก็จะต้องหาทางให้ท่านบรรยายธรรมะ เพราะหลวงพ่อเงินสนใจจะพูดคุยด้วย ยิ่งกว่าการคุยเรื่องอื่น บ่อยครั้งที่ลูกศิษย์ลูกหา ต้องนั่งฟังหลวงพ่อเงินคุยเรื่องธรรมะ ธรรมโม อยู่จนตีหนึ่ง ตีสอง โดยไม่รู้สึกง่วง เพราะหลวงพ่อเงินเข้าใจหาเรื่องมาสอน และถูกรสนิยมผู้ฟังด้วย หลวงพ่อเงินถือคติว่า “พระก็เหมือนเนื้อนา ถ้าไม่ดีก็ไม่มีใครเขาหว่านพืชผลลงไป เพราะรังแต่จะสูญเปล่า ไม่ได้ผลกลับคืน” โดยเหตุนี้ ท่านจึงวางกฎสำหรับให้พระภิกษุสงฆ์ในวัด ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติไว้เคร่งครัด เป็นต้นว่า ถ้าไม่มีกิจจำเป็นจริง ๆ แล้ว พระภิกษุทุกองค์จะต้องทำวัตรเช้าเย็น ไม่ว่าจะเป็นออกพรรษาหรือในพรรษา และพระภิกษุต้องตื่นก่อนรุ่งอรุณ คือวัดจะตีระฆังปลุกราว 5.00 น. เมื่อตื่นแล้วต้องครองผ้า สวดมนต์ในห้องเสียก่อนที่จะเปลี่ยนผ้าครองออกไปบิณฑบาต

พระภิกษุในวัดจะต้องมาฉันเพล ฉันจังหันรวมกัน ณ หอฉัน เมื่อฉันเช้าเสร็จแล้ว จะพักผ่อนหรือท่องหนังสือก็สุดแต่ใจสมัคร เมื่อฉันเพลแล้ว ถ้าเป็นในฤดูในพรรษา จะต้องขึ้นเรียนพระปริยัติธรรมราว 3 ช.ม. เสร็จจากการเรียนก็สรงน้ำแล้ว พักผ่อนเตรียมตัวทำวัตรเย็น หลังจากการทำวัตรเย็น หลวงพ่อเงินใช้วิธีฝึกฝนพระภิกษุ ด้วยการให้ฟังเทศน์ โดยพระทุกองค์ผลัดกันแสดง วันละองค์หมุนเวียนไปตามลำดับอาวุโส ถ้าเป็นวันธรรมสวนะด้วยแล้ว ก็จะมีพระภิกษุอาวุโสแสดงปาฏิโมกข์ หลังจากนั้น หลวงพ่อก็จะอบรมข้อปฏิบัติต่าง ๆ บางครั้งต้องอยู่ในอุโบสถ เพื่อฟังโอวาทของท่านถึง 21.00 – 22.00 น. พระภิกษุต้องนั่งพับเพียบเมื่อยแล้วเมื่อยอีก แต่หลวงพ่อเงิน ไม่เคยแสดงอาการเหน็ดเหนื่อยให้ปรากฏ

ถ้าเป็นวันธรรมดา เมื่อเสร็จจากการทำวัตรแล้ว พระภิกษุสงฆ์ก็จะต้องไปพร้อมกันที่หน้ากุฏิ เพื่อรับฟังโอวาทหรือการอบรมข้อปฏิบัติต่าง ๆ รวมทั้งการปฏิบัติภายในวัด มีบ่อย ๆ ที่หลวงพ่อเงินก็ไม่ย่อท้อ คงรักษาวัตรปฏิบัติตามปกติ แต่เป็นหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์จะทราบ และขอนิมนต์ว่า จะนวดให้ท่านในระหว่างเวลาที่หลวงพ่อเอนให้นวด หลวงพ่อเงินจะหาเรื่องสนทนา เป็นการอบรมบ่มนิสัยไปด้วยในตัว ผู้ที่หาโอกาสปรนนิบัติรับใช้ใกล้ชิดหลวงพ่อเงิน จึงเป็นผู้ที่มักจะได้รับถ่ายทอดธรรมะ และความรู้ต่าง ๆ จากหลวงพ่อมากกว่าผู้อื่น ตามปกติหลวงพ่อเงิน ถือหลักปกครองวัดเสมือนบิดากับบุตร มีทั้งการให้ปันและเอาใจใส่เมื่อเจ็บไข้ แม้ว่าหลวงพ่อเงินจะฉันจังหันเพียงองค์เดียว แต่หลวงพ่อเงินก็แสดงเมตตาจิตเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ด้วยการนำอาหารที่มีผู้มาถวายมาแบ่งปัน เฉลี่ยไปยังพระภิกษุสงฆ์อื่น ๆ ภายในวัดอยู่แทบทุกวัน คราวหนึ่งราว 20 ปีมาแล้ว มีพระภิกษุบวชใหม่ เกิดอาพาธกะทันหันขึ้น ในเวลาค่ำคืน วันนั้นบังเอิญหลวงพ่อเงินรับนิมนต์ไปนอกวัด กว่าจะกลับก็ 4 ทุ่ม ซึ่งเป็นเวลาที่คนอื่น เข้าห้องนอนกันแล้ว เมื่อหลวงพ่อเงิน ทราบว่ามีพระป่วย หลวงพ่อเงินก็กระวีกระวาด สั่งลูกศิษย์จุดตะเกียงขึ้นหลายดวง (ขณะนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้) แล้วหลวงพ่อเงินก็นำเด็ก ออกตระเวนหาต้นยาสมุนไพรด้วยตนเอง ชาวบ้านใกล้เคียงเห็นแสงตะเกียง เคลื่อนไหวไปมามากผิดปกติ ก็ออกมาสอบถาม ได้ความว่า เด็กวัดกำลังเก็บสมุนไพร ช่วยหลวงพ่อเงิน จนได้ยาครบและถวายพระที่อาพาธในคืนนั้นเอง การปฏิบัติของหลวงพ่อเงินตามที่ยกมากล่าวนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลายส่วน ที่ไม่สามารถจะยกมากล่าวได้ หลวงพ่อเงินสนใจในทุกข์สุขของพระภิกษุสงฆ์ในวัด และเอาใจใส่ดูแลช่วยเหลือด้วยความจริงใจ นับได้ว่าท่านมีความเมตตาธรรมประจำใจสูง